เรียกได้ว่าเป็นช่วงมรสุมสำหรับ นิสสัน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ที่แผนควบรวมกับฮอนด้าและมิตซูบิชิล้มเหลวไม่พอ ยังต้องเจอกับแรงกดดันจาก ภาษีในสหรัฐฯ จนล่าสุดบริษัทต้องเร่งปรับโครงสร้างบริษัทโดยการ ลดคน และ ปิดโรงงาน
ยอดขายที่ลดลงในประเทศจีน และการลดราคาอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดสองแห่งของ นิสสัน (Nissan) ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อรายได้ ในขณะที่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แผนการควบรวมกิจการกับ ฮอนด้า (Honda) และ มิตซูบิชิ (Mitsubishi) ก็ล้มเหลว
จนล่าสุด นิสสันได้ประกาศปรับโครงสร้างธุรกิจ โดยจะลดตำแหน่งงานเพิ่มอีก 11,000 ตำแหน่งทั่วโลก และ ปิดโรงงาน 7 แห่ง เพื่อรับมือกับยอดขายที่ตกต่ำ ในขณะที่ปีที่ผ่านมานิสสันได้ปรับลดพนักงานไปแล้วกว่า 20,000 คน ปัจจุบันนิสสันจ้างพนักงานประมาณ 133,500 คนทั่วโลก
ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นิสสันเคยประกาศว่า บริษัทพยายามจะหาทาง ลดต้นทุน รวมถึงต้องการจะ ลดการผลิตทั่วโลกลง 1 ใน 5 และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นิสสันได้ประกาศ ยกเลิกแผนการสร้างโรงงานแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้าในญี่ปุ่น
ย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นิสสันและฮอนด้า พยายามที่จะควบรวมกันเพื่อสู้กับค่ายรถจากจีน แต่การเจรจากลับล้มเหลว เนื่องจากทั้งสองบริษัทไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งหลังจากการเจรจาล้มเหลว ส่งผลให้ มาโคโตะ อุจิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารในขณะนั้นต้องลาออก และได้ อิวาน เอสปิโนซา ซึ่งเคยเป็นประธานเจ้าหน้าที่วางแผนของบริษัทและหัวหน้าแผนกมอเตอร์สปอร์ตมาแทนที่
ทั้งนี้ นิสสันได้รายงานผลขาดทุนประจำปีถึง 6.7 แสนล้านเยน (ราว 1.5 แสนล้านบาท) ขณะที่ภาษีของสหรัฐฯ ยิ่งสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมให้กับบริษัทที่กำลังประสบปัญหา
“ปีงบประมาณที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ท้าทาย ด้วยต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและสภาพแวดล้อมที่ไม่แน่นอน และนิสสันก็ไม่สามารถคาดการณ์ถึงรายได้ในปีงบประมาณนี้ได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ” อิวาน เอสปิโนซา กล่าว
ไม่ใช่แค่ตลาดสหรัฐฯ แต่บริษัทกำลังประสบปัญหาใน ตลาดจีน ซึ่งเป็นอีกตลาดสำคัญ เนื่องจากกำลังเผชิญกับสงครามราคา ส่งผลให้ยอดขายลดลง -12% ในขณะที่ตลาดอื่น ๆ อย่างญี่ปุ่นและยุโรป ก็ลดลงเช่นกัน