ประเด็นเปิดตลาด
– ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones วันศุกร์ปิดลบร้อยละ 0.62 สู่ระดับ 10,627.85 จุด ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ปรับลงร้อยละ 0.97 ที่ระดับ 2,053.56 จุด .
– ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันศุกร์ปิดบวกร้อยละ 0.94 สู่ระดับ 10,557.69 จุด โดยเปิดตลาดเช้าวันจันทร์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับ 10,566.02 จุด
– เงินบาท เงินเยนและเงินยูโร อ่อนค่าลงในเช้าวันนี้ มาอยู่ที่ระดับ 38.900 บาท/ดอลลาร์ 105.46 เยน/ดอลลาร์ และ 1.2731 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ
– จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยวันจันทร์นี้คงจะมีแนวรับที่ระดับ 745 และ 750 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 758 และ 760 จุด ในขณะที่ประมาณว่าค่าเงินบาทคงเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 38.85-38.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ
– ดุลการค้าของสหรัฐฯ มียอดการขาดดุลอยู่ที่ 42.5 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค. 2546 สูงขึ้นจากการขาดดุลที่ 38.4 พันล้านดอลลาร์ในเดือนก่อน ในขณะที่ ยอดขาดดุลการค้าทั้งปี 2546 เท่ากับ 489.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นประมาณ 71.3 พันล้านดอลลาร์จากปีก่อน แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง
– ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ที่สำรวจโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 93.1 ในเดือน ก.พ. 2547 จากระดับ 103.8 ในเดือนก่อนหน้า
ภาวะตลาดหุ้น
U.S. Dow Jones (DJIA) / U.S. NASDAQ :
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันศุกร์อ่อนตัวลง หลังมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างรุนแรงในเดือน ก.พ. ซึ่งกลบปัจจัยบวกจากผลกำไรที่แข็งแกร่งของบริษัทเดลล์ รวมถึงการคาคการณ์ที่ว่าจะมีการใช้จ่ายทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น โดยดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ปิดลบ 0.62% ที่ระดับ 10,627.85 จุด สอดคล้องกับดัชนีหุ้น NASDAQ ที่ปรับตัวลง 0.97% สู่ระดับ 2,053.56 จุด
Japan Nikkei-225 (NIX) :
ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันศุกร์ปรับตัวขึ้น 0.94% สู่ระดับ 10,557.69 จุด ตามแรงซื้อหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และที่เกี่ยวกับอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ รายงานผลขาดดุลรายไตรมาสที่ลดลงจากซอฟท์แบงก์ คอร์ป รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของธนาคารญี่ปุ่นที่ผ่อนคลายลง ได้ช่วยหนุนบรรยากาศการซื้อขายในตลาด
Thailand’s SET (SET) :
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันศุกร์ค่อนข้างผันผวน โดยมาปิดบวกที่ 0.94% สู่ระดับ 755.18 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของวัน จากแรงซื้อหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มสื่อสารที่ได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมที่ใกล้จะแล้วเสร็จ รวมถึงในกลุ่มพลังงานเพื่อการเก็งกำไรผลประกอบการปี 2546
สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน
Baht/USD: เงินบาทอ่อนค่าลง จากแรงซื้อกลับเงินดอลลาร์ ตามทิศทางของเงินดอลลาร์สิงคโปร์ ที่แข็งค่าขึ้นมากในช่วงก่อนหน้านี้ ในขณะที่เงินบาทได้กระเตื้องค่าขึ้นในช่วงบ่าย จากการปรับขึ้นของตลาดหุ้นไทย
Yen/USD: เงินเยนค่อนข้างทรงตัว ในขณะที่ตลาดยังมีความกังวลต่อการแทรกแซงโดยการเข้าซื้อเงินดอลลาร์ของธนาคารกลางญี่ปุ่น โดย รมช คลังญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความเห็นเมื่อมีคำถามว่า ญี่ปุ่นจะมีการร่วมมือกับทางการยุโรป ในการแทรกแซงตลาดเพื่อยับยั้งการพุ่งขึ้นของสกุลเงินหรือไม่
USD/Euro: เงินยูโรอ่อนค่าลง จากข่าวลือเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางยุโรป หลังธนาคารยุโรปขนาดใหญ่แห่งหนึ่งเทขายเงินยูโรราว 2 พันล้านยูโร ซึ่งได้ถ่วงยูโรลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่มีการขายเพื่อทำกำไร หลังยูโรแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ จากที่ในช่วงเช้าดอลลาร์มีการร่วงลงอย่างหนัก หลังการรายงานยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯที่ขยายตัวขึ้นอย่างมาก และผลสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ ที่อ่อนแอเกินคาด
สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้
U.S. Treasury 10 Years / Thai Gov. Bond 1 Year * / Thai Gov. Bond 5 Years * / Thailand Bond Volume (MB):
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับขึ้นลงระหว่าง –5 ถึง 1 bps. โดยขยับลดลงค่อนข้างมากในพันธบัตรระยะปานกลางและระยะยาว โดยสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 3.02% ลดลงจาก 3.06% เมื่อวันก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย เพิ่มขึ้น 21.94% จากวันก่อน โดยการซื้อขายเน้นไปที่พันธบัตรองค์กรภาครัฐ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 51.06% ของมูลค่าการซื้อขายในประเภท Outright