จากจุดเริ่มต้น ร้านเครื่องเขียนและกิ๊ฟต์ช็อปในตลาดสำเพ็ง เมื่อปี 2516 ก่อนพัฒนาเป็นร้านไลฟ์สไตล์ “Moshi Moshi” (โมชิ โมชิ) สาขาแรกในปี 2559 เพียงไม่กี่ปี โมชิ โมชิ ทำรายได้หลักพันล้านบาท จนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในปี 2564
ปัจจุบัน โมชิ โมชิ ครองเบอร์ 1 เชนร้านค้าไลฟ์สไตล์ในไทย ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 40% ของตลาดรวมร้านค้าไลฟ์สไตล์ ที่มีมูลค่าราว ๆ 7,000-9,000 ล้านบาท เติบโต 15-20% ต่อปี
โดย 5 ปีที่ผ่านมา โมชิ โมชิ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยรายได้ (CAGR) ถึง 22.9% ต่อปี ดังนี้
- ปี 2563 รายได้ 1,362 ล้านบาท กำไรสุทธิ 101 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้ 1,255 ล้านบาท กำไรสุทธิ 131 ล้านบาท
- ปี 2565 รายได้ 1,890 ล้านบาท กำไรสุทธิ 253 ล้านบาท
- ปี 2566 รายได้ 2,529 ล้านบาท กำไรสุทธิ 408 ล้านบาท
- ปี 2567 รายได้ 3,111 ล้านบาท กำไรสุทธิ 520 ล้านบาท
”สง่า บุญสงเคราะห์“ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MOSHI กล่าวว่า รายได้เติบโต หลัก ๆ มาจากยอดขายจากการขยายสาขาใหม่ ที่ก่อนเปิดตัวเพิ่ม 34 สาขา และการขยายตัวของยอดขายจากสาขาเดิม ที่มีการรีโนเวตถึง 70 สาขา
รวมไปถึงได้อานิสงส์จากภาคท่องเที่ยวที่คาดปีนี้มีนักท่องเที่ยว 39 ล้านคน และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจากภาครัฐบาล
สำหรับปี 2568 โมชิยังคงเผชิญความท้าทายหลัก ทั้งจากเศรษฐกิจชะลอตัว และอีกมุมหนึ่ง คือ การเข้ามาของทุนจีนและทุนยุโรป ที่เห็นโอกาสการเติบโตของร้านค้าไลฟ์สไตล์ในไทย
ทำให้ “โมชิ โมชิ” ต้องปรับตัวสูง แต่ข้อได้เปรียบ คือ สินค้าของโมชิโมชิ 90% เป็นการออกแบบและพัฒนาเอง ไม่ใช่โมเดลซื้อมาและขายไป “ทำให้ไม่ถูกทุนจีนตัดราคา”
ขณะที่ สินค้าของโมชิเริ่มต้น 5 บาท ไปจนถึงหลัก 1,190 บาท (ส่วนใหญ่สัดส่วน 50% ราคา 20-100 บาท) สามารถแข่งขันกับเชนร้านค้าไลฟ์สไตล์ต่างชาติที่เข้ามาใหม่ได้ และสัดส่วนสินค้าลิขสิทธิ์ของเขาบางชิ้นยังมีราคาสูงกว่าโมชิโมชิ
“ช่วงที่เราเริ่มเปิดโมชิโมชิสาขาแรก ณ ตอนนั้นมีคู่แข่งแบรนด์ไทย และต่างชาติ เกือบ 10 แบรนด์ แต่ภายใน 3 ปีเราสามารถขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของตลาดร้านค้าไลฟ์สไตล์ได้ ฉะนั้น การเข้ามาของแบรนด์ต่างชาติในปี 2568 ส่งผลกระทบแต่ไม่มาก เพราะเรามีความเชี่ยวชาญและเข้าใจอินไซต์คนไทยมากกว่า”
สง่า ย้ำว่า ความยากของการทำธุรกิจร้านค้าไลฟ์สไตล์ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้ทั้งสวย ถูก และดี ถ้า 3 องค์ประกอบไม่อยู่ด้วยกัน ยอดขายก็ร่วง เช่น สินค้าดี แต่ไม่อิงแฟชั่นคนก็ไม่ซื้อ หรือสินค้าสวย แต่คุณภาพแย่ คนก็ไม่เอา
”ความยากนี้ทำให้คู่แข่งตีตลาดโมชิยาก แต่ขณะเดียวกันทุกวันนี้ธุรกิจเราก็เหมือนวิ่งบนสายพาน ไม่สามารถหยุดได้เลย“
สำหรับแผนปี 2568 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โมชิ โมชิ วางงบลงทุน 280 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.ขยายสาขาใหม่ และรีโนเวตสาขาเดิม งบประมาณ 140-150 ล้านบาท
โดยปี 2568 เตรียมรีโนเวตสาขาเดิมอย่างน้อย 50 แห่ง โดยบางแห่งเน้นการขยายพื้นที่ร้านค้าเป็นขนาดใหญ่ 300 ตร.ม. อาทิ สาขาอิมพีเรียลสำโรง
ตลอดจน การขยายสาขาใหม่ 40 แห่ง ครอบคลุมทั้งในห้าง คอมมูนิตี้มอลล์ และไฮเปอร์มาร์เก็ต ไฮไลต์ คือ การเปิดสาขา Stand Alone 2 รูปแบบ จำนวน 5 สาขา

- แบบแรกเป็นขนาดพื้นที่ 80-120 ตร.ม. ในทำเลมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อปี 2567 เปิดแล้ว 5 สาขา อาทิ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.หอการค้าไทย เป็นต้น
- แบบที่สองนำร่องสาขาสแตนด์อะโลนขนาดใหญ่ 300 ตร.ม. ครั้งแรก ในทำเลชุมชน ประเดิมตลาดโอชอ วัดเทียนดัด จ.นครปฐม
”เฉพาะไตรมาสแรกปีนี้ ขยายสาขาเพิ่ม 5 สาขา ทำให้มีจำนวนสาขา 164 แห่ง ถ้าตามแผนหมดเราจะมี 200 สาขาภายในสิ้นปี 2568 เป็นแบรนด์ร้านค้าไลฟ์สไตล์ที่มีสาขามากสุดในไทย“
2.ขยายคลังสินค้าบริเวณอ้อมใหญ่ขนาด 3,000 ตร.ม. ทำให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มเป็น 26,000 ตร.ม. (เดิม 23,000 ตร.ม.) งบประมาณ 45 ล้านบาท
3.งบลงทุนซอฟต์แวร์ประมาณ 85 ล้านบาท
“ปี 2568 โมชิ โมชิ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 15-20% ส่วนการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same Store Sales Growth) วางไว้ที่ 3-5%”
“บุณยวีร์ บุญสงเคราะห์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจและการปฏิบัติการ โมชิ โมชิ กล่าวว่า นอกจากแผนลงทุนขยายสาขาแล้ว กลยุทธ์อื่น ๆ จะเน้นไปที่การสร้างความได้เปรียบด้วยการออกสินค้าใหม่ 1,000 SKU ต่อเดือน จากปัจจุบันมีสินค้า 13 หมวดหมู่ จำนวน 20,000 SKU ทั้งรูปแบบลิขสิทธิ์ และไม่ใช่สินค้าลิขสิทธิ์
โมชิ โมชิ พบว่า เทรนด์ผู้บริโภค ปี 2568 มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงเป็นรูปแบบผสมผสาน 50:50 ระหว่างกลุ่มชื่นชอบงานลิขสิทธิ์และสินค้ามีสตอรี่ ผลพวงจากกระแสอาร์ตทอยปีก่อน ทำให้คนรู้จักและติดตามคาแรกเตอร์ใหม่ ๆ มากขึ้น ส่วนอีกกลุ่มยังเป็นเน้นราคาคุ้มค่ามากกว่า จากเดิม (ช่วงก่อนโควิด) ใช้สินค้าที่ไม่ใช่ลิขสิทธิ์เลย”
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสัดส่วนรายได้หลัก 85% ยังอยู่ในกลุ่มสินค้าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ และอีก 15% เป็นสินค้าลิขสิทธิ์
“แม้สินค้ากลุ่มลิขสิทธิ์จะทำสัดส่วนรายได้น้อยกว่า แต่เป็นแรงหนุนดึงทราฟฟิกเข้าชมร้านได้เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่คนเข้ามาซื้อสินค้าลิขสิทธิ์เขาจะซื้อเพียง 1 ชิ้น ส่วนที่เหลือเขาอาจซื้อสินค้าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ติดไปด้วย โดยปัจจุบันโมชิโมชิมียอดซื้อเฉลี่ย 173 บาท/บิล กลุ่มที่โดดเด่นสุดยังคงเป็นสินค้าภายในบ้าน”