เจาะลึกแนวคิดการทำงาน ‘Kahoot!’ แพลตฟอร์มการศึกษาระดับโลก ที่กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ คือถูกจดจำในฐานะ ‘เกม’

เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับแพลตฟอร์ม Kahoot! โดยเฉพาะการสร้าง Quiz เกมสนุก ๆ โดย Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาเธอร์รัม อุดดิน รองประธานฝ่ายพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kahoot! ที่กำลังรุกตลาดประเทศไทย ถึงแนวคิดการทำงานขององค์กร ความท้าทายใหญ่ที่เผชิญ และแผนการทำตลาดในไทย

เป็นแพลตฟอร์มการศึกษา ไม่ใช่เกม

คุณเคยใช้ Kahoot! หรือไม่? หากเคย ภาพแรกในใจของคุณคืออะไร? หลายคนคงนึกถึงเกม Quiz สนุก ๆ ที่อาจารย์นำมาใช้ในห้องเรียนเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนตื่นตัว แต่ Kahoot! ไม่ได้ต้องการให้คนจดจำแบบนั้น แม้ว่า Kahoot! จะใช้เกมมาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ก็ตาม

“ตอนนี้เราก้าวข้ามสิ่งนั้นไปไกลแล้ว เรากลายเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ก้าวหน้าและขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI โดยเป้าหมายของเราคือช่วยให้ครูผู้สอนนำเวลาไปทุ่มเทให้กับนักเรียน แทนที่จะเสียเวลาไปกับงานที่เทคโนโลยีทำแทนได้” อาเธอร์รัม อธิบาย

ดังนั้น การก้าวออกจากภาพจำที่ว่า Kahoot! เป็นเพียงแค่เกม ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของ Kahoot! “เพราะตลอด 12 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มากมายที่ช่วยสร้างสื่อการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่เครื่องมือสร้างแบบทดสอบหรือเกมอีกต่อไป”

อาเธอร์รัม อุดดิน รองประธานฝ่ายพาณิชย์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kahoot!

ทำไมประเทศไทยถึงสำคัญมาก?

ในปีที่ผ่านมา ไทยมีจำนวนผู้ใช้ Kahoot! ถึง 20 ล้านคน และมีการจัดเซสชั่นมากกว่า 2 ล้านเซสชั่น ซึ่งตัวเลขเหล่านี้บ่งบอกถึงศักยภาพอันมหาศาลของตลาดไทย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ Kahoot! ตัดสินใจเปิดตัว Kahoot! เวอร์ชั่นภาษาไทย โดยไทยถือเป็น ประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ Kahoot! มีเวอร์ชั่นภาษาท้องถิ่นให้ใช้ ตามด้วยประเทศเวียดนาม

“ต้องยอมรับว่า ภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคสำหรับหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น การปรับเป็นภาษาท้องถิ่นจะช่วยให้การใช้งานเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเราเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพสูงสุดของเรา”

นอกจากการเปิดตัวภาษาไทยแล้ว Kahoot! ยังร่วมมือกับพันธมิตรด้านเนื้อหาในไทยหลายแห่ง เพื่อสร้างคอนเทนต์ที่เข้าใจง่ายและเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย

“เราได้ไปเยี่ยมโรงเรียน มหาวิทยาลัย และพูดคุยกับครูผู้สอนโดยตรง สิ่งที่น่าประทับใจคือมีครูอาจารย์หลายคนที่รักและชื่นชอบ Kahoot! มาก บางคนถึงกับอาสามาเป็นตัวแทน Kahoot! เพื่อช่วยเผยแพร่และเชื่อมต่อกับผู้ใช้คนอื่น ๆ นี่คือสิ่งที่ทำให้เรายืนยันได้ว่า Kahoot! ให้ความสำคัญกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก”

อัตราเกิดต่ำไม่ได้กระทบ เพราะคนเรียนรู้ตลอดชีวิต

เมื่อถามถึงความกังวลเรื่องอัตราการเกิดที่ต่ำลงทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแพลตฟอร์มการศึกษา อาเธอร์รัม มองว่าตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์ การเรียนรู้ก็ไม่มีวันสิ้นสุด” เขากล่าว “โลกทุกวันนี้มีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา และต่อให้อัตราการเกิดจะลดลง ผมไม่เชื่อว่าประชากรโลกที่สนใจในด้านการศึกษาจะหายไป”

ปัจจุบันลูกค้าของ Kahoot! แบ่งเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน ครึ่งหนึ่งคือสถานศึกษา อีกครึ่งเป็นองค์กรธุรกิจ โดยตลาดองค์กรกำลังเติบโตในอัตราที่สูงกว่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโอกาสของ Kahoot! ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป

ทุกองค์กรต้องการพัฒนาพนักงานให้มีทักษะที่ทันสมัย โดยเฉพาะในยุค AI ที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว” เขากล่าว “และนี่คือโอกาสอันยิ่งใหญ่ของเรา”

การสื่อสารด้วยความโปร่งใส คือ หัวใจความสำเร็จ

เมื่อถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จของ Kahoot! อาเธอร์รัมเผยว่า องค์ประกอบแรกคือ ทุกคนในองค์กรต้องรู้จักแพลตฟอร์มของตัวเองอย่างลึกซึ้ง และเห็นภาพรวมว่า แต่ละคนมีส่วนช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างไร

แต่สิ่งที่เขาเน้นย้ำมากที่สุดคือ การสื่อสารและความโปร่งใส “ทุกครั้งที่ทีมทำงาน จะต้องแชร์ข้อมูลให้เพื่อนร่วมงานฟังเสมอ ไม่ว่าจะอยู่ที่สำนักงานใหญ่หรือสาขาในต่างประเทศ” เขาอธิบาย “เราต้องแชร์องค์ความรู้ แชร์ฟีดแบ็กจากลูกค้า เพื่อให้ทั้งองค์กรเห็นภาพเดียวกัน”

การทำงานของเราไม่ใช่แบบ Silo หรือแยกส่วน เราเน้นการ Work Cross Function และมีระบบการทำงานร่วมกันที่โปร่งใสมาก เพื่อนำฟีดแบ็กจากการทำงานหรือจากลูกค้ามาปรับปรุงผลิตภัณฑ์และข้อเสนอ นี่คือหัวใจสำคัญอันดับหนึ่งของการบริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จ” อาเธอร์รัม ย้ำ

เมื่อมองไปข้างหน้า อาเธอร์รัมเชื่อว่า Kahoot! จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีศักยภาพสูง “ผมมองเห็นอนาคตที่สดใสของการศึกษาในยุคดิจิทัล และ Kahoot! พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น” เขากล่าวทิ้งท้าย