กางแผนปี 68 ‘บ้านปู’ โฟกัส 4 แนวทาง ขับเคลื่อนการเติบโต

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศแผนปี 2568 ภายใต้กลยุทธ์ Energy Symphonics in Action ด้วย 4 แนวทางหลัก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต

 

‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการปี 2567 บ้านปูมีรายได้รวม 5,148 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 181,549 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 46,970 ล้านบาท) กำไรจากการดำเนินงาน 83.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,964 ล้านบาท)

 

และผลขาดทุนสุทธิ 23.67 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 682.42 ล้านบาท) เป็นผลกระทบจากการด้อยค่าเงินลงทุนจากการขายสัดส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้านาโกโซ ในประเทศญี่ปุ่น และการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับเงินบาท

 

สำหรับแผนในปี 2568 บ้านปูจะเน้นขับเคลื่อนกลยุทธ์ Energy Symphonics ผ่าน 4 แนวทางในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย

1.การดำเนินงานและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ช่วยเพิ่มกระแสเงินสดและมูลค่าของธุรกิจ เช่น การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI และการลดต้นทุนในธุรกิจเหมือง

2.การบริหารโครงสร้างเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรักษาระดับหนี้และทุนให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเติบโตและผลประกอบการที่ดี

3.การบริหารพอร์ตโฟลิโอเชิงกลยุทธ์ โดยเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่จะมาสร้างคุณค่าให้บริษัทฯ ในระยะยาว เช่น การสร้างการเติบโตของธุรกิจที่ครอบคลุมห่วงโซ่คุณค่าของก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ

4.การบริหารจัดสรรเงินทุนอย่างมีวินัย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทฯ และผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้น

 

ขณะเดียวกันแต่ละธุรกิจเรือธงของบริษัทฯ ที่ประกอบด้วย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ, ธุรกิจเหมือง, ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน ยังให้ความสำคัญต่อการดำเนินตามแผน โดย ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ จะสร้างการเติบโตเชิงกลยุทธ์ทั้งธุรกิจต้นน้ำและกลางน้ำ โดยจัดสรรเงินลงทุนอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ราคาก๊าซ

ธุรกิจเหมือง จะมีการนำ AI และเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดคาร์บอนผ่านการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการอัจฉริยะ, ธุรกิจไฟฟ้า ตั้งเป้าลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมอีก 1,500 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะในประเทศยุทธศาสตร์

 

ส่วนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีพลังงาน จะเน้นลงทุนเชิงกลยุทธ์ที่จะเสริมการทำงานระหว่างระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (BESS) และซอฟต์แวร์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนมีความต่อเนื่องยิ่งขึ้น