‘อาหาร’ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คน ทำให้เป็นธุรกิจนี้มีการเติบโตและมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ อย่างปี 2568 คาดการณ์ว่า ธุรกิจอาหารจะมีมูลค่าราว 572,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนประมาณ 5-7%
ขณะเดียวกันธุรกิจอาหารก็มีการแข่งขันรุนแรงชนิดที่เรียกว่า น่านน้ำสีเลือด หรือ Red Ocean ซึ่ง ‘ณัฐ วงศ์พานิช’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสเตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ผู้เล่นในธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่บอกว่า ธุรกิจอาหารมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากใครสามารถจับทางได้ถูกและตอบสนองได้ตรงจุดหมายถึงความได้เปรียบทางธุรกิจ โดย 8 เทรนด์สำคัญของธุรกิจอาหารในปีนี้ ได้แก่
เทรนด์ที่ 1 : ภาพรวมตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 จะเติบโตอยู่ที่ราว 5 – 7% มูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท
เทรนด์ที่ 2 : แบรนด์ร้านอาหารหน้าใหม่ยังคงเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากและต่อเนื่อง เช่น แบรนด์จีนที่ไหลเข้ามา โดยใช้เรื่องต้นทุนและการตอบสนองความต้องการของลูกค้าไทยเป็นจุดแข็ง เป็นต้น แต่การที่แบรนด์ไหนจะอยู่รอดได้ ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งและการบริหารจัดการในระยะยาว
เทรนด์ที่ 3 : การวางแผนรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องแข่งขันกับแบรนด์เกิดใหม่ และแบรนด์จากต่างประเทศ
เทรนด์ที่ 4 : ความนิยมในสินค้าหรือบริการระดับพรีเมียมมีเพิ่มสูงขึ้น และของถูก ไม่ได้หมายความว่า ‘ราคาต้องถูก’ โดยลูกค้ายอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อแลกกับคุณภาพที่ดีกว่าและมีความคุ้มค่า
เทรนด์ที่ 5 : วงจรของแบรนด์สินค้าจะมีอายุสั้นลง เพราะผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงรวดเร็วเบื่อง่าย และพร้อมเปิดใจทดลองของใหม่อยู่ตลอดเวลา
เทรนด์ที่ 6 : แบรนด์ต้องปรับตัวให้เข้ากับทุกสถานการณ์ ทันกระแส และวางแผนการสื่อสารได้อย่างถูกต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในทุกแพลตฟอร์ม
เทรนด์ที่ 7 : แบรนด์ ต้องพัฒนาแบบไม่หยุดนิ่ง และปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
เทรนด์ที่ 8 : ความท้าทายในเรื่องการบริหารจัดการค่าแรงพนักงาน ต้นทุนวัตถุดิบที่มีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อน
สำหรับ CRG ที่ปัจจุบันมีแบรนด์ในเครือมากมาย อาทิ เคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, คัตสึยะ, ส้มตำนัว, สลัดแฟคทอรี่, ชินคันเซ็น ซูชิ และนักล่าหมูกระทะ ฯลฯ แม้ปีที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารมีสถานการณ์ไม่แน่นอน แต่ CRG ยังเติบโต 9% ทำรายได้ไป 15,800 ล้านบาท มีจำนวนร้านอาหารมากกว่า 1,300 สาขาทั่วประเทศ และเปิดตัว 2 แบรนด์น้องใหม่ ได้แก่ NAMA Japanese and Seafood Buffet และ Katsu Midori Sushi
ส่วนในปี 2568 ณัฐบอกว่า มีแผนลงทุน 1,200 ล้านบาท สำหรับขยายสาขา เปิดแบรนด์ใหม่ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้า ภายใต้ทีมทำงาน Delicious Lab เน้นนำนวัตกรรม อินไซต์ พฤติกรรม และปัจจัยอื่น ๆ มาพัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้าใหม่ โดยตั้งเป้ามีรายได้ 17,900 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 13%
แผนดำเนินการหลัก ๆ จะเน้นโฟกัสแบรนด์ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น เคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, คัตสึยะ, สลัดแฟคทอรี่, ชินคันเซ็น ซูชิ เป็นต้น โดยปีนี้จะเปิดสาขาเพิ่มรวมแล้ว 120-140 สาขา
อีกส่วน จะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ที่ทาง CRG ขาดอยู่ เช่น ชาบู, ปิ้งย่าง และสตรีทฟู้ด โดยชาบู จะมีแบรนด์ใหม่จาก OOTOYA ใช้ชื่อว่า Ootoya Shabu ร้านชาบูสไตล์ healthy ภายใต้แบรนด์ Ootoya แห่งแรกของโลก คาดว่า จะเปิดตัวประมาณช่วงกลางปีนี้
ส่วนปิ้งย่าง นอกจาก ‘นักล่าหมูกระทะ’ ภายในปีนี้จะนำแบรนด์ Hanam Pig ร้านปิ้งย่างอันดับหนึ่งจากเกาหลีเข้ามาเสริมให้พอร์ตแข็งแกร่งมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีแผนชะลอการลงทุน เช่น Brown Cafe (บราวน์ คาเฟ่) ที่ตอนนี้มีการทยอยปิดสาขาจาก 10 สาขา เหลือ 2 สาขา เนื่องจากต้องมาประเมินถึงสภาพการแข่งงในตลาดชาขมไข่มุกใหม่อีกครั้ง
สำหรับ Delicious Lab เป็นหน่วยงานที่จะพัฒนาสินค้าจากการสำรวจตลาด ศึกษาลูกค้า วิเคราะห์ข้อมูล โดยทำงานร่วมกับฝ่ายการตลาด จนไปถึงพาร์ทเนอร์และซัพพลายเออร์ในการออกสินค้าใหม่ ซึ่งจะโฟกัส 3 เรื่องหลัก ได้แก่ Quality = Delicious, Premium Affordable และ Innovation