เทคนิคการเป็น ‘ผู้นำที่ดี’ คนเดียวต้องมีหลายร่าง แล้วร่างไหนบ้างที่ผู้นำต้องมี ?

‘ผู้นำที่ดี’ เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการเป็น และทุกองค์กรต้องการมี แล้วรู้หรือไม่ว่า ‘ผู้นำที่ดีคนเดียวจำเป็นต้องมีหลายร่าง’ แล้วร่างไหนบ้างที่ผู้นำที่ดีต้องมี ? 

 

ร่าง 1 ‘นักผจญเพลิง’ : ขณะที่เกิดปัญหา คนอื่นอาจจะหนีเอาตัวรอด แต่ผู้นำในร่างนักผจญเพลิง จะวิ่งเข้าหาปัญหา โดยคิดและพยายามวางแผน หาทางให้ทั้งตัวเองและคนอื่นรอดปลอดภัย

 

ร่าง 2 ‘วาทยกร’ : วาทยกร จะทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมวงให้เล่นดนตรีได้ตามจังหวะที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับผู้นำที่จะคอยจัดสรรคนหรือพนักงานให้สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น มีความเหมาะสมและถูกความสามารถ 

 

ร่าง 3 ‘จิตแพทย์’ : เมื่อมีคนในทีมเข้ามาปรึกษา ผู้นำร่างนี้จะคอยรับฟังแล้ววิเคราะห์อย่างเข้าใจ แต่ไม่ตัดสิน เพื่อให้ทุกครั้งที่มีคนเดินเข้ามาหา แล้วออกไปด้วยความสบายใจ

 

ร่างที่ 4 ‘เชียร์ลีดเดอร์’ : เวลาทีมเหนื่อยหรือเกิดความท้อ จะคอยให้กำลังใจหรือสร้างแรงกระตุ้นให้คนในทีมสนุกและพร้อมจะแข่งขัน ที่สำคัญไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เชียร์ลีดเดอร์จะต้อง ‘ยิ้ม’ อยู่เสมอ

 

ร่างที่ 5 ‘โค้ชฟุตบอล’ : ผู้นำร่างนี้จะต้องวางแผน ควบคุมดูแลทีม มองหาทั้งจุดอ่อนและจุดแข็งของแต่ละคน เพื่อจะกดดันและผลักดันทีมให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ สำคัญมากกว่านั้น คือ ต้องทำให้ทุกคนในทีมพร้อมก้าวต่อไปเสมอ 

 

ทั้งนี้ ผู้นำทั้ง 5 ร่าง จะมีจุดเชื่อมโยงกัน นั่นก็คือ Communication skill หรือ ‘ทักษะการสื่อสาร’ ซึ่หากผู้นำสามารถสื่อสารได้ดี จะส่งผลให้ทิศทางของทีมเดินไปในทางที่ดี พร้อมสู้และฝ่าฟันอุปสรรค 

 

ในทางกลับกันถ้าสื่อสารได้ไม่ดี จะกระทบต่อขวัญและกำลังใจของคนในทีม รวมไปถึงอาจมีความเคลือบแคลงสงสัยในการทำงานตลอดเวลา ขาดความร่วมมือที่ดี และแน่นอนย่อมกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน 

 

สำหรับสิ่งสำคัญที่จะทำให้สื่อสารได้ดีนั้น ประการแรก อย่าเริ่มต้นการสื่อสารด้วย ‘จะพูดอะไร’ แต่เริ่มที่ ‘พูดเพื่ออะไร’ เช่น พูดเพื่อให้ข้อมูลข่าวสาร อยากให้เขามีความรู้สึกอย่างไร หรือต้องการให้มีผลอย่างไร เป็นต้น

 

ผู้พูดไม่ควรพูดแต่เรื่องตัวเอง ต้องคำนึงถึงผู้ฟังด้วยว่าต้องการทราบอะไร เพราะการที่พูดถึงตัวเองอย่างเดียว เป็นการสื่อสารที่จะทำให้เราไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น และต่อไปคนอื่นจะไม่เห็นความสำคัญของเราเช่นกัน 

 

ถัดมา ควรใช้คำพูดที่สื่อสารแล้วเข้าใจง่าย มีการรับฟังเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อ ‘โต้เถียง’ และต้องสื่อสารแบบ Clear+Care เคารพซึ่งกันและแม้จะมีความเห็นหรือจุดยืนต่างกันก็ตาม