แนวโน้มสภาพคล่องปี 2547 … ยังคงมากพอรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสรุปสถานการณ์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2547 ไว้ดังต่อไปนี้ :-

สถานการณ์สภาพคล่องในช่วงที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณาสถานการณ์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ จาก (1) ตัวเลขสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกิน ซึ่งล่าสุด อยู่ที่ประมาณ 1,169.1 พันล้านบาทในเดือน ก.ย. 2546 เพิ่มขึ้นจาก 1,116.9 พันล้านบาท ณ ปลายปี 2545 และ (2) ตัวเลขเงินฝากและเงินให้สินเชื่อ (สินเชื่อที่บวกกลับการตัดหนี้สูญและหนี้ที่โอนไปบริษัทบริหารสินทรัพย์ต่างๆ (AMCs) แต่ไม่รวมสินเชื่อที่ให้ AMCs) ซึ่งในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2546 ระบบธนาคารพาณิชย์มียอดเงินฝากเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของยอดสินเชื่อ โดยเงินฝากและสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นประมาณ 271.1 และ 177.4 พันล้านบาท ตามลำดับ สะท้อนภาพว่า ภาวะสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีอยู่ในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา

แนวโน้มสภาพคล่องในปี 2547

สำหรับแนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2547 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คงจะขึ้นอยู่กับ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งเป็นไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ตลอดจนปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อฐานะการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมาที่สภาพคล่องภายในประเทศ โดยการประเมินปัจจัยต่างๆ สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภาวะพื้นฐานทางเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่

• การขยายตัวของสินเชื่อ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2547 น่าจะทำให้ความต้องการสินเชื่อมีเพิ่มมากขึ้น ตามการขยายตัวของการอุปโภคบริโภค และการลงทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ฯ เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตประมาณ 6.3% ในปี 2546 และ 7.0-8.0% ในปี 2547 ขยายตัวต่อเนื่องจากการเติบโตที่ประมาณ 5.3% ในปี 2545 ในขณะเดียวกัน การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield) ของไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลในทางลบต่อแนวโน้มภาพรวมตลาดตราสารหนี้ ก็คาดว่าน่าจะทำให้การระดมทุนของภาคธุรกิจเอกชนหันกลับมาให้ความสำคัญกับการขอสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ความต้องการสินเชื่อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2547 จึงน่าจะช่วยดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้สมมติฐานการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 7.0-8.0% ในปี 2547 (โดยเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ และการระบาดของไข้หวัดนกในประเทศภูมิภาค ไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย) สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2547 อาจเพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 พันล้านบาทจากในปี 2546 ที่คาดว่าสินเชื่อน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 150-200 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์การขยายสินเชื่อข้างต้น อาจจะไม่ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ลดลงเต็มจำนวนสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเงินในส่วนที่ไม่ได้ถูกใช้ไปเพื่อการชำระค่าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ หรือเพื่อการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ คาดว่าจะหมุนเวียนกลับมาเป็นเงินฝากหรือสภาพคล่องที่ระบบธนาคารพาณิชย์อีกในภายหลัง

• การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ: ท่ามกลางภาวะตลาดหุ้นไทยที่ยังมีแนวโน้มไปได้ดีในปี 2547 หลังดัชนีหุ้นไทยเติบโตถึง 116.6% ในปี 2546 น่าจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้ทางการเร่งพิจารณาในการนำรัฐวิสาหกิจที่มีความพร้อม เข้าสู่กระบวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเม็ดเงินระดมทุนที่จะได้รับจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ อาจมาจากเงินออมภายในประเทศ หรือเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศในกรณีที่เป็นการขายหุ้นให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ โดยสุทธิแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การขายหุ้นของรัฐวิสาหกิจน่าจะช่วยดึงสภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ ผ่านการไหลออกของเงินฝากเพื่อซื้อหุ้นรัฐวิสาหกิจที่แปรรูป มากกว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องจากเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากคาดว่าสัดส่วนการขายหุ้นให้กับนักลงทุนต่างชาติน่าจะมีน้อยกว่านักลงทุนในประเทศ โดยจากการประเมินเบื้องต้นคาดว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปี 2547 น่าจะมีขนาดของเม็ดเงินระดมทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่มีความชัดเจนว่าจะแปรรูปคงจะได้แก่ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในขณะที่หน่วยงานอื่นๆ เช่น บมจ.ทศท.คอร์ปอเรชั่น บมจ.กสท.โทรคมนาคม บริษัทรถไฟฟ้ากรุงเทพ และอื่นๆ ยังคงต้องรอข่าวความคืบหน้าที่ชัดเจนในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในทำนองเดียวกันกับการขยายตัวของสินเชื่อ สภาพคล่องที่จะถูกดึงออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ คงจะเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเม็ดเงินระดมทุนจากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ (ในกรณีที่หน่วยงานนั้นๆ นำเงินที่ได้ไปใช้เพื่อการชำระค่าสินค้านำเข้า หรือชำระคืนหนี้ต่างประเทศ)

• การออกพันธบัตรของทางการ: ในปี 2547 ทางการมีแผนที่จะออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ในวงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งจากความคืบหน้าล่าสุด พันธบัตรล็อตแรกจำนวน 3 หมื่นล้านบาทจากวงเงินดังกล่าว ได้มีกำหนดการออกแล้วในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ขนาดของการออกพันธบัตรดังกล่าวอาจต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เดิม เนื่องจากกองทุนฟื้นฟูฯ ประสบความสำเร็จในการขายหุ้นในธนาคารพาณิชย์รัฐบางแห่งในปี 2546 ที่ผ่านมา ในขณะที่ การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐบาลที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การขยายฐานภาษี และการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ ทำให้ทางการสามารถตั้งงบกลางปีประมาณ 135.5 พันล้านบาท โดยที่ยังคงรักษาฐานะการขาดดุลงบประมาณในปี 2547 ไว้ไม่เกิน 99.9 พันล้านบาทได้

• การออกหุ้นกู้ภาคเอกชน: จากทิศทางอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ที่ค่อนข้างจะผันผวนนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2546 เป็นต้นมา ทำให้คาดว่าปริมาณการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนในปี 2547 อาจจะชะลอตัวลง หรือมีไม่ถึง 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดการออกหุ้นกู้รวมที่ประมาณ 1.8 แสนล้านบาทในปี 2546

• การลงทุนในต่างประเทศ: การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศของทางการในปี 2546 ที่ผ่านมา โดยการอนุญาตให้นักลงทุนประเภทสถาบัน 6 กลุ่ม ได้แก่ บริษัทประกันชีวิต กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม กองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และสถาบันการเงินที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้ง มีช่องทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น เป็นปัจจัยที่อาจดึงสภาพคล่องบางส่วนออกไปเพิ่มเติม

• การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด: ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีการนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมียอดการเกินดุลที่ชะลอตัวลงในปี 2547 แม้ภาคการส่งออกจะยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี อย่างไรก็ดี ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะยังคงมียอดเกินดุล ก็ถือเป็นปัจจัยที่จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย อาจจะอยู่ที่ประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 ชะลอตัวลงจากการคาดการณ์การเกินดุลที่ประมาณ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546

• การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวต่อเนื่องในปี 2547 ประกอบกับ ความคาดหวังว่ามูลค่ารวมของตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเข้าใกล้ระดับขนาดของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อาจเพิ่มแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาตินำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทั้งในตลาดหุ้น และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ มากขึ้น หลังจากที่ในปี 2546 ดัชนีหุ้นไทยปรับสูงขึ้นถึง 116.6% และโครงการต่างประเทศที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2546 เพิ่มขึ้น 27.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

• การครบกำหนดของตราสารหนี้: จากข้อมูลเบื้องต้น คาดว่าการครบกำหนดของตราสารหนี้ ซึ่งครอบคลุมถึง ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรองค์กรภาครัฐ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ภาคเอกชน อาจมีจำนวนรวมกันประมาณ 690 พันล้านบาทในปี 2547

• การไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน: การไถ่ถอนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน (Slips/Caps) ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ที่มีจำนวนรวมกันประมาณ 119 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 (ไม่รวมธนาคารทหารไทยที่ได้ทำการไถ่ถอนไปแล้วในช่วงไตรมาส 4/2546) เป็นปัจจัยที่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อสภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากการไถ่ถอน Slips/Caps เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงในทางบัญชีของธนาคารพาณิชย์ จากเดิมที่บันทึกอยู่ในส่วนของหนี้สินและทุน มาเป็นการบันทึกอยู่ในรูปของเงินฝาก นอกจากนี้ สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อาจจะลดลง ในกรณีที่ผู้ถือ Slips/Caps เดิม ถอนเงินฝากออกไปลงทุนในช่องทางอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เช่น การลงทุนในตลาดหุ้น หรือการลงทุนผ่านกองทุนรวมต่างๆ เป็นต้น แต่ธนาคารพาณิชย์เหล่านั้นก็ได้มีการเตรียมการณ์รองรับการไถ่ถอนไว้แล้ว

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ได้แก่

• อัตราเงินเฟ้อ: ภายใต้สมมติฐานการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ 7.0-8.0% ในปี 2547 ของสภาพัฒน์ฯ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปี 2547 น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4% เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยทั้งปี 2546 ที่ 1.8% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่ระดับดังกล่าว คงจะยังไม่ส่งผลกดดันให้ทางการต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศ อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวร้อนแรงกว่าที่คาด หรือระดับราคาน้ำมันขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งแล้ว ก็อาจเป็นผลกดดันให้ทางการต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น

• อัตราแลกเปลี่ยน: ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์การอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินดอลลาร์สหรัฐ (โดยภายในช่วง 2 สัปดาห์แรกของปีนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณ 1.6% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ) ประกอบกับ แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในประเทศ ได้จูงใจให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อทำกำไรจากทั้งการคาดการณ์การแข็งค่าของเงินบาท และการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทย ทั้งนี้ หากตลาดยังคงคาดว่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนค่าลงไปอีก กระแสเงินทุนจากต่างประเทศก็จะยิ่งไหลเข้ามาในประเทศและในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้ธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง จนธนาคารกลางสหรัฐต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจแล้ว การปรับตัวของตลาดคงจะเบี่ยงเบนไปในทิศทางที่เอื้อให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายและสภาพคล่องในประเทศให้ลดลงตามลำดับ

โดยสรุปแล้ว จากปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตัวแปรหลักที่คาดว่าจะกำหนดทิศทางแนวโน้มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ในปี 2547 คงจะอยู่ที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากในกรณีที่ภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวอย่างสดใส ก็น่าจะช่วยเกื้อหนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหน่วยธุรกิจต่างๆ ซึ่งก็จะส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินถูกดึงออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่เร็วขึ้น ทั้งนี้ ภายใต้การคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจที่อาจเติบโตประมาณ 7.0-8.0% ในปี 2547 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปริมาณสภาพคล่องที่มีอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน น่าจะยังมีมากพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งครอบคลุมถึง การขยายตัวของสินเชื่อ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การออกพันธบัตรของทางการ และการออกหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยหากสมมติให้สภาพคล่องถูกดูดซับออกไปจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจข้างต้นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย (หรือรวมกันประมาณ 700-750 พันล้านบาท) ระบบธนาคารพาณิชย์ก็จะยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ประมาณ 420-470 พันล้านบาท (คำนวณจากตัวเลขสภาพคล่องส่วนเกินที่ประมาณ 1.17 ล้านล้านบาท ณ เดือน ก.ย. 2546 ภายใต้สมมติฐานว่าระบบธนาคารพาณิชย์สามารถเปลี่ยนสภาพคล่องดังกล่าวเป็นเงินสดได้โดยมีต้นทุนไม่มากนัก) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สภาพคล่องส่วนเกินที่เหลืออยู่น่าจะมีระดับสูงกว่าตัวเลขที่สมมติข้างต้น เนื่องจากสภาพคล่องที่คาดว่าจะถูกดูดซับออกไปจากปัจจัยต่างๆ น่าจะกลับมาที่ระบบธนาคารพาณิชย์อีกในภายหลัง ยกเว้นในส่วนที่เป็นการนำไปใช้เพื่อการชำระคืนหนี้ต่างประเทศ หรือการลงทุนในเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจัดเป็นสภาพคล่องที่จะไหลออกไปนอกประเทศอย่างถาวร นอกจากนี้ การสมมติตามตัวเลขข้างต้น ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงปัจจัยที่อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปพิจารณาด้วย

สรุปปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่อแนวโน้มสภาพคล่องในปี 2547

ปัจจัยดูดซับสภาพคล่อง

• การขยายสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ที่คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นประมาณ 200-250 พันล้านบาทในปี 2547 ตามวัฏจักรการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

• การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ในเบื้องต้นอาจมีขนาดของเม็ดเงินระดมทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท จากหน่วยงาน ทอท. กฟผ. ทศท. กสท. และอื่นๆ ซึ่งยังคงต้องติดตามรายละเอียดความคืบหน้าเพิ่มเติมในอนาคต

• การออกพันธบัตรของทางการ ทั้งเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงินประมาณ 200 พันล้านบาท และเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 99.9 พันล้านบาท (ซึ่งครอบคลุมการตั้งงบกลางปี 135.5 พันล้านบาทเข้าไปแล้ว)

• การออกหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่คาดว่าอาจชะลอตัวลงจากปี 2546 โดยเบื้องต้นคาดว่า ขนาดของการออกหุ้นกู้อาจมีไม่ถึง 1 แสนล้านบาทในปี 2547

• การผ่อนคลายกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศ อาจดึงสภาพคล่องบางส่วนออกไปเพิ่มเติม

ปัจจัยเพิ่มสภาพคล่อง

• ดุลบัญชีเดินสะพัดที่คาดว่าจะยังเกินดุลประมาณ 8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547 แม้จะชะลอตัวลงจากการคาดการณ์การเกินดุลที่ 8.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 ก็ตาม

• แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ทั้งในตลาดหุ้นไทย และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

• การครบกำหนดของตราสารหนี้ ที่ครอบคลุมถึง ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรองค์กรภาครัฐ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ และหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยเบื้องต้นอาจมีจำนวนรวมกันประมาณ 690 พันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์นั้น นอกเหนือจากปัจจัยสภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ที่น่าจะยังมีมากพอรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2547 แล้ว แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยที่คาดว่าจะไม่เร่งตัวขึ้นเร็วเกินไป (โดยจากการคาดการณ์ของสภาพัฒน์ฯ อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2547 น่าจะอยู่ที่ 2.4% เพิ่มขึ้นจาก 1.8% ในปี 2546) และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐ ที่คาดว่าจะยังไม่ปรับขึ้นเร็ว หรืออย่างน้อยก็ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของระบบธนาคารพาณิชย์ น่าจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายปี 2547 แต่การปรับสมดุลของโครงสร้างต้นทุนและรายได้ อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางประเภท ดังที่มีธนาคารพาณิชย์บางแห่งประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ในอัตรา 0.125-0.25% ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำระยะอื่น และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง