กำลังเป็นกระแสอย่างมากสำหรับเรื่องราวการฟ้องร้องระหว่าง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กับ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 แม้ว่าศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษา และกำลังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ ทำให้ยังไม่สามารถเห็นบทสรุปของคดี แต่ทาง Positioning จะมาสรุปเรื่องราวถึงต้นเหตุการฟ้องร้องว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร
ย้อนไปในปี 2566 มีผู้บริโภคร้องเรียนไปยัง กสทช. ว่า แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (TrueID) มีการ แทรกโฆษณาในช่องรายการทีวีดิจิทัล ซึ่งขัดต่อหลักเกณฑ์ มัสต์แครี่ (Must Carry) ที่กำหนดให้ต้องเผยแพร่สัญญาณโทรทัศน์โดย ห้ามไม่ให้มีเนื้อหาแทรก ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้อนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์จึงแจ้งให้กสทช. ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล 127 ราย ให้ตรวจสอบการนำช่องรายการไปออกอากาศผ่านโครงข่ายต่าง ๆ
เนื่องจาก TrueID ถือเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งวิดีโอแบบ OTT (Over the top) ทำให้หนังสือดังกล่าวไม่ได้แจ้งไปยัง บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทมองว่า การออกหนังสือเตือนดังกล่าวเป็นการ สร้างความเสียหายแก่บริษัท เพราะอาจทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่า เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และอาจทำให้ไม่มีทีวีดิจิทัลไปออกอากาศ ด้วยเหตุนี้ ทางบริษัทจึงมองว่า การกระทำของ ศ.ดร.พิรงรอง แสดงถึงความ มีอคติ และ ไม่เป็นกลาง ในการปฏิบัติหน้าที่
นำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 รวมถึงยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลฯ ให้ ศ.ดร.พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.พิรงรอง เองก็ยืนยันว่า ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะทาง กสทช. ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน และการออกหนังสือเตือนของ กสทช. เป็นการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค
ล่าสุด (6 ก.พ. 2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาให้ จำคุก ศ.ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา โดยศาลฯ ได้เผยแพร่ รายละเอียดคำพิพากษา ดังนี้
- ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2566 อนุกรรมการประชุมเพื่อพิจารณาเรื่อง TrueID แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะเห็นว่ามีผู้ให้บริการ OTT รายอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตจำนวนมาก การพิจารณา True ID เพียงรายเดียวอาจส่งผลเสียต่อการพิจารณาในอนาคต
- มีข้อมูลว่า TrueID เป็นบริการ OTT ซึ่งกฎหมายกำกับดูแลยังไม่ชัดเจน สอดคล้องกับคำชี้แจงของสำนักงาน กสทช. ว่ายังไม่มีนิยามของ OTT ที่ชัดเจน
- 28 กุมภาพันธ์ 2566 เจ้าหน้าที่ทำบันทึกและร่างหนังสือตามคำสั่งจำเลย โดยระบุชื่อ True ID อย่างเจาะจง เพื่อส่งไปยังผู้ได้รับอนุญาต 127 ราย แม้ว่าการประชุมวันที่ 16 ก.พ. จะยังไม่มีมติเรื่องนี้ ซึ่งได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า ศ.ดร.พิรงรองเป็นผู้สั่งการและเร่งรัดให้จัดทำ
- 2 มีนาคม 2566 จำเลยต่อว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหนังสือโดยไม่ระบุชื่อ TrueID และในรายงานการประชุม ของคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ครั้งที่ 3/2566 ไม่ได้มีมติให้สำนักงาน กสทช.จะต้องมีหนังสือแจ้งไปยังผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์โดยระบุเจาะจงถึงบริการ True ID ของโจทก์
- แต่ตามบันทึกรายงานการประชุมกลับมีการระบุว่า ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2566 และเห็นควรมีหนังสือแจ้งผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงการประชุมคณะอนุกรรมการ ครั้งที่ 4/2566 ไม่ได้มีมติดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นการทำเอกสารรายงานการประชุมอันเป็นเท็จ
- และก่อนจบการประชุมได้พูดว่า “ต้องเตรียมตัวจะล้มยักษ์” โดยจำเลยยอมรับว่า “ยักษ์” หมายถึงโจทก์ ซึ่งเป็นการแสดงเจตนาให้กิจการของโจทก์เสียหาย
- นอกจากนี้ หลังจากมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการ 127 ราย หลายรายได้ชะลอหรือขยายเวลาทำสัญญากับโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ศาลฯ จึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวมีเจตนาเพื่อกลั่นแกล้งให้บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้รับความเสียหาย ทำให้ศาลตัดสินจำคุก ศ.ดร.พิรงรอง เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
อย่างไรก็ตาม ทาง ศ.ดร.พิรงรอง ได้ ยื่นขอประกันตัวเพื่อต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ และได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมาโดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ ดังนั้น คดีนี้จึงยังอยู่ในระหว่างการอุทธรณ์
จากคดีการฟ้องร้องที่เกิดขึ้น รวมถึงการตัดสินของศาลที่พิพากษาจำคุก ศ.ดร.พิรงรอง ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชาวโซเชียลเป็นจำนวนมาก โดยความเห็นส่วนใหญ่เป็นการ ให้กำลังใจและสนับสนุน ศ.ดร.พิรงรอง และวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กสทช. ที่ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ รวมไปถึงมองว่าการฟ้องร้องครั้งนี้อาจเป็นการใช้อำนาจของบริษัทใหญ่เพื่อปิดกั้นการตรวจสอบหรือไม่ จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #saveพิรงรอง #freeกสทช และแฮชแท็ก #แบนทรู
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามถึงกฎมัสต์แครี่ที่ถูกบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2555 ทำให้ยังมี ช่องโหว่ ในเรื่องของ OTT รวมถึงกฎบางข้อที่เริ่มไม่สอดคล้องกับโลกในปัจจุบัน
สำหรับ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ถือเป็นบุคคลสำหรับในวงการสื่อสารและการกำกับดูแลสื่อในไทย โดยเริ่มจากการเป็นอาจารย์ประจําภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2535 และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีด้านการสื่อสารบริการสังคมและพันธกิจสากล ตำแหน่งบริหารจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559-2563 และมีส่วนสำคัญในการกำหนดนโยบายสื่อในระดับประเทศและนานาชาติ และการผลักดันนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ศ.ดร.พิรงรอง ยังเคยเป็น เสียงส่วนน้อยในการคัดค้านการควบรวมกิจการของ ทรู-ดีแทค โดยมองว่าการควบรวมกิจการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในแง่การลด หรือจำกัดการแข่งขัน และการคุ้มครองผู้บริโภค
ทั้งนี้ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีตอดีตกรรมการ กสทช. ให้ความเห็นกับ Thai PBS ในรายการ FlashTalk อย่างน่าสนใจว่า โดยปกติบริษัทเอกชนจะไม่สามารถดำเนินคดีทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่รัฐได้โดยตรง ต้องฟ้องผ่านหน่วยงานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนก็มีสิทธิ์ทางกฎหมายในการดำเนินคดีทางอาญาได้
ซึ่งช่องโหว่ดังกล่าวอาจทำให้ต้องแลกด้วยผลประโยชน์สาธารณะ เพราะอาจทำเจ้าหน้าที่รัฐเองไม่อยากจะทำอะไรที่มีโอกาสจะทำให้ตกเป็นจำเลย ดังนั้น มองว่าวิธีการแก้คือ ตีแผ่คดีให้สังคมตัดสินก่อน ว่าเป็นการ ฟ้องปิดปาก หรือฟ้องข่มขู่เจ้าหน้าที่รัฐ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบจริง เพื่อให้สังคมช่วยกันตรวจสอบ หรือควรมีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลก่อนรับฟ้อง เพราะแม้จะมีการยื่นอุทธรณ์ได้ แต่อาจทำให้เจ้าหน้าที่หมดกำลังใจในการทำงาน