รายงานภาวะตลาดหุ้นและการเงิน ประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547

ประเด็นเปิดตลาด

– คณะกรรมการการลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (Calpers) ได้ลงมติที่จะถอนการลงทุนจากไทยและอินเดีย โดยจะตัดชื่อทั้ง 2 ประเทศออกจากบัญชีรายชื่อตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกที่สามารถเข้าไปลงทุนได้ ในขณะที่ ทางการระบุว่า ข่าวดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากการลงทุนของ Calpers ในไทยมีปริมาณค่อนข้างน้อย และปัจจุบันไทยก็ไม่ได้อยู่ในรายชื่ออยู่แล้ว

– ธปท.เตรียมที่จะนำมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินฉบับใหม่ของ BIS หรือ BASEL II มาใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาช่วงเวลาและมาตรฐานใหม่ที่เหมาะสม และคาดว่าภายในเดือน มิ.ย. จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ธปท.ยังระบุว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ ธปท.มุ่งเน้นดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยจะดูแลและติดตามเป็นพิเศษในด้านฐานะต่างประเทศ ภาคอสังหาริมทรัพย์ หนี้สินภาคครัวเรือน และเครื่องชี้ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ทางเศรษฐกิจ ด้านกระทรวงการคลังจะนำแนวทางการจัดตั้งและพ.ร.บ.การจัดตั้งสถาบันประกันเงินฝากเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีภายในเดือน ก.พ. นี้

– ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones วันอังคารปิดบวกร้อยละ 0.82 สู่ระดับ 10,714.88 จุด ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30 ที่ระดับ 2,080.35 จุด

– ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันอังคารปิดเพิ่มขึ้นมาก ที่ร้อยละ 1.44 สู่ระดับ 10,701.13 จุด โดยเปิดตลาดเช้าวันพุธเพิ่มขึ้นที่ระดับ 10,759.48 จุด

– เงินบาท และเงินเยน อ่อนค่าลงในเช้าวันนี้ มาอยู่ที่ระดับ 39.030 บาท/ดอลลาร์ และ 105.62 เยน/ดอลลาร์ ในขณะที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 1.2863 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ

– ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน ธ.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.4%

– ยอดสร้างบ้านใหม่ (Housing Starts) ของสหรัฐฯ ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน หรือลดลง 7.9% ในเดือน ม.ค. มาอยู่ที่ระดับ 1.90 ล้านยูนิตต่อปี เช่นเดียวกัน พื้นที่อนุญาตก่อสร้าง (Building Permits) ซึ่งเป็นเครื่องชี้ถึงแนวโน้มกิจกรรมการก่อสร้างในอนาคต ปรับลดลง 2.8%

ภาวะตลาดหุ้น

U.S. Dow Jones / U.S. NASDAQ

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันพุธปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนได้ชะลอการลงทุน และเทขายทำกำไรออกมา หลังการทะยานขึ้นเมื่อวานนี้ จากข่าวที่ว่าจะมีควบรวมกิจการระหว่างบริษัทซิงกูลาร์กับบริษัทเอทีแอนด์ที รวมถึงรายงานทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิต โดยดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ปิดลบ 0.40% ที่ระดับ 10,671.99 จุด สอดคล้องกับดัชนีหุ้น NASDAQ ที่ขยับลง 0.19% สู่ระดับ 2,076.47 จุด

Japan Nikkei-225

ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันพุธปรับตัวลง 0.23% สู่ระดับ 10,676.81 จุด แม้ว่าจะมีข่าวเชิงบวกของบริษัท อาทิ โคโดโม และยาฮู เจแปน เป็นต้น เนื่องจากนักลงทุนปลีกตัวออกจากตลาด เพราะความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางค่าเงินเยน หลังการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 4/46 ที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่สูงสุดในรอบกว่า 13 ปี และสูงกว่าที่คาดหมายมาก ในขณะที่ นักลงทุนมีความไม่แน่ใจในท่าทีของธนาคารญี่ปุ่นต่อค่าเงินเยน

Thailand’s SET

ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันพุธปิดลบ 0.87 สู่ระดับต่ำสุดของวันที่ 742.33 จุด โดยมีแรงขายหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มพลังงานและสื่อสาร เป็นต้น ภายใต้มูลค่าการซื้อขายที่เบาบางมากไม่ถึง 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากตลาดขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้น ขณะที่ความไม่ชัดเจนของมาตราการที่จะออกมาดูแลเกี่ยวกับกาารซื้อขายหุ้นและความกังวลเกี่ยวกับต่างชาติที่ขายสุทธิในช่วง 2 วันทำการที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจในทิศทางของตลาดและชะลอการลงทุนลง

จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยวันพฤหัสบดีนี้ คงจะมีแนวรับที่ระดับ 735 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 745 และ 750 จุด โดยคาดว่า ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสที่จะปรับลงต่อเนื่องจากเมื่อวาน ภายใต้ความไม่แน่นอนของมาตราการการดูแลการซื้อขายหุ้น รวมถึงความกังวลต่อการประกาศถอนไทยออกจากตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับอณุญาตให้เข้ามาลงทุนของกองทุนคาลสเปอร์ส ที่อาจมีผลทางจิตวิทยาต่อนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิแล้ว 2 วันติดต่อกัน ขณะที่ ตลาดน่าจะรับข่าวลบเกี่ยวกับไข้หวัดนกในไก่และสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ไปมากแล้ว

สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

Baht/USD

เงินบาทอ่อนค่าลง และมีการเคลื่อนไหวแคบๆ ตามทิศทางค่าเงินในภูมิภาค โดยยังได้รับแรงกดดัน และความกังวลต่อการเข้าแทรกแซงตลาดของธนาคารแห่งประเทศไทย และจากความวิตกต่อสถานการณ์ไข้หวัดนก ในขณะที่กระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ได้ระบุว่า ไทยได้ลดพื้นที่ระบาดโรคสัตว์ปีกจาก 14 จุด ใน 9 จังหวัด เหลือ 4 จุดใน 4 จังหวัด

Yen/USD

เงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อย แม้ข้อมูลได้แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็ตาม ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่าเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดการแข็งค่าของเงินเยน

USD/Euro

เงินยูโรอ่อนค่าลง จากการซื้อคืนดอลลาร์ หลังเงินดอลลาร์/ยูโร ร่วงลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงก่อนหน้านี้ ในขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสระบุว่า ยุโรปต้องการอัตราแลกเปลี่ยนที่มีเสถียรภาพ หลังจากที่ รมว เศรษฐกิจเยอรมณีก็ได้แถลงว่า เขามีระดับค่ายูโรอยู่ในใจ ซึ่งธนาคารกลางยุโรปควรเข้ายับยั้งการปรับขึ้นของดอลลาร์

จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเงินบาทในวันพฤหัสบดีนี้ คงจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 38.95-39.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทิศทางค่าเงินบาทน่าจะยังอ่อนค่าลง ตามค่าเงินในภูมิภาค จากความกังวลต่อการแทรกแซงตลาดของธนาคารกลางในเอเชีย ถึงแม้ว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยังทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดเอเชียก็ตาม

สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

U.S. Treasury 10 Years / Thai Gov. Bond 1 Year * / Thai Gov. Bond 5 Years * / Thailand Bond Volume (MB)

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ทรงตัวถึงขยับขึ้นเล็กน้อยในพันธบัตรระยะสั้น ในขณะที่ พันธบัตรระยะตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป มีผลตอบแทนลดลง –1 ถึง –6 bps. โดยสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 2.97% แคบลงจาก 3.02% เมื่อวันก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย ลดลง 1.92% จากวันก่อน ด้านการประมูลพันธบัตรรัฐบาลกรณีพิเศษ (LB111A) วงเงิน 3 พันล้านบาท ประเภทอายุ 7 ปี มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.84% ลดลงจาก 3.87% ในการประมูลพันธบัตรประเภทเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ แม้ว่าผลตอบแทนพันธบัตรจากการประมูลจะปรับลดลง แต่นักลงทุนมองว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตร โดยเฉพาะประเภทระยะยาว มีแนวโน้มปรับขึ้น จากความเป็นไปได้ที่ทางการอาจจะออกพันธบัตรล็อตใหม่เพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 2/2547