เปิดแผน ‘ทรู’ ปี 2024 พร้อมตอบคำถามการทำ ‘Virtual Bank’ และความพร้อมประมูลคลื่นใหม่ในอนาคต

ครบ 1 ปีเรียบร้อยสำหรับ ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการควบรวมระหว่าง ทรูและดีแทค โดยสามารถดึงลูกค้ามาเพิ่มได้ถึง 5 แสนราย รวมเป็น 51.9 ล้านราย และมีรายได้รวม 202,765 ล้านบาท แม้จะขาดทุน 15,689 ล้านบาท แต่ EBITDA ก็เติบโตได้ติดต่อกัน 4 ไตรมาส และปีนี้ทรูตั้งเป้าเติบโตที่ 3-4% โดยมีกลยุทธ์หลักคือ ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า

มั่นใจปีนี้สัญญาณและบริการจะยิ่งดีขึ้น

ปีที่ผ่านมา ทรูได้พัฒนาเครือข่ายให้ทันสมัย (Network Modernization) แล้วมากกว่า 2,400 เสาทั่วประเทศ สำหรับปีนี้ ทรูจะทำเพิ่มอีกประมาณ 8,000 เสาทั่วประเทศเพื่อให้ครบ 10,000 เสา โดยวางงบลงทุนไว้ 3 หมื่นล้านบาท อีกทั้งเชื่อว่าหากการควบรวมระบบสัญญาณเสร็จสมบูรณ์จะยิ่งทำให้คุณภาพสัญญาณดีขึ้น จากเดิมเป็นการเปิดโรมมิ่งเพราะการควบรวมยังไม่เสร็จสมบูรณ์

“พอการควบรวมแล้วลูกค้าทรู-ดีแทคจะสามารถใช้สัญญาณได้ครบจากทุกเสา เมื่อทุกเสาจะใช้คลื่นได้หมด คุณภาพก็จะดีหมดทั้ง ไม่ว่าจะเป็นความครอบคลุมและความเร็ว” มนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าว

ในส่วนของการขยายโครงข่าย 4G, 5G ก็ยังคงทำอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของ 5G ทรูตั้งเป้าจะขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน 99% ภายในปี 2573 ปัจจุบัน ทรูมีลูกค้า 5G รวมทั้งหมด 10.5 ล้านราย ส่วนลูกค้าบรอดแบนด์ทรูออนไลน์  3.8 ล้านราย

“ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้งาน 5G ประมาณ 20% ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้มีสัดส่วนการใช้งานสูงถึง 45% ส่วนญี่ปุ่น 26% ดังนั้น ไทยยังมีโอกาสเติบโต”

นอกจากนี้ ทรูมีแผนที่จะรวมทั้งหมดที่มี 9 แอป ให้เหลือ แอปเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าทั่วไปและพาร์ตเนอร์องค์กร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 3

นำเอไอมาใช้ทั้งกับลูกค้าและลูกจ้าง

นอกจากนี้ ทรูจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทั้งเรื่องการขยายเครือข่ายและเพิ่มสัญญาณแบบเจาะลึกเฉพาะพื้นที่ทั่วประเทศ และการให้บริการลูกค้าแบบ Personalize เพื่อออกแบบบริการและนำเสนอสิทธิประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจงตรงไลฟ์สไตล์ลูกค้าแต่ละบุคคลได้มากขึ้น รวมถึงปรับปรุง มะลิ สู่ Gen2 ที่จะทำให้ฉลาดขึ้น มีความใกล้เคียงมนุษย์ ช่วยแก้ปัญหาทั้งของลูกค้าและพนักงานคอลเซ็นเตอร์ได้แบบเรียลไทม์

ในส่วนของพนักงานภายในองค์กร ทรูมีการรีสกิลและอัปสกิลพนักงาน โดยที่ผ่านมามีการพัฒนาพนักงานไปแล้วกว่า 2,400 คน และปีนี้จะเพิ่มเป็น 5,000 คน

“การใช้เอไอเพื่อเพิ่มคุณภาพการทำงานถือเป็นประเด็นสำคัญของโลกในตอนนี้ ดังนั้น เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงในองค์กร โดยความรู้และทักษะเก่าไม่พอ ต้องอัปสกิล รีสกิลเพื่อใช้งานหรือสร้างเอไอ”

ยืนยันไม่เคยลดคุณภาพ แต่ผู้บริโภคใช้เยอะไม่รู้ตัว

มนัสส์ ยังยืนยันว่า ทรูไม่มีการลดคุณภาพสัญญาณ แต่มองว่าพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการคอนซูมคอนเทนต์วิดีโอซึ่งใช้แบนด์วิดท์สูง ทำให้ผู้บริโภคใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้นไม่รู้ตัว ซึ่งทรูพบว่าการใช้งานดาต้าเพิ่มขึ้น 20% และระยะเวลาในการใช้งานดิจิทัลเซอร์วิสเพิ่มขึ้นจากวันละ 4.40 ชั่วโมง เป็น 5.38 ชั่วโมงต่อวัน

“คอมเพลนมีตลอด เราพยายามจะตอบสนองให้ดีที่สุด เพราะไม่มีเน็ตเวิร์กไหนไม่ถูกคอมเพลน ซึ่งการคอมเพลนของเราลดลง ความพอใจลูกค้าดีขึ้น และปีนี้จะทำให้ดีขึ้นอีก ลูกค้าจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน” มนัสส์ ย้ำ

ขอกสทช. มีความชัดเจนเรื่องจัดสรรคลื่น และจะทำ Virtual Bank ต้องมีพาร์ตเนอร์

จากกรณีที่คลื่นความถี่ 850 MHz, 2100 MHz, 2300 MHz ของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งจะหมดอายุในเดือน ก.ย.2568 ทางกสทช. ก็เตรียมนำคลื่นความถี่ดังกล่าวรวมถึงคลื่น 3500 MHz มาเปิดประมูล ซึ่งทาง มนัสส์ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าทางทรูจะเคลื่อนไหวอย่างไร เนื่องจากอยากเห็น ความชัดเจนของกสทช. ว่าจะกำหนดกติกา, กำหนดเวลา รวมถึงราคาว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้วางแผนในการลงทุนได้

“ทรูสนใจไหมขึ้นอยู่กับเงื่อนไข ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อม เช่น คลื่นไหนที่จะจัดสรร ไทม์ไลน์ และราคา เพราะต้องยอมรับก่อนว่าไทยเป็นประเทศที่มีคลื่นความถี่ที่แพงที่สุดในโลก แพงกว่าสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป และถ้าจะให้เราทำงานได้ดี วางเเผนได้ดี กสทช. ก็ต้องมีความชัดเจน”

ในส่วนของการทำ Virtual Bank ทาง มนัสส์ ยังบอกไม่ได้ว่าทรูจะทำหรือไม่ทำ แม้ว่าปัจจุบันทรูจะมีแพลตฟอร์ม TrueMoney ก็ตาม โดย มนัสส์ ระบุว่า หากทรูจะทำ Virtual Bank จะเป็นลักษณะของพาร์ตเนอร์ชิปเท่านั้น ไม่ทำเองคนเดียวเด็ดขาด