สหรัฐฯฟ้องทุ่มตลาด : วิกฤตหรือโอกาส…ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไทย

หลังจากที่มีข่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2546 เกี่ยวกับการที่กลุ่มพันธมิตรชาวประมงกุ้งภาคใต้ 8 มลรัฐ (Southern Shrimp Alliance : SSA) ซึ่งประกอบไปด้วยมลรัฐหลุยเซียนา มิสซิสซิปปี้ เท็กซัส แอลาแบมา จอร์เจีย ฟลอริดา นอร์ทและเซาท์แคโรไลนาจะยื่นฟ้องประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ ในที่สุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2546 กลุ่มพันธมิตรชาวประมงกุ้งภาคใต้ก็ได้ตัดสินใจยื่นคำฟ้องทุ่มตลาด (Anti Dumping : AD) ประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปสหรัฐฯรวม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย จีน เวียดนาม อินเดีย เอกวาดอร์ และ บราซิลต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ คาดว่าน่าจะทราบผลอย่างชัดเจนว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะรับคำฟ้องหรือไม่ประมาณวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2547

ถ้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศรับคำฟ้องหลังจากนั้นในขั้นตอนการไต่สวนจะใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนที่จะพิจารณาในรายละเอียดต่อการเรียกเก็บภาษีการทุ่มตลาดกับ 6 ประเทศ ในขั้นตอนที่จะประกาศเปิดการไต่สวนน่าจะทราบผลที่ชัดเจนทั้งหมดได้ประมาณวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ซึ่งในระหว่างช่วงประกาศรับคำฟ้องไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม 2547 การส่งออกกุ้งเข้าไปในตลาดสหรัฐฯ ยังเก็บภาษีการนำเข้าในอัตราร้อยละ 0 แต่เมื่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศเปิดการไต่สวนก็จะมีการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าไว้ก่อน คาดว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าอัตราร้อยละ 57 ซึ่งจะมีการคืนให้ภายหลังถ้าเมื่อไต่สวนแล้วไม่พบว่าเป็นการทุ่มตลาด

ในขั้นตอนการไต่สวนทางกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯจะพิจารณาข้อมูลบางบริษัทของไทยทำการพิจารณาในรายละเอียดในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการส่งออกกุ้งเข้าตลาดสหรัฐฯมากน้อยแค่ไหน ด้วยราคาส่งออกเท่าไหร่ ดังนั้นในขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญเพราะหากบริษัทของไทยชี้แจงทุกอย่างได้เต็มที และข้อมูลเป็นที่ยอมรับของสหรัฐฯ การประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าต่อกรณีการทุ่มตลาดในขั้นตอนสุดท้ายอาจจะไม่ถึงร้อยละ 57 ก็ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องติดตามด้วยว่าประเทศที่เป็นคู่แข่งการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งถูกฟ้องทุ่มตลาดด้วยนั้นจะหลุดพ้นข้อหาหรือถูกไต่สวน และในขั้นตอนสุดท้ายแล้วบริษัทเอกชนผู้ส่งออกกุ้งในประเทศเหล่านั้นถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด ซึ่งผลสรุปทั้งหมดจึงจะประเมินได้ว่าในที่สุดแล้วการที่สหรัฐฯฟ้องทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งนั้นเป็นวิกฤตหรือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย

อย่างไรก็ตามภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์กุ้ง 9 สมาคมจะเริ่มดำเนินการตอบโต้ถ้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรับฟ้องข้อร้องเรียนของภาคเอกชนสหรัฐฯในการเพิ่มอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งที่ส่งออกจากไทย โดยไม่ได้รวมถึงประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญ โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเม็กซิโก ทั้งที่ข้อมูลเบื้องต้นกลุ่มประเทศดังกล่าวได้มีการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์กุ้งในราคาที่ไม่แตกต่างจากไทย ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ

โดยที่ประชุมภาคเอกชนมีมติให้ออกแถลงการณ์จะยุติการนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ หากในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรับเรื่องการไต่สวนฟ้องร้อง ไทยจะเปลี่ยนแหล่งนำเข้าไปนำเข้าจากอังกฤษ บราซิล และอาร์เจนตินาแทน โดยขณะนี้ได้หารือกับฝ่ายผู้นำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองของไทยแล้ว ทั้งนี้การยกเลิกนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯของไทยจะทำให้เกษตรกรสหรัฐฯได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างถึง 23 มลรัฐ และในแต่ละปีไทยมูลค่าการนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองจากสหรัฐฯประมาณ 30,000 ล้านบาท คิดเป็นประมาณร้อยละ 56 ของการนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองทั้งหมดของไทย

แม้ว่าข้อตกลงในการดำเนินมาตรการต่างๆของภาคเอกชนจะเป็นการแสดงท่าทีของไทย และเป็นสัญญาณเตือนถึงสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามการดำเนินมาตรการดังกล่าวสิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือผลกระทบที่จะตามมาที่อาจจะลุกลามเป็นสงครามการค้า ดังนั้นในเบื้องต้นทางภาครัฐบาลต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเจรจาและส่งรายละเอียดข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมกุ้งของไทยว่าไทยไม่ได้ทุ่มตลาด ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯประกาศรับการไต่สวน

บทสรุป

แม้ว่าในขณะนี้การประเมินผลกระทบของกรณีการฟ้องทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์กุ้งของสหรัฐฯจะเป็นวิกฤตหรือโอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย แต่ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต่างร่วมมือกันเพื่อฝ่าฟันกับกรณีดังกล่าว เนื่องจากถ้ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯรับคำฟ้องและเปิดดำเนินการไต่สวน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ค่าใช้จ่ายในการรวบรวมข้อมูลและค่าใช้จ่ายในเรื่องทนายเพื่อแก้ข้อกล่าวหา ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายที่อยู่ในเกณฑ์สูง

สำหรับผลกระทบต่อตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังสหรัฐฯนั้นต้องรอความชัดเจนในเรื่องการประกาศอัตราการทุ่มตลาดของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ซึ่งจะเริ่มมีการเก็บเพิ่มขึ้นตั้งแต่เริ่มมีการไต่สวน โดยถ้าอัตราภาษีดังกล่าวของไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง ก็เท่ากับว่าเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยที่จะขยายตลาด แต่ถ้าอัตราภาษีของไทยสูงกว่าก็จะเป็นวิกฤตสำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ บริษัทส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยที่ถูกฟ้องนั้นเป็นเพียงบางส่วนของบริษัทที่ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเท่านั้น ดังนั้นบริษัทอื่นๆนั้นยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯโดยเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0 ตามปกติ และภายหลังการไต่สวนแล้วอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่แต่ละบริษัทถูกเรียกเก็บอาจจะไม่เท่ากัน ซึ่งเท่ากับว่าไทยไม่ได้สูญเสียตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งในสหรัฐฯไปทั้งหมด

นอกจากนี้ความได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯนั้นยังมีอีกหลากหลายประเด็นที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันไปด้วย คือ ความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์และแหล่งนำเข้าของผู้นำเข้ากุ้งในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งในบางกรณีราคาก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการที่จะตัดสินใจนำเข้า นอกจากนี้ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจนำเข้าด้วยเช่นกัน ดังนั้นเท่ากับว่าผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดสหรัฐฯต้องนำเอากรณีการทุ่มตลาดมาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงเพิ่มเติมนอกจากภาวะการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งต้องเร่งหาตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อเร่งผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้ง

ข้อมูลเพิ่มเติมติดตามได้จาก http://www.krc.co.th