ชีวิตนี้ใช้หนี้อย่างเดียว!! กระทรวงพาณิชย์เผยสำรวจภาระหนี้คนไทย เดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่ง ‘พนักงานของรัฐ’ เป็นอาชีพที่มีภาระหนี้มากสุด ตามด้วยเกษตรกร ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป มีภาระหนี้สูงถึง 81.25%
การสำรวจดังกล่าว เมื่อพิจารณากลุ่มอาชีพที่มีสัดส่วนการมีภาระหนี้มากสุด ได้แก่ อันดับ 1 ‘พนักงานของรัฐ’ 68.18% ตามด้วย ‘เกษตรกร’ 57.16% และ ‘พนักงานเอกชน’ 53.15% ขณะที่ ‘นักศึกษาและผู้ไม่ได้ทำงาน’ และ ‘กลุ่มเกษียณอายุ’ มีสัดส่วนภาระหนี้น้อยที่สุดอยู่ที่ 20.51% และ 26.74%
เมื่อแบ่งตามกลุ่มรายได้ จะพบว่า กลุ่มที่มีรายได้สูงขึ้นจะมีสัดส่วนของผู้ที่มีภาระหนี้มากขึ้น โดย
กลุ่มผู้มีรายได้ต่อเดือนตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป สัดส่วนอยู่ที่ 81.25%
รองลงมา กลุ่มรายได้ระหว่าง 50,001 – 100,000 บาท สัดส่วนอยู่ที่ 76.15%
กลุ่มรายได้ระหว่าง 40,001 – 50,000 บาท สัดส่วนอยู่ที่ 62.96%
ส่วนสาเหตุของการเกิดหนี้ ได้แก่
การซื้อและผ่อนอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และ ยานพาหนะ 27.47
ภาระหนี้จากค่าใช้จ่ายประจำที่เพิ่มสูงขึ้น 25.56
ภาระหนี้เพื่อการลงทุน 11.94
ประเภทของหนี้สิน ภาระหนี้ในระบบมากสุด 79.89% รองลงมาด้วยการมีภาระหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ 13.53% และภาระหนี้นอกระบบ 6.58% ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากผลการสำรวจในปี 2566 ที่ 7.19%
ผลสำรวจนี้ เมื่อมาพิจารณาจำแนกตามกลุ่มอาชีพ จะพบว่า ‘พนักงานของรัฐ’ เป็นผู้มีสัดส่วนภาระหนี้ในระบบมากสุด 90.37% รองลงมาคือ ‘เจ้าของกิจการ’ และ ‘นักศึกษา’
ขณะที่ ‘เกษตรกร’ เป็นอาชีพที่มีสัดส่วนการมีหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบมากที่สุด 22.20% และ ‘อาชีพรับจ้างอิสระ’ เป็นอาชีพที่มีสัดส่วนภาระหนี้นอกระบบมากสุด 15.59% ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่มอาชีพที่ไม่มีรายได้ที่ชัดเจนและแน่นอน
และหากจำแนกตามกลุ่มรายได้ พบว่า กลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 20,000 บาท เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนการมีภาระหนี้นอกระบบและภาระหนี้ในทั้งสองระบบมากที่สุด อาจสะท้อนถึงปัญหาภาระหนี้ที่ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้ไม่สูงมากนัก
ที่มา: https://tpso.go.th/news/2503-0000000013