ฉายภาพ ‘งบโฆษณาและสื่อสารการตลาด’ ปี’68 ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ยิ่งทวีความร้อนแรง สวนทางสื่อดั้งเดิมที่ยังโคม่า!

แม้ว่าโดยปกติแล้ว ช่วงต้นปีจะเป็นช่วงที่ไม่ได้คึกคักมาก เพราะเพิ่งผ่านช่วงเฉลิมฉลองการส่งท้ายปีเก่ากันไป แต่ MI Group ก็มองว่าในช่วง ตรุษจีน ที่ผ่านมาถือว่า คึกคัก กว่าที่คิด เพราะมีนโยบายจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น Easy-E Receive และ เงินดิจิทัลเฟส 2 และประเมินทั้งปีก็ถือว่ามีสัญญาณบวกอยู่ไม่น้อย

7 ปัจจัยบวกเศรษฐกิจภาพใหญ่

  1. GenAI : การใช้ AI ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด เพราะจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มทางเลือก เพิ่มไอเดีย ช่วยลดเวลา และต้นทุน แถมยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้ ดังนั้น เชื่อว่าองค์กรจะมีการใช้งานเอไอเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะราคาถูก เข้าถึงง่าย

“ตอนนี้ AI ไปถึงเลเวล 3 แล้ว มันไม่ได้แค่ทำตามคำสั่ง แต่ให้ข้อมูล ให้เหตุผล มาเติมเต็มในประเด็นที่เราอาจจะคิดไม่ได้หรือพลาดไป คำถามคือ องค์กรเราใช้งานเอไอแค่ไหน และใช้คล่องแค่ไหน” ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP กล่าว

  1. การมาของ Data Center และ Cloud Service : ข้อมูลจาก BOI เปิดเผยว่า ไทยมีการเจรจาก่อตั้งศูนย์ Data Center และ Cloud Service กว่า 50 โปรเจกต์ ดังนั้น ประโยชน์ตรงที่จะได้คือ การสร้างงาน เพราะต้องสร้าง เช่าพื้นที่ และใช้แรงงานไทย ซึ่งปัจจัยหลัก ๆ ที่ดึงดูดการลงทุนมาจากทำเลที่ตั้งที่สะดวกต่อการเชื่อมต่อกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอาเซียนที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงความพร้อมของแรงงาน
  2. นักท่องเที่ยวกลับไปเท่าก่อนโควิด : จำนวนนักท่องเที่ยวไทยปีนี้คาดว่าจะทะลุ 40 ล้านคน หรือโตกว่า +13% จากปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับช่วงก่อนการระบาดของ COVID-19 ซึ่งปัจจัยบวกมาจากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) และ MICE เติบโต รวมถึงนักท่องเที่ยว LGBTQ+ ที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นจากนโยบายสมรสเท่าเทียม ทำให้ไทยเป็น Wedding Destination สำหรับคู่รักจากทั่วโลก

“อาจจะมีสะดุดเรื่องจีนเทาบ้าง แต่ไม่มีผลมากนัก เพราะมีปัจจัยบวกมากกว่า ทั้งกระแส T-Pop การเป็น Medical Hub ซึ่งนักท่องเที่ยวจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการพาแบรนด์ขยายไปตลาดต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น ชาตรามือ”

ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP
  1. ไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางสุขภาพระดับโลก : จากมาตรฐานการแพทย์ระดับสากล และค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มค่าดึงดูด Medical Tourists และการลงทุนในอุตสาหกรรมสุขภาพ Wellness & Preventive Healthcare เติบโต สอดรับกับโครงสร้างพลเมืองโลกที่จะมีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มมากขึ้น
  2. Thai Cultural Content ที่ได้รับการยอมรับ : อาทิ T-Pop และวงการบันเทิงไทยเติบโต, วัฒนธรรมสายวาย (BL) และยูริ (GL) เป็นกระแสระดับโลก ส่วนหนึ่งมาจากคุณภาพของตัวศิลปินที่ทั่วโลกยอมรับ นอกจากนี้ อาหารไทยและแฟชั่นไทยบูมมากในตลาดสากล

“กระแส T-Pop ไทยไม่ได้ถูกจุดติดแค่ในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน แต่คาดว่าจะขยายไปถึงแถบลาตินอเมริกา ซึ่งก็จะช่วยให้ศิลปินไทยได้โกอินเตอร์ รวมถึงดึงดูดแฟนคลับจากต่างประเทศเข้าไทย”

  1. ไทยอาจได้รับอานิสงส์จากนโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน : นโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้มงวดกับจีนมากขึ้น การเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าต่อจีนของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทข้ามชาติบางส่วนต้องหาทางเลือกใหม่ในการตั้งฐานการผลิตในไทยและอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV), แบตเตอรี่, ซัพพลายเชน, เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
Photo : Shutterstock
  1. แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเชิงรุกที่ประกาศออกมา : ทั้ง 10 นโยบายเร่งด่วน, 8 นโยบายหลักระยะกลางและระยะยาว

อย่างไรก็ตามปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ และความท้าทายที่ต้องจับตามอง อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยยังอยู่ในสภาวะซบเซาหรือยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร อัตราดอกเบี้ยสูงในสหรัฐฯ และยุโรปอาจส่งผลต่อการค้าและการลงทุนของไทย

การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว หรือยังฟื้นไม่เต็มที่, สินค้าจากจีนทะลักเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในการแข่งขัน และสุดท้าย ความอ่อนแอและเปราะบางของ SMEs ไทยกว่า 5 ล้านราย ที่ขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญในทักษะเพื่อการแข่งขันในโลกยุคใหม่ และข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

งบโฆษณาปีนี้แตะ 92,000 ล้าน โต 4.5%

คาดว่าปีนี้มูลค่าเม็ดเงินโฆษณาและสื่อสารการตลาดจะแตะ 92,000 ล้านบาท เติบโต +4.5% โดยสื่อที่จะครองเม็ดเงินมากที่สุดคือ สื่อดิจิทัล แซงสื่อดั้งเดิมเป็นปีที่ 2 โดยครองสัดส่วน 42.3% มีมูลค่ารวม 38,938 ล้านบาท เติบโต +15% ส่วนเม็ดเงินโฆษณาสื่อดั้งเดิมทั้งทีวีและสิ่งพิมพ์ถดถอยต่อเนื่อง โดยเม็ดเงินสื่อ ทีวี คาดว่าจะแตะ 31,000 ล้านบาท มีสัดส่วนเหลือ 33.5% ส่วนสื่อโฆษณานอกบ้านมีสัดส่วน 16.6%

จำนวนอินฟลูฯ อาจแตะ 3 ล้าน เพราะศก. ไม่ดี

โดยปัจจัยที่ผลักดันให้สื่อดิจิทัลเติบโตมาจาก อินฟลูเอนเซอร์ โดยโดยนักการตลาดและแบรนด์ใช่งบอย่างน้อย 1 ใน 3 ลงกับอินฟลูฯ ซึ่งอินฟลูฯ ก็จะไปลงเงินกับแพลตฟอร์มต่ออีกทอด เช่น ลงโฆษณาใน Facebook, TikTok และ Instagram

สาเหตุที่นักการตลาดไปลงเงินกับอินฟลูฯ มากขึ้นเป็นเพราะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แบรนด์ต้องการสร้างยอดขาย ไม่ใช่การสร้างแบรนด์ จากเม็ดเงินที่ลงกับอินฟลูฯ มากขึ้น ประกอบกับการมาของ Affiliate Marketing 

โดยคาดว่าจำนวนอินฟลูเอนเซอร์ในไทยปีนี้จะเพิ่มขึ้น 1 ล้านราย รวมทั้งหมดเฉียด 3 ล้านราย หรือประมาณ 4.5% ของจำนวนประชากรไทย โดยการเติบโตหลักมาจาก Micro และ Nano ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ดี คนหารายได้เสริม ซึ่งการทำ Affiliate Marketing เช่นปักตะกร้า ไม่ได้มีต้นทุน ทำเวลาไหนก็ได้

“ไทยล้ำไปกว่าหลายประเทศ อย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็ไม่ได้ใช้อินฟลูฯ มากเท่านี้ โดยกลุ่มที่มีจำนวนอินฟลูฯ มากที่สุดคือ กลุ่มไลฟ์ เช่น อาหาร บิวตี้ และท่องเที่ยว ตามด้วยแกดเจ็ต”

แม้ว่าปีนี้จะไม่เห็นสัญญาณการ ขึ้นราคา จากทุกสื่อ แต่ สื่อดั้งเดิม โดยเฉพาะ ทีวี มีโอกาสที่จะจัด โปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม มากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่า Eyes ball ได้ย้ายไปอยู่กับสื่ออื่น ไม่ว่าจะเป็นโซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง 

“ทีวียังคงเหนื่อย เพราะเขาต้องแข่งกับพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป ดังนั้น แต่ละช่องต้องกุมจุดแข็งของตัวเองไว้ ต้องรักษาฐานที่มั่นตัวเอง เช่น เก่งละคร เก่งข่าว และเมื่อก่อนมีโฮมช้อปปิ้งมาช่วย แต่ตอนนี้พอมีเยอะมากเกินไปก็จะยิ่งเร่งให้คนไม่ดู ต้องหาจุดสมดุล ส่วนคอนเทนต์ที่ต้องลงทุนสูงก็จะมีน้อยลง ทำให้เห็นคอนเทนต์รีรันมากขึ้น”  

แม้ว่าสื่อทีวียังคงมีบทบาท แต่ปัญหาคือ จำนวนช่องที่มากเกินไป ปัจจุบันมีเพียง 6 ช่อง ที่อยู่ได้จากจำนวนทั้งหมด 15 ช่อง ดังนั้น ในปี 2572 ที่จะเปิดโอกาสให้คืนใบอนุญาต ดังนั้น จะเห็นการคืนช่องแน่นอน 

“ตอนนี้อย่างมากคือ ยื้อกันไป ถ้ามีกฎหมายพิเศษก็เชื่อว่ามีคนไปและคนที่อยู่ต่อ เพราะเม็ดเงินยังมีหมื่นล้าน แม้จะลดลงไปครึ่งหนึ่ง แต่ตอนนี้คนแย่งเค้กเยอะเกินไป ที่ดูมีอนาคตจริง ๆ มีแค่ 6 ช่อง”

สินค้าและบริการที่จะใช้งบเพิ่มขึ้น-ลดลงปีนี้

สำหรับสินค้าที่จะใช้งบสื่อสารการตลาด เพิ่มขึ้น ได้แก่

  1. สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับเกี่ยวกับการท่องเที่ยว และการพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ โรงแรม สายการบิน แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันท่องเที่ยว
  2. ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และโบรกเกอร์ประกัน
  3. วิตามิน อาหารเสริม และยา
  4. โฆษณาจากภาครัฐ
  5. การขนส่ง เช่น บริการส่งอาหาร ส่งพัสดุ 
  6. อาหารและสินค้าเพื่อสัตว์เลี้ยง
  7. สถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร

กลุ่มสินค้าและบริการที่คาดว่าจะใช้งบสื่อสารการตลาด ลดลง ได้แก่

  1. E-Marketplace เช่น Shopee, Lazada
  2. เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น น้ำอัดลม กาแฟ
  3. ร้านอาหาร
  4. ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน
  5. ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษตร

“บรรดาอีคอมเมิร์ซจะหันเอางบไปใช้กับโปรโมชั่นส่วนลดมากขึ้น ส่วนสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวันก็ต้องรัดเข็มขัด จากต้นทุนสูงขึ้น เน้นทำโปรโมชั่นสร้างยอดขาย”