การประชุม MPC: คาดแบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ย

ในวันที่ 21 มกราคม 2547 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือนโยบายอัตราดอกเบี้ย เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธปท.คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.25% และแม้ว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ธปท.คงจะเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น โดยภาวะแวดล้อมประกอบการประเมิน สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

• การฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทย: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2547 เป็นปีแห่งความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชน การส่งออก และการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจในภูมิภาค สอดคล้องกับมุมมองของสภาพัฒน์ฯ ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยอาจเติบโตประมาณ 7.0-8.0% ในปี 2547 ขยายตัวต่อเนื่องจากการเติบโตที่ประมาณ 6.3% ในปี 2546

• อัตราเงินเฟ้อของไทย: แนวโน้มการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทย และการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของระดับราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2547 อย่างไรก็ตาม การออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาของทางการ ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันต่อการขยับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ก็น่าจะยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ทางการสามารถดูแลได้ และน่าจะยังไม่เป็นปัจจัยกดดันให้ทางการต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้

• อัตราแลกเปลี่ยน: จากความกังวลเกี่ยวกับปัญหาปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ (ยกเว้นประเทศที่ผูกติดค่าเงินของตนไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ) โดยในช่วงครึ่งเดือนแรกของปี 2547 เงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 1.48% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการแข็งค่าต่อเนื่องจากการแข็งค่าประมาณ 9.13% ในปี 2546 ทั้งนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าอาจจะกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศบ้าง แต่ก็นับว่าเป็นปัจจัยที่ช่วยลดความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และช่วยจำกัดการขยับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ผ่านระดับราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลงด้วยเช่นกัน

• แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐ: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงจะยังไม่พิจารณาปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างน้อยก็ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฟดน่าจะรอดูการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งการคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ว่าจะทรงตัวในระดับต่ำที่ 1.00% ต่อไป น่าจะทำให้ทางการไทยยังไม่มีความจำเป็นในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2547 เป็นปีแห่งความคาดหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2546 โดยได้รับแรงหนุนหลักจากการใช้จ่ายทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน การส่งออก รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในภูมิภาค ในขณะที่ การปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของระดับราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ก็นับเป็นปัจจัยที่ช่วยจำกัดการปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ผ่านระดับราคาสินค้านำเข้าที่ถูกลง ในขณะเดียวกัน การออกมาตรการตรึงราคาน้ำมันของทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยลดแรงกดดันต่อการปรับขึ้นของระดับราคาสินค้าในประเทศ

นอกจากนี้ การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐน่าจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยนทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อย่างน้อยก็ภายในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ น่าจะทำให้ทางการไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเร็วๆ นี้ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ในการประชุม MPC ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 มกราคม 2547 ธปท.คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วันไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.25% โดยแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเกื้อหนุนให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายอัตราดอกเบี้ยจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ธปท.คงจะเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไป โดยอาศัยการดำเนินนโยบายในเชิงคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าไปดูแลเกี่ยวกับการใช้จ่ายและภาระหนี้ของภาคครัวเรือน และการก่อหนี้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ (ต่อเนื่องจากการดำเนินการในช่วงปลายปี 2546 ที่ผ่านมา) ในขณะที่ การพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ย คงจะต้องรอดูการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปก่อน