ผลสำรวจชี้ ‘คนไทย’ ใช้ AI ทำงานน้อยสุดในอาเซียน เพราะ ‘กลัวถูกแย่งงาน’ และมองว่าคนใช้ AI = ‘ขี้โกง’

ไทยถือเป็นประเทศที่ชั่วโมง ออนไลน์ มากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังมีมุมมองที่ บวก เกี่ยวกับ เอไอ อย่างไรก็ตาม คนไทยแม้จะมองบวกเกี่ยวกับเอไอ แต่ก็เป็นการใช้เพื่อความบันเทิงมากกว่าจะใช้มาทำงาน เพราะยังมีความกลัวว่าเอไอจะมาแย่งงาน

เทเลนอร์ เอเชีย (Telenor Asia) ได้ทำรายงาน Digital Lives Decoded 2024 ของประเทศไทย เพื่อเจาะลึกถึงข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมและทัศนคติด้านดิจิทัลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย โดยพบว่า ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งานชาวไทยนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล โดย คนไทยใช้เวลาออนไลน์เกือบ 5 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ที่ 4 ชั่วโมง 35 นาที โดยเจนเนอเรชั่นที่มีการออนไลน์มากที่สุด ได้แก่

  • Gen Z – 5.42 ชั่วโมง/วัน
  • Millennials – 5.13 ชั่วโมง/วัน
  • Gen X – 4.28 ชั่วโมง/วัน
  • Baby Boomers – 3.49 ชั่วโมง/วัน

มอง เอไอ เป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช้ทำงานนะ

ในส่วนของ เอไอ (Artificial Intelligence : AI) กำลังก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับวิถีชีวิตของคนไทย โดยผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทย เกือบครึ่ง มองว่า อไอเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่พวกเขาตื่นเต้นมากที่สุด ที่น่าสนใจคือ คนรุ่นเก่า (Gen X และ Baby Boomers) แสดงความตื่นเต้นเกี่ยวกับเอไอมากกว่าคน Gen Z และ Millennials

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 77% ใช้เครื่องมือเอไอ อยู่แล้ว แต่ส่วนใช้เพื่อ ความบันเทิง โดยมากกว่าครึ่ง ของผู้ตอบแบบสอบถามใช้เอไอสำหรับโซเชียลมีเดีย และเกือบ 40% มีส่วนร่วมกับเอไอบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง และแม้ว่า 85% จะมองว่าเอไอจะส่งผลดีต่อการศึกษาในประเทศไทยก็ตาม แต่ ไทยยังไม่มีการนำเอไอมาใช้ในการทำงานอย่างที่เป็นรูปธรรมมากนัก

โดยมีคนไทยเพียง 21% ที่ใช้เอไอในการทำงาน เมื่อเทียบกับประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งการทำงานเป็นพื้นที่ที่มีการใช้งานมากที่สุด ทั้งที่ไทยเองก็มีเครื่องมือพร้อมในการทำงาน ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจาก Mindset ที่กลัวว่า เอไอจะมาแทนที่มนุษย์ เนื่องจากเคยมีผลการศึกษาออก ระบุว่า 40% ของชั่วโมงการทำงานจะถูกแทนที่ด้วยเอไอ ทำให้คนไทยรู้สึกว่ากลัวจะตกงาน ทำให้เลือกจะไม่ใช้เอไอ

นอกจากนี้ ยังมีบางส่วนที่มองว่า ไม่รู้จะใช้เอไอทำอะไร อีกทั้งยังมีแนวคิดที่ว่า คนที่ใช้เอไอ ขี้โกง เมื่อเกิดการกลัว ทำให้ ไม่ศึกษา ด้วยเหตุนี้เองทำให้คนไทย ไม่มีสกิล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์กรไม่มีวัฒนธรรมที่จะส่งเสริมการใช้เอไอ

“ในความเป็นจริงคือ เอไอไม่ได้มาแทนที่ แต่คนที่ใช้เอไอเป็นจะมาแทนที่”

แนะ 4 ข้อองค์กรเป็น AI First

สำหรับองค์กรที่ต้องการสร้างคนให้มีสกิลในการใช้งานเอไอ มีข้อแนะนำ ดังนี้

  • องค์กรและผู้นำต่องมีวิสัยทัศน์ และการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อขจัดความกลัวของพนักงาน ต้องย้ำให้เห็นว่า เอไอไม่ได้มาแทนที่ แต่มาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • องค์กรต้องให้การศึกษาในทุกระดับ ว่ามีการใช้งานเครื่องมือไหนบ้าง ใช้งานอย่างไร และเครื่องมือไหนเหมาะที่จะนำมาใช้
  • หาพาร์ทเนอร์มาช่วย องค์กรไม่จำเป็นต้องทำเองทั้งหมด แต่ควรหาพาร์ทเนอร์ภายนอกที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเอไอมาช่วย
  • เอาคนเป็นศูนย์กลาง ต้องระลึกว่า เอไอเข้ามาเพื่อช่วยมนุษย์ให้ทำงานดีขึ้น และต้องใช้เอไออย่างมีจรรยาบรรณด้วย

ให้ความสำคัญกับความสบายมากกว่าความเป็นส่วนตัว

แม้ว่าคนไทยจะมีความกังวลเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 3 ใน 4 คนรู้สึกว่า ตนเองไม่สามารถควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลของตนทางออนไลน์ได้ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (68%) ขณะที่การหลอกลวงทางการเงิน และการขโมยข้อมูลส่วนตัวยังเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยอย่างน้อย 1 ใน 2 ของกลุ่มคนยังกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

แม้จะกลัวและกังวล แต่คนไทยกลับ มั่นใจในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตนทางออนไลน์ และมีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะกังวลเกี่ยวกับวิธีที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของตนเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้ โดยมีมากถึงกว่า 38% เทียบกับเพียง 21% ในประเทศสิงคโปร์ และมีแนวโน้มที่จะอนุญาตให้บริษัทเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของพวกเขาเพื่อ แลกกับข้อเสนอและบริการส่วนบุคคล (6 ใน 10 เทียบกับประเทศมาเลเซีย และ 5 ใน 10 เทียบกับประเทศสิงคโปร์) 

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เน้นย้ำถึงความ ย้อนแย้ง ในด้านของความเป็นส่วนตัวทั่วไป โดยขณะที่ผู้คน แสดงความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว แต่พวกเขายอมเสียความเป็นส่วนตัวบางส่วนเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย

“การจะแก้ปัญหาดังกล่าวต้องใช้ความร่วมมือจากหลาย ๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล รวมถึงภาครัฐ และภาคการศึกษา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัย”