แม้จะอยู่ในตลาดมานาน ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน ผู้บริโภคก็เกิดการเปลี่ยนกลุ่มเช่นกัน ที่ผ่านมาเราจึงเห็นแบรนด์เก่าแก่หลายต่อหลายแบรนด์ ‘ขยับ’ และ ‘ปรับตัว’ ให้ทันการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเข้าไปยึดพื้นที่ในใจของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นฐานลูกค้าสำคัญที่จะเติบโตไปด้วยกันในอนาคต
รวมถึง SHARP ภายใต้การดูแลของ ‘บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด’ ที่อยู่ในตลาดเมืองไทยมานานกว่า 52 ปี และห่างหายจากการทำตลาดมากว่าสิบปีที่ได้กลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง ด้วยการพยายามขยายฐานลูกค้าสู่ ‘คนรุ่นใหม่’ ให้มากขึ้น โดยโจทย์ไม่เพียงทำเพื่อฝ่ากระแสความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่ฉุดกำลังซื้อของผู้บริโภคเท่านั้น ทว่าเป็นการเดินเกมสร้างการเติบโตในระยะยาว
“เราอยู่ในตลาดประเทศไทยมานาน ถือเป็นการพิสูจน์ความไว้วางใจของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ได้เป็นอย่างดี แต่ตอนนี้สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ดีนัก ทำให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กไม่เติบโต บวกกับการแข่งขันดุเดือด เป็นความท้าทายของแบรนด์ต่าง ๆ” วิโรจน์ ทานัชฌาสัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด กล่าว
การฝ่ากระแสความท้าทายดังกล่าว SHARP ยังใช้ ‘คุณภาพ’ ตามมาตรฐานญี่ปุ่นเป็นจุดยืนสำคัญ และช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้แถมเติมในเรื่อง ‘ดีไซน์’ ที่ต้องทั้งมีความสวยงามและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ อายุ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่ SHARP ต้องการขยายและเข้าถึงให้มากขึ้น จากเดิมลูกค้าหลักจะอยู่ในกลุ่มคนอายุ 35 ปีขึ้นไป
“ยุคสมัยเปลี่ยน กลุ่มผู้บริโภคก็เปลี่ยน ดังนั้น เราจึงต้องขยายฐานลูกค้าสู่คนรุ่นใหม่ โดยพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ไม่ได้มองเรื่องการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่มองเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นเหมือนเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งภายในบ้าน ทำให้ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องดีไซน์ สร้าง Emotional ให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย และพยายามออกสินค้าใหม่ให้ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้”
ยกตัวอย่างเช่น หม้อหุงข้าว SHARP CUBE ที่ได้มีการปรับดีไซน์และเพิ่มสีสัน เป็นทางเลือกมากกว่าเดิมสำหรับลูกค้า หรือ ‘สินค้ากลุ่มพัดลม’ ที่ได้เปิดตัวขนาด 16 นิ้ว และได้มีการสื่อสารจุดขายผ่านการใช้งานจริงของผู้บริโภค นั่นคือ พัดลมที่เปิดปิดด้วยเท้าได้ จนกลายเป็นกระแสไวรัลในโลกโซเชียล
ส่วนการจะรีแบรนด์ SHARP วิโรจน์บอกว่า ยังไม่มีแผน โดยนอกจากปรับดีไซน์ และออกสินค้าใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้นแล้ว ยังวางแผนทำการตลาดอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายทั้ง Traditional Trade, Modern Trade และดีลเลอร์
ปัจจุบันตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก (Small Appliance) เช่น หม้อหุงข้าว ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำอุ่น และพัดลม ฯลฯ ในไทยมีมูลค่าตลาดประมาณ 18,000 ล้านบาท เติบโต 3% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่ทรงตัวเท่ากับปีก่อน
ขณะที่สภาพการแข่งขันของตลาดนี้ถือว่า ‘ดุเดือด’ ส่วนการไหลเข้ามาของสินค้าจีนในประเทศไทย ในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกิดขึ้นมานานนับสิบปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจอยู่ โดยเฉพาะการ ‘ดัมพ์ราคา’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองต่อไป โดย SHARP ยังเน้นจุดยืนเรื่อง Quality หรือคุณภาพตามมาตรฐานของญี่ปุ่นเป็นจุดแข่งขัน