รายงานภาวะตลาดหุ้นและการเงิน

ประเด็นเปิดตลาด

– ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones วันศุกร์ปิดลบร้อยละ 0.52 สู่ระดับ 10,568.29 จุด ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ปิดบวกร้อยละ 0.23 ที่ระดับ 2,123.86 จุด

– ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันศุกร์ปรับตัวขึ้นร้อยละ 0.62 มาปิดที่ระดับ 11,069.01 จุด โดยดัชนีหุ้นเปิดตลาดวันจันทร์ปรับลดลงสู่ระดับ 11,004.44 จุด

– เงินบาท เงินเยน และเงินยูโร อ่อนค่าลงในเช้าวันนี้ มาอยู่ที่ระดับ 39.155 บาท/ดอลลาร์ 106.39 เยน/ดอลลาร์ และ 1.2573 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ โดยในสัปดาห์นี้ ตลาดได้ให้ความสนใจต่อแถลงการณ์ของ Fed พร้อมกับมติเรื่องดอกเบี้ย และการประกาศตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 4 ของสหรัฐฯ ที่คาดว่า จะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าอาจไม่แข็งแกร่งถึง 8.2% เช่นเดียวกับในไตรมาส 3

– จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยวันจันทร์นี้คงจะมีแนวรับที่ระดับ 745 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 760 จุด ในขณะที่ประมาณว่าค่าเงินบาทคงจะยังเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ ระหว่าง 39.13-39.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

– ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอังกฤษ (ตัวเลขเบื้องต้น) เติบโต 2.5% ในไตรมาส 4/2546 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการเติบโตทั้งปี 2546 อยู่ที่ 2.1% โดยภาวะเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวรวดเร็วกว่าการคาดการณ์ ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.พ. มีความเป็นไปได้สูงขึ้น

ภาวะตลาดหุ้น

U.S. Dow Jones และ U.S. NASDAQ:

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันศุกร์มีปริมาณการซื้อขายที่หนาแน่น โดยดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones วันศุกร์ปิดลดลง 0.52% สู่ระดับ 10,568.29 จุด ส่วนดัชนีหุ้น NASDAQ ปรับขึ้น 0.23% มาปิดที่ระดับ 2,123.86 จุด แม้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ลดแรงบวกลงจากช่วงเช้า ในขณะที่ นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนก่อนการรายงานผลประกอบการรายไตรมาสของสหรัฐฯ ที่จะออกมาจำนวนมากตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้า

Japan Nikkei-225:

ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันศุกร์ขยับขึ้น 0.62% สู่ระดับ 11,069.01 จุด หลังการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และความมั่นใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นกลุ่มบริษัทก่อสร้างและกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุปสงค์ในประเทศ ขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงให้ความสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มส่งออก

Thailand’s SET:

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันศุกร์ปิดลบ 0.75% ดีขึ้นจากช่วงเช้าที่ร่วงลงอย่างหนักถึงเกือบ 3% มาปิดที่ระดับ 754.44 จุด จากค่ำสั่งขายในหุ้นเกือบทุกกลุ่ม โดยเฉพาะหุ้นที่เกี่ยวกับธุรกิจการเกษตร อย่างไรก็ตาม ภายหลังแถลงการณ์จากรัฐบาลเกี่ยวกับการติดเชื้อไข้หวัดนกในคน ประกอบกับการคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกคงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก ทำให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในช่วงครึ่งหลัง ขณะที่ตลาดยังคงให้ความสนใจต่อสถานการณ์ดังกล่าวแลเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุนขึ้น

สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

Baht/USD:

เงินบาทอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ หลังรัฐบาลยืนยันพบผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนก 2 รายในไทย อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากนัก เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี

Yen/USD:

เงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่นาย เซมเบอิ มิโซกุชิ รมช.คลังญี่ปุ่นฝ่ายกิจการระหว่างประเทศกล่าวว่า ญี่ปุ่นยังคงจับตามองความเคลื่อนไหวในตลาดอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้ทำให้ตลาดมีความวิตกเกี่ยวกับการแทรกแซงค่าเงิน นอกเหนือไปจากคำสั่งซื้อจากกลุ่มผู้นำเข้าญี่ปุ่นที่อาจช่วยหนุนเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ตลาดโดยรวมยังมีปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

USD/Euro:

เงินยูโรแข็งค่าขึ้น แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ยังคงไม่แน่ใจว่าเงินยูโรจะสามารถเข้าทดสอบระดับสูงสุดครั้งใหม่ก่อนการประชุมกลุ่ม G-7 หรือไม่ โดยประเด็นการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ได้ถูกคาดว่าจะเป็นหัวข้อในการหารือของการประชุม G-7 ที่ฟลอริดา ในวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์นี้

สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

U.S. Treasury 10 Years : Thai Gov. Bond 1 Year : Thai Gov. Bond 5 Years : Thailand Bond Volume (MB):

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ทรงตัวในพันธบัตรระยะสั้น แต่ขยับลดลงระหว่าง –1 ถึง –10 bps. ในพันธบัตรระยะปานกลางและระยะยาว โดยสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 3.37% ลดลงจาก 3.41% เมื่อวันก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย เพิ่มขึ้น 21.07% จากวันก่อน โดยการซื้อขายเน้นไปที่พันธบัตรองค์กรภาครัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38.98% ของมูลค่าการซื้อขายในประเภท Outright