กรุงเทพฯ – วันนี้กลุ่มบริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ได้แถลงผลประกอบการ 9 เดือนแรก สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2546 ว่ากลุ่มบริษัท ยูบีซี มีกำไรสุทธิ 157.8 ล้านบาท ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งมียอดขาดทุน 54.2 ล้านบาทเป็นจำนวนถึง 212 ล้านบาท หรือคิดเป็น 390.9% ส่วนยอดสมาชิก ณ วันที่ 30 กันยายน 2546 มีจำนวนทั้งสิ้น 425,755 ราย เพิ่มขึ้นจากยอดสมาชิก ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2546 จำนวน 5,112 ราย ผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากรายได้เฉลี่ยต่อสมาชิกเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการปรับค่าบริการ ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ตลอดจนค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยจ่ายตามสัญญาเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมลดลง
มร.วาสิลี สกูร์ตอล ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน กลุ่มบริษัทยูบีซ๊ เปิดเผยว่า ผู้บริการหารรู้สึกพอใจกับผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรอย่างต่อเนื่องในปี 2546 รวมทั้งรู้สึกพอใจต่อการเติบโตของยอดสมาชิกในไตรมาส 3 ทั้งนี้ยอดขายสมาชิกใหม่ในไตรมาสสามของปี 2546 นับเป็นยอดที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับยอดขายสมาชิกใหม่ไตรมาสเดียวกันในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน อัตราการบอกเลิกของสมาชิกก็ลดลงจาก 2.4% ต่อเดือนในไตรมาสสอง เหลือเพียง 1.3%ต่อเดือนในไตรมาสนี้ ซึ่งการเติบโตของยอดสมาชิกดังกล่าวได้ส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้น
นายสมพันธ์ จารุมิลินท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ยูบีซี กล่าวย้ำถึงความจำเป็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องของภาครัฐให้มีความทันสมัยและเหมาะสมโดยคำนึงถึงสภาพความเป็นจริงทางธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ และการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้ธุรกิจนี้เติบโตต่อไปในอนาคตว่า “หากทางภาครัฐไม่มีการแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยและเหมาะสมโดยคำนึงสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ และการลงทุนเพื่อให้เกิดบริการนี้ในประเทศไทย ตลอดจนดำเนินการให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกันสำหรับผู้ประกอบการทุกราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ และกฎกระทรวงที่ห้ามไม่ให้มีการเผยแพร่โฆษณาทางโทรทัศน์ที่แพร่ภาพทางสายเคเบิลแล้ว การพัฒนาธุรกิจโทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกในประเทศไทยจะเป็นไปได้ยากมา อีกทั้งปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย โดยผู้ผระกอบการท้องถิ่นจำนวนกว่า 420 รายได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการที่ดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายต้องเสียหายจากการกระทำของผู้ประกอบการที่ละเมิดลิขสิทธิ์ และภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าใบอนุญาต และภาษีอากรอื่นๆ”