ในช่วงวันวาเลนไทน์นอกจากสินค้ายอดนิยมอย่างดอกกุหลาบแล้ว บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าช็อคโกแล็ตก็เป็นขนมยอดนิยมที่บรรดาวัยรุ่นเพื่อใช้เป็นสื่อในการบอกรัก อันเป็นพฤติกรรมเช่นเดียวกันกับบรรดาวัยรุ่นญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์นั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันยอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทยคือ ไทยนั้นเป็น 1 ใน 3 ประเทศในแถบPacific Rim(ไม่รวมจีน) ที่มีอัตราการขยายตัวของตลาดภายในประเทศของผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตที่น่าจับตามอง รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย รวมทั้งการขยายตัวของการส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของไทยในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ก็อยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าในปัจจุบันทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม ปัจจัยที่จะช่วยหนุนการขยายตัวของการผลิตช็อคโกแล็ตในประเทศคือ การเพิ่มการผลิตโกโก้ และปริมาณการผลิตน้ำนม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต
ช็อคโกแล็ตเป็นสินค้าจากตะวันตกที่ได้รับความนิยมมาเป็นเวลาช้านานในประเทศไทย เดิมการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตนับว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน ทำให้มีปัญหาในการเก็บรักษาให้คงสภาพที่ดีไว้ และการที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าทำให้ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตนั้นมีระดับราคาอยู่ในเกณฑ์สูง อีกทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคนิยมซื้อช็อคโกแล็ตเป็นของขวัญของฝากมากกว่าซื้อบริโภคเอง ตลาดช็อคโกแล็ตในประเทศไทยเริ่มเป็นที่น่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
จากรายงานการศึกษาของERC Group พบว่าตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทยในปี 2542 เท่ากับ 2,444 ตัน และคาดว่าในช่วงปี 2542-2548 อัตราการขยายตัวของตลาด Confectionery (ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และหมากฝรั่ง)เฉลี่ยเท่ากับร้อยละ 38.7 ซึ่งเมื่อเทียบกับบรรดาประเทศในแถบPacific Rimแล้วนับว่าไทยมีอัตราการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตสูงเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซีย(52.5%) และมาเลเซีย(42.3%) เนื่องจากได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น รวมทั้งผู้ค้าช็อคโกแล็ตมีการส่งเสริมการขาย กระตุ้นให้ผู้บริโภคเป้าหมายบริโภคช็อคโกแล็ตมากขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่าในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าสิงคโปร์นั้นมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตเพื่อการส่งออกอีกต่อหนึ่ง ในขณะที่มาเลเซียนั้นมีการนำเข้าเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตที่ส่งออกได้ ในส่วนของการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของตลาดประเทศในกลุ่มอาเซียนไทยมีมูลค่าการนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากมาเลเซีย ในบรรดาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทยจะเป็นตลาดที่น่าสนใจมากสำหรับผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าคนเอเชียจะบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตมากขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 20 ต่อปี
อย่างไรก็ตามตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตที่น่าสนใจในแถบ Pacific Rim ที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงในรายงานคือ ตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในจีน แม้ว่าในปัจจุบันอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในจีนจะอยู่ในเกณฑ์ต่ำคือ 40-50 กรัมต่อคนต่อปี (เทียบกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มีอัตราการบริโภค 1.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และสหรัฐฯ 5.4 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) แต่จากปัจจัยหนุนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรมหาศาลของจีน การเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อคนอันเนื่องมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ที่จบการศึกษาจากตะวันตก ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในจีนเป็นตลาดที่น่าจับตามองเช่นกัน โดยคาดกันว่าในระยะ 5 ปีต่อจากนี้ไปอัตราการขยายตัวของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในจีนเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในจีนขยายตัว คือการที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกเปิดโอกาสให้บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม Confectionery ชาวต่างประเทศเข้าไปขยายตลาดในจีนได้
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทยนั้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในปี 2547 มูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตมีประมาณ 1,600 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 20 ต่อปี โดยแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้ ประเภทบล็อคมูลค่าตลาด 980 ล้านบาทหรือมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด ประเภทแท่งมูลค่าตลาด 320 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 20 ประเภทแพนโปรดักส์หรือประเภทเม็ดมูลค่าตลาด 160 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 10 และประเภทกล่องมูลค่าตลาด 140 ล้านบาทหรือมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 8.8 ตามลำดับ
จากการสำรวจของERC Groupพบว่าค่าใช้จ่ายต่อหัวของคนไทยสำหรับสินค้า Confectionery(ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต ผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล และหมากฝรั่ง)นั้นเฉลี่ยประมาณ 1.93 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของคนไทยยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียด้วยกัน กล่าวคือ อัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของคนไทยเฉลี่ยเพียง 35 กรัมต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการบริโภคเฉลี่ยของคนเอเชียที่อยู่ที่ 200-300 กรัมต่อคนต่อปี และอัตราการบริโภคผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศแถบตะวันตกที่อยู่ที่ 2.5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทย และข้อมูลการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับสินค้าประเภทนี้ของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทยในอนาคตยังขยายตัวไปได้อีกมาก
การนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา โดยปริมาณการนำเข้าในปี 2546 เท่ากับ 1,998 ตัน มูลค่า 379 ล้านบาท เทียบกับปี 2535 ที่มีปริมาณการนำเข้าเท่ากับ 689.11 ตัน มูลค่า 97.93 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 15.8 ต่อปี และร้อยละ 23.9 ต่อปีตามลำดับ ซึ่งผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและมีราคาจำหน่ายอยู่ในเกณฑ์สูง โดยแยกเป็น
-อาหารที่ปรุงแต่งจากช็อคโกแล็ต มีการนำเข้าในปี 2546 เท่ากับ 444.23 ตัน มูลค่า 55.06 ล้านบาท เทียบกับปี 2535 ที่มีการนำเข้า 46.47 ตัน มูลค่า 3.18 ล้านบาทแล้วในแต่ละปีมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 71.3 และร้อยละ 136.0 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ สิงคโปร์มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 28.6 ของมูลค่าการนำเข้า รองลงมาคือ ออสเตรเลียร้อยละ 25.8 สวิตเซอร์แลนด์ร้อยละ 19.9 สหรัฐฯร้อยละ 9.8 และเบลเยี่ยมร้อยละ 6.2
-ช็อคโกแล็ตที่มีไส้มีการนำเข้าในปี 2546 เท่ากับ 1,329.67 ตัน มูลค่า 298.39 ล้านบาท เทียบกับปี 2535 ที่มีการนำเข้า 491.04 ตัน มูลค่า 67.91 ล้านบาทแล้วในแต่ละปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 และ 28.3 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนร้อยละ 33.1 รองลงมาคือ อิตาลีร้อยละ 25.3 ออสเตรเลียร้อยละ 13.5 และมาเลเซียร้อยละ 12.8
-ช็อคโกแล็ตที่ไม่มีไส้ มีการนำเข้าในปี 2546 เท่ากับ 224.25 ตัน มูลค่า 25.54 ล้านบาท เทียบกับปี 2535 ที่มีการนำเข้า 151.60 ตัน มูลค่า 26.84 ล้านบาทแล้วในแต่ละปีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.0 แต่มูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.1 ตามลำดับ แหล่งนำเข้าสำคัญคือ ฟิลิปปินส์มีสัดส่วนร้อยละ 35.4 รองลงมาคือ ออสเตรเลียร้อยละ 14.2 อินโดนีเซียร้อยละ 13.1 สวิตเซอร์แลนด์ร้อยละ 12.1 และมาเลเซียร้อยละ 10.3
ถึงแม้ว่าไทยยังคงพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต แต่ไทยก็ยังมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ต โดยตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชีย โดยเฉพาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน และเป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของไทยมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง แม้ว่าในปัจจุบันปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตจะยังไม่สูงมากนักก็ตาม การส่งออกผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกในปี 2546 เท่ากับ 340.32 ตัน มูลค่า 50.64 ล้านบาท เทียบกับปี 2545 ที่มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 200.91 ตัน มูลค่า 27.31 ล้านบาท หรือมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 69.4 และร้อยละ 85.5 ตามลำดับ ซึ่งแยกพิจารณการส่งออกตามผลิตภัณฑ์ได้ดังนี้
-อาหารที่ปรุงแต่งจากช็อคโกแล็ตมีการส่งออกในปี 2546 เท่ากับ 114.19 ตัน มูลค่า 19.85 ล้านบาท เทียบกับปี 2545 ที่มีการนำเข้า 59.24 ตัน มูลค่า 10.24 ล้านบาทหรือทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 55.0 และร้อยละ 93.8 ตามลำดับ ประเทศที่เป็นแหล่งส่งออกสำคัญคือ พม่ามีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 46.0 ของมูลค่าการนำเข้า รองลงมาคืออินเดียร้อยละ 26.3 ปากีสถานร้อยละ 11.0 และฮ่องกงร้อยละ 8.3 ตามลำดับ
-ช็อคโกแล็ตที่มีไส้มีการส่งออกในปี 2546 เท่ากับ 54.33 ตัน มูลค่า 13.53 ล้านบาท เทียบกับปี 2545 ที่มีปริมาณการส่งออกเท่ากับ 29.83 ตัน มูลค่า 5.65 ล้านบาทแล้ว ทั้งปริมาณและมูลค่าส่งออกในแต่ละปีเพิ่มขึ้นร้อยละ 82.1 และ 139.5 ตามลำดับ ประเทศสำคัญที่ไทยส่งออกคือ พม่ามีสัดส่วนตลาดร้อยละ 41.4 ของมูลค่าการนำเข้า รองลงมาคือ กัมพูชาร้อยละ 14.4 ญี่ปุ่นร้อยละ 11.0 ออสเตรเลียร้อยละ 10.8 และมาเลเซียร้อยละ 7.9
-ช็อคโกแล็ตที่ไม่มีไส้ มีการส่งออกในปี 2546 เท่ากับ 171.80 ตัน มูลค่า 17.27 ล้านบาท เทียบกับปี 2545 ที่มีปริมาณการส่งออก 111.83 ตัน มูลค่า 11.42 ล้านบาทแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 53.6 และ 51.2 ตามลำดับ ประเทศสำคัญที่ไทยส่งออกคือ มาเลเซียมีสัดส่วนร้อยละ 30.6 ของมูลค่าการส่งออก รองลงมาคือ พม่าร้อยละ 15.2 จีนร้อยละ 13.0 เวียดนามร้อยละ 12.2 และสิงคโปร์ร้อยละ 10.0 ตามลำดับ
นอกจากโอกาสในการสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์แล้ว ผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตในประเทศไทยยังมีอนาคตที่สดใส เนื่องจากการขยายตัวของตลาดในประเทศและตลาดส่งออก อย่างไรก็ตามการพัฒนาการผลิตช็อคโกแล็ตในประเทศจะต้องมีการพัฒนาวัตถุดิบและอุตสาหกรรมสนับสนุนสำคัญคือ ผลผลิตโกโก้ และการพัฒนาอุตสาหกรรมนมอย่างครบวงจร เพื่อให้มีปริมาณวัตถุดิบการผลิตที่เพียงพอ มีคุณภาพดี และตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม จึงจะสามารถพัฒนาเพื่อทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ช็อคโกแล็ตได้