GUNKUL เปิดกลยุทธ์ ‘สมการแห่งความก้าวหน้า’ สู่วิสัยทัศน์ใหม่ พาร์ตเนอร์ด้านพลังงานสีเขียวแห่งเอเชีย ตั้งเป้าใหญ่ รายได้รวม 3 ปี เกิน 35,000 ล้านบาท

บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ผู้นำด้านพลังงานสีเขียวแบบครบวงจรใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของไทยปรับผังองค์กรส่ง นฤชลดำรงปิยวุฒิ์ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่พร้อมวิสัยทัศน์ “พาร์ตเนอร์ด้านพลังงานสีเขียวและโครงสร้างพื้นฐานแห่งภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการยอมรับสูงสุด” เปิดกลยุทธ์ ‘สมการแห่งความก้าวหน้า’ ต่อยอด 3 ธุรกิจหลัก สร้างฐานธุรกิจใหม่มั่นใจรายได้เติบโตต่อเนื่องรวม 3 ปีมากกว่า
35,000 ล้านบาท

บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสะสม 2,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2570 และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ Direct PPA และการเปิดประมูลรอบใหม่โดยปัจจุบัน GUNKUL มีโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวทั้งหมด 1,479 เมกะวัตต์และมีถึง 832 เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการรอรับรู้รายได้ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% ทุกปีและภายใต้เป้าการเติบโตทางรายได้รวมใน 3 ปีกว่า 35,000 ล้านบาท

คุณนฤชล เผยว่า ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ของการเป็น “พาร์ตเนอร์ในด้านพลังงานสีเขียวและโครงสร้างพื้นฐานแห่งภูมิภาคเอเชีย” บริษัทฯ ได้มีการกำหนดกลยุทธ์ ‘สมการความก้าวหน้า’ ที่สื่อถึงการเติบโตอย่างเป็นระบบและมีความมั่นคงโดยมีสารตั้งต้นจากศักยภาพด้าน Profit People และ Planet ของบริษัทฯ ที่สนับสนุนให้สามารถนำความเชี่ยวชาญด้านพลังงานแบบครบวงจรของ GUNKUL ผนวกเข้ากับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ทางธุรกิจตามเป้าประสงค์ ทั้งนี้ได้แตกส่วนของกลยุทธ์ออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

1. Build Business Muscles เปรียบเสมือนการสร้างกล้ามเนื้อทางธุรกิจที่แข็งแรงทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ ที่ GUNKUL สามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอันมาจากประสบการณ์ด้านพลังงานกว่า 40 ปี มุ่งเน้นการเติบโตรายได้ของ 3 กลุ่มธุรกิจหลักและต่อยอดสู่ธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จุดแข็งของกันกุลสามารถสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive advantage) ได้

2. Trim Operational Fat แนวคิดนี้หมายถึงการปรับธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยการปรับกระบวนการทำงานให้เอื้อต่อการเติบโตลดขั้นตอนและต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งในด้านธุรกิจจะโฟกัสเรื่องของการนำเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการโรงไฟฟ้าแบบ 100% เพื่อให้เกิดการจัดสรรคนและเวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการศึกษาเรื่องของโอกาสในการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อทางธุรกิจอย่างจริงจัง

3. Create Stakeholder Impact เป็นการสร้างกลยุทธ์ที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนองค์กรอย่างยั่งยืนแบบไม่ฉาบฉวย แต่ GUNKUL วางความยั่งยืนเป็นพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม

ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ ดิฉันมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับคณะกรรมการ ทีมผู้บริหาร และพนักงาน ของบริษัทฯ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนและสร้างผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้น รวมถึงดูแลทุกภาคส่วนอย่างเหมาะสม บริษัทฯ ได้วางแผนที่จะสร้างการเติบโตอย่างเป็นระบบและมั่นคง ซึ่งนำธุรกิจหลักของบริษัทฯมาต่อยอดด้วย 3 กลยุทธ์แบบบูรณาการ

เริ่มจากในกลุ่มธุรกิจหลัก GUNKUL จะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปลายปี 2567 บริษัทฯได้ผ่านคุณสมบัติและได้รับการคัดเลือกเพิ่มขึ้นอีกกว่า 319 เมกะวัตต์ ทั้งโครงการพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้สอดคล้องกับเป้าของบริษัทฯ ที่จะเพิ่มโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพอร์ตโฟลิโอทั้งในไทยและต่างประเทศทั้งหมดเป็น 2,000 เมกะวัตต์ภายใน 3 ปี พร้อมทั้งเดินหน้าต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่ทั้งในระดับเชิงพาณิชย์และระดับโครงข่าย และศึกษาโอกาสในการทำธุรกิจพลังงานสีเขียวใหม่ๆเช่น SMR, Green hydrogen

สำหรับอีก 2 กลุ่มธุรกิจ บริษัทฯ ได้วางแผนขยายบริการรับเหมาวิศวกรรมไฟฟ้าและอินฟราสตรัคเจอร์สู่ตลาดแรงดันสูง 115 kV – 500 kV ซึ่งมีความเฉพาะทางสูงทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีจำนวนไม่มากนัก และยังมองไปถึงการต่อ ยอดธุรกิจด้านสายส่งระบบสื่อสารซึ่งต่อยอดจากธุรกิจสายส่งพลังงานไฟฟ้า ในส่วนของกลุ่มธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเองก็ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดตลาดใหม่สำหรับกลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้าในระดับแรงดันกลางจนถึงแรงดันสูงเพิ่มเติม และเข้าประมูลโครงการของทั้งภาครัฐและเอกชนในปี 2568 ที่เติบโตสอดคล้องกับความต้องการโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานสะอาดและแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (แผน PDP) ฉบับล่าสุด ซึ่งตั้งเป้าให้แหล่งพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนเป็น 51% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดภายในปี 2580 หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดกว่า 1 ล้านล้านบาท ทั้งหมดนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ ไม่เพียงเติบโตทั้งในด้านรายได้แต่ยังสามารถรักษาศักยภาพในการทำกำไรที่ดีได้อีกด้วย

สำหรับธุรกิจใหม่ๆ หรือ New S-curve คุณนฤชล เพิ่มเติมว่า “บริษัทฯ มองหาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดแค่พลังงาน แต่กำหนดชัดเจนว่าต้องเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเทรนด์ความสนใจของประเทศ โดยมีพลังงานสะอาดเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนความสำเร็จที่สำคัญ เนื่องจาก GUNKUL มีความเชี่ยวชาญทางด้านพลังงานที่สามารถช่วยดูแลโครงการทั้งห่วงโซ่คุณค่าจึงเป็นที่มาของธุรกิจใหม่ ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลสีเขียว หรือ Green Data Center และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Infrastructure Development)ซึ่งต่างเป็นพื้นที่ทางธุรกิจใหม่ทั้งคู่ที่ได้รับการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ รวมไปถึงการทำ Co-investment สร้างความร่วมมือด้านการลงทุนร่วมกับพันธมิตรบริษัทในไทยและบริษัทต่างชาติ เพื่อให้เกิด GreenS-curve อื่นๆ ต่อไป เพื่อพุ่งไปสู่เป้าหมายรายได้ในกรอบ 3 ปีที่ตั้งไว้ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนในมิติของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) โดยได้กำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนในการทำให้หุ้น GUNKUL ได้ AAA ESG SET Rating”

โดยสรุปในปี 2567 ที่ผ่านมา GUNKUL ทำผลประกอบการณ์ได้เป็นอย่างดี มีรายได้เพิ่มขึ้น 24% เป็น 9,400 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,661 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14 % ซึ่งนับว่าเป็นความสำเร็จที่มาจาก 3 ธุรกิจหลักได้แก่ 1. ธุรกิจผลิตไฟฟ้าและพลังงานสะอาดบรรลุสัญญาโครงการพลังงานใหญ่และเติบโตในกลุ่มโซลาร์รูฟท็อป ทำให้ปัจจุบันกำลังผลิตสะสมเป็น 1,479 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ GUNKUL มีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดเป็นอับดับที่ 2 ของประเทศ 2. ธุรกิจก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบอินฟราสตรัคเจอร์รายได้เติบโตกว่า 80% ซึ่งมาจากประสบการณ์ EPC ครอบคลุมตั้งแต่โรงไฟฟ้าสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าในทุกระดับแรงดัน และ 3. ธุรกิจผลิตอุปกรณ์สำหรับไฟฟ้าทำยอดขายเติบโต 28% ด้วยเช่นกัน ล่าสุดบริษัทฯ ได้วางแผนงานเพื่อสานต่อความสำเร็จอย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ “The Most Recognized Partner in Inclusive Green Energy and Infrastructure across Asia” ผู้นำในการเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจด้านพลังงานสีเขียวและอินฟราสตรัคเจอร์แบบครบวงจรแห่งภูมิภาคเอเชีย และสำหรับปี 2568 นี้บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโต 10-15% รายได้รวมใน 3 ปีเติบโตกว่า 35,000 ล้านบาทโดยปัจจุบัน GUNKUL มีโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวทั้งหมด 1,479 เมกะวัตต์โดยมี 832
เมกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการรอรับรู้รายได้ นอกจากนี้บริษัทฯยังมีมูลค่างานรอรับรู้รายได้ (backlog) กว่า 3,800 ล้านบาทอีกด้วย