ตั้งแต่การมาของ ChatGPT ก็ได้เขย่าให้โลกเทคโนโลยีตื่นตัวกับ GenAI นำไปสู่ สงคราม AI ของบรรดาบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ซึ่งสงครามไม่ได้อยู่แค่บริษัทสหรัฐฯ แต่ จีน ก็แสดงให้เห็นว่าจะมองข้ามไม่ได้ ดังนั้นไปดูกัน ว่าในตลาดตอนนี้มี AI จากบิ๊กเทคกี่รายกันบ้าง ทั้งจากสหรัฐฯ และจีน
AI จากสหรัฐอเมริกา
- ChatGPT – พัฒนาโดย OpenAI ที่ Microsoft ลงทุนไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันถือว่าเป็นผู้นำในตลาด LLM โดยมีความสามารถในการสร้างข้อความที่หลากหลาย สามารถตอบได้อย่างเป็นธรรมชาติ
- Gemini – พัฒนาโดย Google จุดเด่นที่การสนทนาแบบมีปฏิสัมพันธ์และการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อให้ข้อมูลที่ทันสมัยและแม่นยำ มีความสามารถในการผสานรวมเข้ากับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Google
- Copilot – พัฒนาโดย Microsoft เป็นการผสานรวม LLM เข้ากับผลิตภัณฑ์ของ Microsoft เช่น Bing และ Microsoft 365 ทำให้มีความสามารถในการช่วยผู้ใช้ในการเขียนโค้ด สร้างเนื้อหา และทำงานต่าง ๆ
- Claude – พัฒนาโดย Anthropic บริษัทที่มีทีมงานจาก OpenAI โดยจุดเด่นที่ความสามารถในการสร้างข้อความที่มีความยาวและซับซ้อน ได้รับความนิยมในกลุ่มธุรกิจที่ต้องการ AI ที่มีความปลอดภัยสูง
- Grok – พัฒนาโดย xAI ของ Elon Musk มีจุดเด่นที่สามารถตอบคำถามที่ได้แหวกแนว โดยเติมอารมณ์ขันและความเฉลียวฉลาดเข้าไปในคำตอบ นอกจากนี้ Grok ยังสามารถสร้างการสนทนาแบบแยกส่วน ซึ่งผู้ใช้สามารถเปลี่ยนหัวข้อต่าง ๆ ได้ ซึ่งต่างจากแชทบอท AI อื่น ๆ
- Meta AI – พัฒนาโดย Meta ของ มาร์ก ซัคเกอร์เบิร์ก ที่ออกแบบมาเพื่อผสานรวมเข้ากับแอปพลิเคชันยอดนิยมของ Meta เช่น Facebook, Instagram, Messenger และ WhatsApp แต่ล่าสุด บริษัทกำลังจะออกแอปฯ สแตนด์อะโลนออกมา

AI จากจีน
- DeepSeek – AI น้องใหม่จากแดนมังกรที่มาสร้างความฮือฮาให้กับตลาด เนื่องจากการใช้ต้นทุนพัฒนาน้อยมาก ๆ โดย DeepSeek ใช้โมเดล AI ที่สามารถเข้าใจและตอบสนองในหลายรูปแบบ ทั้งการพูดคุยแบบธรรมดาและการแปลความหมายเชิงลึกในเชิงธุรกิจหรือความต้องการเฉพาะของผู้ใช้ได้
- Ernie Bot – พัฒนาโดย Baidu บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของจีน โดย Ernie Bot ใช้โมเดลภาษา Ernie และถูกออกแบบมาให้สามารถทำการสนทนาและให้ข้อมูลในหลาย ๆ รูปแบบ แต่จะเน้นการให้บริการทางการค้าและเชื่อมโยงกับบริการต่าง ๆ ของ Baidu เช่น การค้นหาข้อมูลและการให้บริการแผนที่
- Tongyi Qianwen – พัฒนาโดย Alibaba โดยโมเดลนี้ถูกใช้ในหลายแอปพลิเคชันของ Alibaba เช่น DingTalk แพลตฟอร์มการสื่อสารและการทำงานร่วมกันขององค์กร และ Aliyun คลาวด์คอมพิวติ้งของ Alibaba โดย Tongyi Qianwen สามารถทำงานหลายด้านเช่นการสนทนา, การให้คำแนะนำทางธุรกิจ, การประมวลผลข้อความ และการสร้างเนื้อหาภาษา
- Hunyuan Turbo S – โมเดลเอไอตัวล่าสุดของ Tencent ที่มีความสามารถเทียบเท่ากับ DeepSeek-V3 แต่มีจุดแข็งในเรื่องความเร็ว ที่สามารถตอบคำถามได้ภายใน 1 วินาที

จะเห็นว่าทางฝั่งจีนอาจจะยังเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการควบคุมและข้อจำกัดของรัฐบาลจีน ที่ส่งผลต่อการพัฒนา AI ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูล หรือการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ รวมยังอาจยังไม่ได้รับความไว้วางใจ ในเรื่องของความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การใช้งานส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่ ภายในประเทศจีนเป็นหลัก
คงต้องจับตาดูว่าในอนาคต ทั้งจีนและสหรัฐฯ จะมีผู้เล่นใหม่ ๆ ที่มาเขย่าตลาดได้เหมือนกับ DeepSeek อีกหรือไม่ เพราะตลาด AI ทั่วโลกกำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยอ้างอิงจาก Fortune Business Insights ได้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดอาจมีมูลค่าสูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 เลยทีเดียว