ผ่าวิกฤต Perrier ตำนานน้ำแร่ธรรมชาติ ที่กำลังเสี่ยงเสียสถานะ “Mineral Water”

เรียกได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งใหญ่ของแบรนด์น้ำแร่ระดับโลกอย่าง “เปอริเอ้” (Perrier) ที่กำลังเสี่ยงสูญเสียสถานะ “น้ำแร่ธรรมชาติ” หรือ Mineral Water ไป ด้วยข้อหาว่า “น้ำแร่ธรรมชาติ” ของ Perrier นั้นอาจไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

ย้อนไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 หน่วยงานฝรั่งเศสได้ออกคำสั่งให้ต้นสังกัด Perrier อย่างเนสท์เล่ (Nestlé Waters) ยุติการใช้ระบบไมโครฟิลเตอร์ที่ไม่ได้รับอนุญาตในโรงงานที่แวร์แชซ (Vergèze) ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำแร่ Perrier ที่มีชื่อเสียง โดยทางการให้เวลาเพียง 2 เดือนในการรื้อถอนระบบดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่เข้มงวดมากเกี่ยวกับสิ่งที่จะเรียกว่า “น้ำแร่ธรรมชาติ” ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ประเด็นสำคัญอยู่ที่กฎหมายของสหภาพยุโรป ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่าน้ำแร่ต้องบรรจุขวดที่แหล่งกำเนิดโดยมีการปรับปรุงน้อยที่สุด และการกรองบางวิธีอาจได้รับอนุญาตเพื่อกำจัดสารที่ไม่เสถียร แต่ไมโครฟิลเตอร์ที่ Nestlé ใช้กับ Perrier ล้วนไม่ผ่านเกณฑ์

ที่น่าสนใจก็คือ คำสั่งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปิดเผยว่าบริษัทเคยใช้วิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ห้ามใช้ เช่น การ กรองด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตและการกรองด้วยคาร์บอน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้เทคนิคไมโครฟิลเตอร์ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงในตอนนี้

โคม่าหนัก? แชมเปญน้ำแร่ 100 ปี

แบรนด์ Perrier มีจุดเริ่มต้นย้อนกลับไปไกลถึงปี 1863 เมื่อ เซอร์จอห์น ฮาร์มสเวิร์ธ (Sir John Harmsworth) สุภาพบุรุษชาวอังกฤษ ได้เดินทางไปศึกษาภาษาฝรั่งเศส และได้พบกับ ดร.เปอริเอ้ (Dr. Perrier) ผู้อำนวยการทางการแพทย์ของสปาใกล้กับแหล่งน้ำแร่เลส์ บุยยองส์ (Les Bouillens) เซอร์จอห์นประทับใจในรสชาติซ่าเป็นเอกลักษณ์ของน้ำแร่จากแหล่งนี้มาก จนตัดสินใจซื้อแหล่งน้ำแร่นั้น และตั้งชื่อแบรนด์ว่า “Perrier” เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.เปอริเอ้

ในช่วงแรก Perrier สร้างชื่อเสียงอย่างรวดเร็วในอังกฤษ ด้วยรสชาติที่ซ่าสดชื่นโดดเด่น จนได้รับฉายาว่าเป็น “แชมเปญแห่งน้ำดื่ม” (Champagne of table waters) จากนั้น Perrier ก็ค่อยๆ ขยายตลาดไปทั่วโลก จนเป็นที่รู้จักในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก

perrier
Photo : Shutterstock

เวลาผ่านไป Perrier ก็มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของ จนกระทั่งในปี 1992 แบรนด์นี้ก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม Perrier Vittel Group SA ซึ่งต่อมาถูกซื้อกิจการโดยยักษ์ใหญ่อย่าง Nestlé โดยเคล็ดลับความซ่าของ Perrier ยังคงไม่ธรรมดา และจากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ Perrier เองระบุว่ามีกระบวนการที่เป็นเอกลักษณ์ คือการดักจับก๊าซจากภูเขาไฟ แล้วนำมาใช้ในการอัดก๊าซลงในน้ำแร่โดยตรง จนเป็นที่มาของความซ่าแบบธรรมชาติ

ปัจจุบัน Perrier ยังคงเป็นที่รู้จักในฐานะน้ำแร่ธรรมชาติอัดก๊าซ ที่มีแร่ธาตุเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ปราศจากน้ำตาลและแคลอรี่ ทำให้เป็นอีกทางเลือกยอดนิยมสำหรับคนรักสุขภาพที่ชอบความซ่าแต่ไม่อยากได้แคลอรี่เพิ่ม แต่โลกธุรกิจไม่มีอะไรหยุดนิ่ง และแบรนด์ระดับตำนานอย่าง Perrier อาจกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพราะมีข่าวว่า Nestlé กำลังพิจารณาขายธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวดของตัวเอง ซึ่งรวมถึง Perrier และอีกแบรนด์ดังอย่าง ซานเปลเลกรีโน (S.Pellegrino) ด้วย เบื้องต้นมีการประเมินกันว่ามูลค่าดีลนี้อาจสูงถึงกว่า 5 พันล้านยูโร หรือราว 2 แสนล้านบาท โดย Nestlé ได้แต่งตั้งรอธส์ไชลด์ (Rothschild) บริษัทวาณิชธนกิจชื่อดังระดับโลก มาเป็นที่ปรึกษาในการขายครั้งนี้

ทำไม Nestlé จึงอยากขาย Perrier? รายงานข่าวระบุว่า Nestlé ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจะหันไปโฟกัสกับ 30 แบรนด์หลักที่ทำกำไรได้ดีกว่า เช่น Kit-Kat, Nescafé, NAN หรือ Maggi เรียกว่าเป็นการ lean องค์กรให้สอดรับกับทิศทางตลาดมากขึ้น

ฝ่าดราม่ากรองน้ำแร่ในฝรั่งเศส

วันนี้หลายบริษัทส่งสัญญาณสนใจซื้อ Perrier แม้ว่าเทคนิคการกรองน้ำของ Perrier จะถูกสั่งให้ถอดออกจากโรงงานที่ Vergèze และ Vosges ในฝรั่งเศส และ Nestlé เองก็ยอมรับว่ากระบวนการบางอย่างอาจไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบ โดยยินยอมปรับปรุงให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดสวนทางกับคำยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ Perrier ปลอดภัย

กลุ่มที่สนใจจะมาเป็นเจ้าของใหม่ Perrier มีชื่อของ One Rock Partners ซึ่งเคยซื้อธุรกิจน้ำดื่มในอเมริกา เหนือของ Nestlé อย่าง Poland Springs ไปแล้วเมื่อปี 2021 ในราคา 4.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงกลุ่มทุน Private Equity อื่นๆ ที่มีข่าวว่าให้ความสนใจเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจน้ำดื่มบรรจุขวดในนาทีนี้ถูกมองว่ามีความท้าทายอยู่ไม่น้อย ทั้งเรื่องความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนน้ำ และยอดขายที่อาจจะไม่ได้เติบโตหวือหวาเหมือนช่วงก่อนโควิด-19

perrier
Photo : Shutterstock

สำหรับอนาคตของ Perrier แม้คำแถลงของ Nestlé จะระบุว่าพร้อมปฏิบัติตามคำสั่งและกำลังมองหาทางแก้ไขทางเทคนิคเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมาย แต่ด้วยความที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์เผชิญปัญหา เพราะปีที่แล้ว Nestlé ต้องจ่ายค่าปรับถึง 2 ล้านยูโร (ประมาณ 2.25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อหลีกเลี่ยงการดำเนินคดีจากการใช้วิธีกรองที่ผิดกฎหมายก่อนหน้านี้

และปัญหาไม่ได้มีแค่นี้ ยักษ์ใหญ่อย่าง Nestlé เคยต้องทำลายน้ำแร่ Perrier กว่า 2 ล้านขวดในปี 2024 เนื่องจากพบการปนเปื้อนของแบคทีเรียที่เชื่อมโยงกับฝนตกหนัก และยังมีรายงานรั่วไหลจากหน่วยงานด้านสุขภาพในแคว้น    อ็อกซีตานี (Occitanie) ที่ระบุถึงภัยจากไวรัสที่อาจมาจากตาน้ำธรรมชาติเอง

สำหรับกรณีกฏหมายใหม่ 

ช่วงเวลาของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ถูกมองว่ามีความหมายอย่างยิ่ง เพราะเกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่จะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตของ Nestlé Waters เพื่อดำเนินการแหล่งน้ำบาดาลใน Vergèze ต่อไป ขณะเดียวกัน การตรวจสอบทางการเมืองก็เข้มข้นขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีรายงานจากวุฒิสภาในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าหน่วยงานของรัฐเคยอนุญาตให้ Nestlé หลีกเลี่ยงข้อจำกัดหรือไม่ แม้ว่าประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวกก็ตาม

บทสรุปของเรื่องนี้ คือ Perrier เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับทุกแบรนด์ในเรื่องของความโปร่งใสและความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค เมื่อแบรนด์สร้างตัวตนบนคุณค่าหลักอย่าง “ความเป็นธรรมชาติ” การรักษาคำมั่นสัญญานั้นต้องเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ซึ่งไม่ว่าเส้นทางของ Perrier ในการกลับสู่สถานะ “น้ำแร่ธรรมชาติ” จะราบรื่นหรือไม่ แต่นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ในยุคที่ผู้บริโภคเรียกร้องความจริงใจและความโปร่งใส แม้แต่แบรนด์ระดับโลกก็ไม่สามารถหลบซ่อนความจริงได้

ที่มา : Perrier, Swissinfo, Publicist24, Lemonde, Reuters, Axios