โฮมโปร เบอร์ 1 ค้าปลีกตกแต่งบ้าน ที่ทำเงินได้วันละ 200 ล้านบาท ตั้งเป้า ปี 72 รายได้แตะ 1 แสนล้านบาท
โฮมโปร มีธุรกิจหลัก 3 ยูนิต ได้แก่ โฮมโปร เมกาโฮม และมาร์เก็ตวิลเลจ โดยปี 2567 ทำรายได้รวม 72,576 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 6,503 ล้านบาท “เท่ากับว่าโฮมโปร ทำเงินเฉลี่ยวันละ 200 ล้านบาท”
รักพงศ์ อรุณวัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มนักลงทุนสัมพันธ์ กลยุทธ์และความยั่งยืนองค์กร บมจ. โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ปี 2568 โฮมโปร สวนกระแสเศรษฐกิจ ประกาศลงทุนใหญ่ 6,000-8,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ขยายสาขาใหม่เพิ่ม 12 แห่ง และรีโนเวตสาขาเดิม ใช้งบราว 5,000 ล้านบาท
- โฮมโปร 7 สาขา (เปิดตัว 1 สาขาไตรมาส 2/68 และอีก 6 สาขาช่วงครึ่งหลังปี 68)
- เมกาโฮม 5 สาขา (ครึ่งหลังปี 68)
ปีนี้โฮมโปรจะเน้นโมเดลไฮบริด 2 แบรนด์ในพื้นที่เดียวกัน อาทิ โฮมโปรบางแห่งอาจไปเปิดในพื้นที่เมกาโฮมเพิ่ม เป็นต้น
เพื่อลดต้นทุนลง จากเดิมเปิดโมเดลเดี่ยวแยก 2 แบรนด์ต้องใช้เงินลงทุนสูง เช่น โฮมโปร 400 ล้านบาท/แห่ง และเมกาโฮมอีก 400 ล้านบาท/แห่ง หากเปิดโมเดลไฮบริด 2 แบรนด์พร้อมกัน จะใช้เงินลงทุนเพียง 500-600 ล้านบาท
ขณะเดียวกันโมเดลไฮบริดยังทำอัตรากำไรขั้นต้นสูง 27-28% เมื่อเทียบกับเมกาโฮมที่ทำได้ 25% และโฮมโปร 30% แต่ความพิเศษ คือ สามารถดึงดูดได้ทั้งกลุ่มผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มช่าง ต่างจากโมเดลเดี่ยวที่ทาร์เก็ตลูกค้าได้แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
2.เปิดคลังสินค้าหุ่นยนต์ ใช้งบราว 2,000 ล้านบาท
โดยเปิดคลังสินค้าหุ่นยนต์ เพื่อสามารถทำงานได้ 24 ชม. และลดความผิดพลาดได้มากกว่าการใช้แรงงาน ซึ่งจะใช้พนักงานน้อยลง 30%
สำหรับคลังสินค้าหุ่นยนต์นี้มี ขนาดพื้นที่ 40,000-60,000 ตร.ม. มีความจุพาเลทได้ 70,000-80,000 พาเลท มากกว่าคลังสินค้าทั่วไปที่จุได้ 20,000 พาเลท สามารถรองรับการเติบโตของโฮมโปรได้อีก 5 ปี
ทั้งนี้ คลังสินค้าหุ่นยนต์นี้ เป็นอาคารที่ 7 ของบริษัทฯ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่วังน้อยอยุธยา คาดแล้วเสร็จภายในปลายปี 2568 ส่งผลให้บริษัทฯ จะมีคลังสินค้ารวม 180,000 ตร.ม. บนพื้นที่ 250 ไร่

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ต่อเนื่องถึงปี 2568 โฮมโปร มองว่า ตลาดค้าปลีกของตกแต่งบ้านและวัสดุก่อสร้าง ยังเผชิญความท้าทายหลายด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่กดดันกำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลง ”และคาดว่าน่าจะฟื้นตัวหลังครึ่งหลังปี 2569 เป็นต้นไป“
แต่การลงทุนใหญ่ ถือเป็นโอกาสเหมาะ เพื่อรอการฟื้นตัวในปีต่อไป แล้วสามารถพร้อมเติบโตได้ก่อนคนอื่น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้ต้นทุนหลายอย่างไม่สูง ราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น
“จากการขยายตัวของสาขาทำให้บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2568 เติบโต 4-5% จากปีก่อนทำไว้ 7.2 หมื่นล้านบาท และภายในปี 2571-2572 โฮมโปรวางเป้าทำรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาท”
ทว่าสิ่งที่น่าห่วง คือ เรื่องกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ กทม. ที่เป็นกำลังซื้อระดับปานกลาง-สูง ที่ได้รัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย
สะท้อนจาก ยอดซื้อต่อบิลของโฮมโปร ช่วงหลังโควิดเป็นต้นมา ขยายตัวทุกปี ลูกค้าซื้อของเฉลี่ย 3,000 บาท/บิล แต่ปี 2567 ที่ผ่านมายอดซื้อต่อบิลลดลง 4-5%
”เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี คนจะซื้อของราคาถูกลง แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือเป็นโอกาสให้กับ Private Brand ของโฮมโปร ที่มีราคาย่อมเยาลงมา โดย 3 หมวดสินค้าที่ขายดีสุด คือ เซรามิก สุขภัณฑ์ และของตกแต่ง อาทิ หมอน ผ้าม่าน โดยในอนาคตเรามีแผนขยายสินค้าตนเองเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีอยู่ 30-40 แบรนด์“