ในที่สุด ฮอนด้า และ นิสสัน ได้ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการถึงการยุติดีล ควบรวม มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากนิสสันไม่ต้องการเป็น บริษัทลูก และเมื่อพิจารณาทางเลือกอื่น ๆ แล้ว ทั้งสองบริษัทมองว่า การแยกกัน จะทำให้ทั้งคู่ดำเนินธุรกิจได้รวดเร็วกว่า จึงเลือกที่จะยุติการหารือ และข้อตกลง MOU
แม้ว่าข้อตกลงจะยุติลง แต่ทั้งสองบริษัทก็ไม่ใช่ว่าจะมองหน้ากันไม่ติด โดยทั้งคู่ยังยังคงมีความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างกัน โดยจะมุ่งเน้นไปที่ เทคโนโลยียานยนต์อัจฉริยะ และ รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งสองบริษัท เพราะต้องอยู่รอดให้ได้ท่ามกลางการแข่งขันของยานยนต์ยุคใหม่
การควบรวมที่ไม่เกิดขึ้น สำหรับ ฮอนด้า (Honda) ค่ายรถเบอร์ 2 ของญี่ปุ่น อาจไม่ได้น่าเป็นห่วงมาก เพราะ กำไรของบริษัทยังเติบโต โดยกําไรจากการดําเนินงานในไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.97 แสนล้านเยน เพิ่มขึ้น +5% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายรถยนต์ที่แข็งแกร่งของสหรัฐฯ และเงินเยนที่อ่อนค่า
โดยบริษัทยังคงคาดการณ์กําไรจากการดําเนินงานทั้งปีที่ 1.42 ล้านล้านเยน ในขณะที่แก้ไขแนวโน้มยอดขายทั่วโลกเป็น 3.75 ล้านคันจาก 3.8 ล้านคันที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่สะท้อนถึงการลดลงในญี่ปุ่น
ที่น่าเป็นห่วงคือ นิสสัน (Nissan) โดยนักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า บริษัทอาจเผชิญกับการ ล้มละลาย ในปี 2026 เพราะ กําไร ของนิสสันใน 6 เดือนหลัง (สิ้นสุดในเดือนกันยายน) ลดลง 94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2023
ด้วยเหตุนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 นิสสันได้ปรับลดคาดการณ์ผลกำไรจากการดำเนินงานลง 70% สู่ระดับ 1.5 แสนล้านเยน (3.3 หมื่นล้านบาท) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้จะแตะ 5 แสนล้านเยน และทำให้บริษัทต้องประกาศ ลดกําลังการผลิตลง 20% ส่งผลให้มีการ เลิกจ้างพนักงาน 9,000 คน
นอกจากนี้ บริษัทยังใช้เงินสดไปมากถึง 4.48 แสนล้านเยน (ประมาณ 99,880 ล้านบาท) ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ทำให้บริษัทต้องประกาศขายหุ้นมิตซูบิชิ ที่บริษัทถือครองอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 6.9 หมื่นล้านเยน ในขณะนั้น
นอกจากผลประกอบการที่ไม่สู้ดีนัก บริษัทยังเผชิญกับ หนี้สิน โดยมีหนี้สินระยะสั้นที่ต้องชำระภายใน 1 ปี รวมประมาณ 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.4 หมื่นล้านบาท) แต่ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.6 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2026 (ราว 1.9 แสนล้านบาท)
ไม่ใช่แค่ปัญหาทางการเงินที่นิสสันต้องเผชิญ แต่ยังมีปัญหาที่ค่ายผู้ผลิตรถยนต์รุ่นเก่าส่วนใหญ่ เผชิญก็คือ ต้นทุนการวิจัยและพัฒนา จํานวนมากในการเปลี่ยนจากการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินเป็นรถยนต์ไฟฟ้า
อีกทั้งยังเจอความกดดันจากตลาด สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของนิสสัน เพราะแม้ว่า ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ จะระงับการขึ้นอัตราภาษีสําหรับรถยนต์ที่นําเข้าจากเม็กซิโก ซึ่งถือเป็นฐานการผลิตและตลาดที่สําคัญสําหรับนิสสัน แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่
ก็คงต้องจับตาดูอนาคตของนิสสันกันต่อไป ว่าจะเป็นเช่นไรหลังดีลกับฮอนด้าล่ม เพราะมีอีกหลายบริษัทที่สนใจจะลงทุนกับนิสสัน อาทิ Foxconn บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่สุดของโลกสัญชาติไต้หวัน ที่กำลังจะพิจารณาเข้าถือหุ้นในนิสสัน ในขณะที่อนาคตของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นรายนี้แขวนอยู่บนเส้นด้าย