“กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก” เทรด 19 พ.ย. นี้ โชว์จุดแข็งปันผลเหนือหุ้นอสังหาฯ 2 เท่า

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก เตรียมตัวเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ 19 พ.ย. นี้ เผยจุดแข็งปันผลปีละ 4 ครั้ง ขั้นต่ำ 90% ของกำไรสุทธิ และสูงกว่าอัตราเงินปันผลโดยเฉลี่ยของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 2 เท่า พรร้อมการคุ้มครองนักลงทุนอย่างใกล้ชิดจาก ก.ล.ต. “สงกรานต์ อิสสระ” ชี้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จะกระตุ้นความน่าสนใจลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติประเภทสถาบัน

นายสงกรานต์ อิสสระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก ได้รับการอนุมัติจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้เข้าจดทะเบียนและเปิดทำการซื้อขายได้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2546 นี้ โดยมีชื่อย่อว่า “BKKCP” ในหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอกมีมูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ต่อหน่วยเท่ากับ 10 บาท ซึ่งได้ลงทุนเต็มจำนวนแล้วในห้องชุดสำนักงานและห้องชุดพาณิชยกรรมของอาคารชาญอิสสระ และอาคารชาญอิสสระททาวเวอร์ 2

จุดเด่นของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก คือ มีนโยบายจ่ายเงินปันผลปีละ 4 ครั้ง และจ่ายขั้นต่ำ 90% ของกำไรสุทธิ แตกต่างจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั่วไปที่มีนโยบายปันผลไม่เกิน 40% เนื่องจากยังมีภาระต้องนำกำไรส่วนหนึ่งไปใช้ในการขยายการลงทุน

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนเงินปันผลของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในปีที่ผ่านมาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2% ในขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก เชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผล 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยดังกล่าวนั้น

“ทรัพย์สินหรือโครงการที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอก เข้าไปลงทุนได้ผ่านช่วงการพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงของความเสี่ยงมาแล้ว มีรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องแน่นอน ผู้ที่เข้ามาลงทุนจึงเข้ามาเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้ทันที และแทบจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย”

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอกนับว่าเป็นกองทุนที่ประสบความสำเร็จและได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เปิดจองเมื่อวันที่ 10 – 20 ตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งมีนักลงทุนรายย่อยเข้าถือหน่วยลงทุนจำนวน 923 ราย คิดเป็นสัดส่วน 42%

ในขณะที่ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมถือหน่วยลงทุน 33% โดยมีระยะเวลาห้ามขายหุ้นในส่วนของ ชาญอิสสระ จำนวน 25% เป็นเวลา 1 ปี นอกจากนั้นเป็นนักลงทุนสถาบันอีก 25% จำนวน 19 ราย

“อย่างไรก็ตามเราไม่มีนโยบายจะขายหน่วยลงทุนออกไป เนื่องจากได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และเงินปันผล” นายสงกรานต์ กล่าว

นอกจากนี้นักลงทุนยังได้รับความคุ้มครองอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดทั้งในส่วนของประเมินทรัพย์สิน และการตรวจสอบผลตอบแทนของโครงการอย่างละเอียด

นายสงกรานต์ ยังให้ความเห็นถึงการที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมหลายแห่งเริ่มยื่นขออนุมัติเพื่อจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จาก ก.ล.ต.ว่า จะช่วยสร้างความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติประเภทสถาบันเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนเหล่านี้มีความคุ้นเคยและเข้าใจกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์

“ในต่างประเทศขนาดของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แต่ละกองใหญ่กว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเสียอีก” นายสงกรานต์กล่าว