ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการด้านจักษุวิทยาครั้งใหญ่ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก “The Congress of Asia-Pacific Academy of Ophthalmology 2003” หรือ “การประชุม APAO 2003” ภายใต้ Theme Vision Quest 2003 หวังเสริมสร้างความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างจักษุแพทย์ และลดอุบัติการณ์ตาบอดในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ คาดว่าจะมีจักษุแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ประมาณ 2,000 คนจากประเทศในภูมิภาคและประเทศอื่นๆ กว่า 40 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมในการประชุม ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม ศกนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
รศ.นพ.อัทยา อยู่สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเป็นเลขาธิการของคณะกรรมการจัดการประชุม กล่าวว่า “การประชุม APAO 2003 นี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้ด้านจักษุวิทยาในกลุ่มจักษุแพทย์ เพื่อพัฒนาและก้าวทันวิทยาการสมัยใหม่ รวมทั้งหาแนวทางลดอุบัติการณ์ตาบอดในประเทศกำลังพัฒนาย่านเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งยังมีอัตราส่วนประชากรที่ตาบอดค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากโรคที่ทำให้ตาบอดบางอย่าง เช่น ต้อหิน ต้อกระจก สามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ประชากรในประเทศเหล่านี้ยังขาดความรู้และความตื่นตัวที่จะมาพบแพทย์” นอกจากนี้ยังมุ่งเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกันในหมู่จักษุแพทย์จากภูมิภาคต่างๆ ด้วย
จุดเด่นของการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะมีการสาธิตการผ่าตัดต้อกระจกผ่านแผลขนาดเล็กเพียง 1.2 มม. ผ่านโทรทัศน์วงจรปิด เป็นครั้งแรกในเอเชียอาคเนย์ และเป็นครั้งที่ 2 ในเอเชีย เทคนิคการผ่าตัดต้อกระจกผ่านแผลขนาดเล็ก 1.2 มม. นับเป็นก้าวใหม่ของการผ่าตัดต้อกระจกที่ทำให้มีการฟื้นฟูสมรรถภาพการมองเห็นได้เร็ว ใช้เวลาผ่าตัดสั้นลงและเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ป่วยมากขึ้นด้วย ในการสาธิตดังกล่าว วิทยากรชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไทย จะทำการผ่าตัดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และถ่ายทอดจากห้องผ่าตัด ให้จักษุแพทย์ที่สนใจสังเกตการณ์ที่ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ ในวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน
นอกจากนี้จะมีการนำเสนอการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลการรักษาแบบโฟโตไดนามิก หรือพีดีที (Photo-Dynamic Therapy-PDT) ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ใต้จุดรับภาพ โดยจะมีจักษุแพทย์ทางด้านจอประสาทตาจากประเทศต่างๆ ในเอเชียมานำเสนอข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วย ซึ่งแต่ละประเทศอาจจะมีสาเหตุของโรคแตกต่างกัน
ส่วนเทคนิคโฟโตไดนามิกหรือพีดีที เป็นเทคนิคการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัยที่ค่อนข้างใหม่ในเอเชีย และที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นแห่งแรกที่ใช้ยา Verteporfin รักษาผู้ป่วยดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2544 เนื่องจากโรคดังกล่าวหากรักษาแล้วอาจต้องทำการรักษาซ้ำ เราจึงตระหนักถึงการเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมที่สุด ในการประชุมครั้งนี้จะมีเวทีสำหรับการเสวนาเรื่องนี้โดยเฉพาะ (Asian PDT Forum) ซึ่งจะเปิดโอกาสให้จักษุแพทย์จากประเทศต่างๆ นำเสนอผลการรักษา โดยในส่วนของประเทศไทยจะนำเสนอผลการรักษาทำมาได้ในรอบหนึ่งปี เพื่อสรุปประสิทธิภาพของยาที่ใช้ร่วมกับเลเซอร์ว่าได้ผลดีกับผู้ป่วยกลุ่มใด และต้องใช้บ่อยครั้งเพียงใด
รศ.พญ.สุขุมา วรศักดิ์ หัวหน้าหน่วยจอประสาทตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “การรักษาแบบโฟโตไดนามิก มีศักยภาพในการรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมตามวัยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะถ้ามารักษาตั้งแต่เริ่มเป็น โดยจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดงอกใหม่ใต้จุดรับภาพ มีโอกาสคงสภาพ ดีขึ้นหรือมัวลงไม่มากอย่างที่ธรรมชาติของโรคดำเนินไปเอง ทำให้สามารถดำรงชีวิตได้ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น
“แต่เดิมเมื่อไม่มีวิทยาการโฟโตไดนามิก การรักษาโรคนี้จะใช้เลเซอร์ชนิดที่ก่อความร้อนซึ่งผู้ป่วยมักไม่พอใจกับผลที่ได้รับ เนื่องจากการมองเห็นบริเวณตรงกลางซึ่งภาพคมชัดที่สุดจะเสียไปอย่างมาก หรือถ้าไม่ใช้เลเซอร์ชนิดก่อความร้อนก็ต้องรอดูอาการไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยในวัยชราที่เป็นทั้งสองตาท้อแท้ และสิ้นหวัง” ในวันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายนนี้ ที่ภาควิชาจักษุวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมีการประชุม Asia Pacific Advisory Board Meeting เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างหัวหน้าหน่วยจอประสาทตาจากสถาบันต่างๆ 10 ประเทศ เพื่อนำร่องการรักษาดังกล่าวร่วมกับยาตัวอื่นที่อาจเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามากยิ่งขึ้น และจะมีการหารือถึงแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางวิชาการหรือการศึกษาวิจัยร่วมกัน เพื่อยังประโยชน์แก่มนุษยชาติในแถบเอเชียแปซิฟิคด้วย
วิทยากรที่จะมาแสดงปาฐกถา และบรรยายในการประชุม APAO ที่กรุงเทพครั้งนี้ ประกอบด้วยจักษุแพทย์ที่มีชื่อเสียงของโลก จักษุแพทย์ที่ได้ทำประโยชน์ให้กับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การระดับโลก อาทิ อนามัยโลก (WHO), สภาจักษุวิทยานานาชาติ (International Congress of Ophthalmology), และสมาคมนานาชาติเพื่อการป้องกันการตาบอด (International Association for Blindness) รวมทั้งจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ทั้งในเอเชียแปซิฟิกและภูมิภาคอื่นของโลก
ผู้เข้าร่วมในการประชุมจะประกอบด้วย จักษุแพทย์เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ และพยาบาล เป็นต้น ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการประชุมมาแล้วประมาณ 1,500 คน ทั้งจากประเทศสมาชิก APAO และประเทศอื่นๆ รวม 41 ประเทศทั่วโลก
ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองในรอบ 22 ปี ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติจากสภาจักษุวิทยาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Academy of Ophthalmology – APAO) ให้จัดการประชุมวิชาการดังกล่าว ซึ่งปรกติจะจัดทุกๆ 2 ปี และหมุนเวียนไปจัดในประเทศสมาชิกต่างๆ ของ APAO ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 17 ประเทศ
สมาชิก APAO ประกอบไปด้วย ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พม่า อินเดีย เนปาล ปากีสถาน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน และเกาหลีใต้