ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2568 เติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน (NNP) – ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่เพิ่มขึ้น 51.6% สู่ระดับ 749 ล้านบาท และ EBITDA 3,725 ล้านบาท เติบโต 2.6% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิ – ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 654 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 379 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน จาก 5 ปัจจัยหลักได้แก่ 1.การรวมผลประกอบการของ Malacha ในประเทศสหรัฐ อเมริกา หลังจากเข้าซื้อกิจการ 100% ในเดือนพฤษภาคม 2567 2.ปริมาณไอน้ำที่ขายให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรม (IUs) ในประเทศเพิ่มขึ้น 8.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ดีขึ้น 4.การลดลงของราคาก๊าซธรรมชาติ และ 5. กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ที่เกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้บี.กริม เพาเวอร์ มีการเชื่อมเข้าระบบของลูกค้า IUs รายใหม่ในประเทศไทยจำนวน 6.9 เมกะวัตต์ จากกลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือนกลุ่มยางรถยนต์กลุ่มเคมีภัณฑ์ เป็นต้น รวมถึง บี.กริม แอลเอ็นจี นำเข้า LNG จำนวน 2 ลำในเดือนมีนาคมและเมษายน รวมประมาณ 130,000 ตัน เข้าสู่ระบบ Pool Gas เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของ บี.กริม เพาเวอร์
ในไตรมาส 1 นี้ บี.กริม เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จในการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน Kuchinashi ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้ง 14 เมกะวัตต์ ในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ Tohoku Electric Power Corporation เป็นระยะเวลา 16 ปี นอกจากนี้ยังขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการจัดตั้งบริษัทอมตะ บี.กริม รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนโดยบริษัท บี.กริม เพาเวอร์สมาร์ทโซลูชั่น จำกัด (บริษัทย่อย) ถือหุ้นในสัดส่วน 25% ขณะที่บริษัทอมตะยูจำกัดถือหุ้นในสัดส่วน 75% เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
อีกก้าวสำคัญของ บี.กริม เพาเวอร์ คือ การเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ บี.กริมเพาเวอร์ร่วมกับเอ็นเอสบลูสโคปลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและพัฒนาโครงการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนพื้นดินกำลังการผลิตติดตั้ง 12 เมกะวัตต์ที่โรงงานเอ็นเอสบลูสโคป จังหวัดระยอง เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในโรงงานเทียบเท่ากับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงสุดประมาณ 9,000 ตันต่อปี นอกจากนี้เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจ บี.กริม เพาเวอร์ได้ส่งมอบใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (RECs) ให้แก่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทยเพิ่มทางเลือกด้านพลังงานสะอาดให้กับภาคการเงินและการลงทุนร่วมขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
ตอกย้ำความสำเร็จด้วยรางวัลและประกาศเกียรติคุณบี.กริม เพาเวอร์ ได้รับรางวัล “The Best of ESG” ในงาน Future Trends Awards 2025 จัดโดย Future Trends สื่อผู้นำเทรนด์ของประเทศไทยสะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจที่ครอบคลุมมิติการกำกับดูแลกิจการสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน และได้รับ 9 รางวัลจาก FinanceAsia นิตยสารชั้นนำด้านการเงินของฮ่องกงสะท้อนถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นมืออาชีพภายใต้ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี”
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปีนี้ ต้องเผชิญกับความท้าทายจากนโยบายภาษีและการค้าของสหรัฐฯซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการใช้ไฟฟ้าของลูกค้านิคมอุตสาหกรรมลดลงประมาณ 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2567 อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศเศรษฐกิจหลักอาจส่งผลในเชิงบวกผ่านราคาก๊าซธรรมชาติที่อาจลดลง โดยเราคาดการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับ SPP อยู่ที่ 320-340 บาทต่อล้าน BTU ซึ่งอยู่ในช่วงเดียวกับปี 2567 ที่ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 324 บาทต่อล้าน BTU และวางแผนนำเข้า LNG ไม่เกิน 5 ลำเพื่อนำเข้าสู่ระบบ Pool Gas
“การดึงดูดลูกค้ารายใหม่เช่นศูนย์ข้อมูล (Data Centre) จะช่วยบรรเทาผลกระทบเนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าดังกล่าวมีความอ่อนไหวน้อยต่อมาตรการภาษีและภาวะชะลอตัวของการค้าโลก อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจดิจิทัล โดย บี.กริม เพาเวอร์ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าอุตสาหกรรมบางราย และจะร่วมกันพัฒนากลยุทธ์ในการตอบสนองและมาตรการบรรเทาผลกระทบอย่างเหมาะสม” ดร. ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
สำหรับเป้าหมายในปี 2568 บี.กริม เพาเวอร์ตั้งเป้าเพิ่มลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหม่เชื่อมเข้าระบบรวม 40-50 เมกะวัตต์รวมถึงมีโครงการต่างๆที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและจะ COD รวม 610.5 เมกะวัตต์ ในช่วงปีนี้ ถึงต้นปีหน้า ดังนี้ 1.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อู่ตะเภา (เฟส1) 18 เมกะวัตต์ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม KOPOS20 เมกะวัตต์ 3.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “อินทรีบี.กริม” 80 เมกะวัตต์ 4. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา “จงเช่อรับเบอร์” ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้จังหวัดระยอง 35 เมกะวัตต์ 5.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา “386” 27.5 เมกะวัตต์ 6.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “ARECO” 65 เมกะวัตต์ และ 7.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง “Nakwol 1” 365 เมกะวัตต์
ส่วนเป้าหมายระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลกและบรรลุเป้าหมายการก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Carbon Emissions) ภายในปี 2593 และตั้งเป้าเพิ่มกำลังผลิตเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573