ตลาดเหล็กโลกตึงตัวราคาพุ่ง : ความต้องการในจีนโตไม่หยุด…ส่งผลถึงไทย

ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลกสูงในปัจจุบันขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการเหล็กในประเทศจีนเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างและโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนใช้ในอุตสาหกรรมนานาประเภท อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ที่กำลังขยายตัวมากในขณะที่เศรษฐกิจของจีนยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเติบโตของ GDP สูงถึงร้อยละ 9 เมื่อปี 2003 ที่ผ่านมา

อุปสงค์ต่อการใช้เหล็กที่พุ่งสูงขึ้นในจีน ได้ทำให้จีนต้องเร่งขยายปริมาณการผลิตเหล็กอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยในปีที่แล้ว จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณการผลิตสูงถึง 220.1 ล้านเมตริกตัน1.ซึ่งเป็นสถิติการผลิตต่อปีสูงที่สุดเท่าที่เคยมีประเทศใดผลิตได้ (ดูในตารางที่ 1) อีกทั้งยังเป็นครั้งแรกของโลกที่เพียงประเทศเดียวสามารถผลิตเหล็กได้เกิน 200 ล้านเมตริกตันต่อปี โดยที่ปริมาณการผลิตของจีนดังกล่าวคิดเป็นเกือบร้อยละ 23 ของปริมาณการผลิตเหล็กทั้งหมดของโลก 962.5 ล้านเมตริกตันในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ปริมาณการผลิตของจีนดังกล่าวยังเป็นอัตราการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 21.2 จากปีก่อนหน้าอันสะท้อนถึงความร้อนแรงของภาวะเศรษฐกิจในประเทศจีน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตของโลกที่ 962.5 ล้านเมตริกตันในปี 2003 นั้น คิดเป็นอัตราขยายตัวร้อยละ 6.6 จากปีก่อนหน้า ซึ่งหากไม่นับรวมจีน ปริมาณการผลิตของโลกในปีที่แล้วจะโตเพียงประมาณร้อยละ 3 เท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจีนจะได้พยายามเร่งขยายการผลิตเหล็กในประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศที่มีสูงถึงกว่า 250 ล้านเมตริกตันต่อปี หรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณความต้องการรวมของโลก ดังนั้นจีนจึงต้องมีการนำเข้าเหล็กเป็นจำนวนมากจากตลาดโลก คิดเป็นปริมาณกว่า 25 ล้านเมตริกตันในปีที่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวขึ้นอีกในปีนี้ ปัจจุบันจีนจึงกลายเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลกแซงหน้าสหรัฐไปแล้ว

ภาวะความต้องการใช้เหล็กที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคต่างๆของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนดังกล่าวข้างต้น ได้ทำให้ภาวะตลาดเหล็กของโลกมีความตึงตัวเป็นอย่างมาก ฉุดให้ราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆ2.ในตลาดโลกจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้พุ่งทะยานขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นราคาเหล็กรีดร้อน เหล็กรีดเย็น เหล็กชุบสังกะสี เหล็กลวด ที่เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยในอัตรากว่าร้อยละ 70 เทียบกับเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว (ดูตารางที่ 2)

นอกเหนือไปจากความร้อนแรงของเศรษฐกิจในจีนที่ได้ส่งผลต่อความต้องการใช้เหล็กที่สูงขึ้นแล้ว ภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก ทั้งในอเมริกา เอเซียตะวันออก และยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก (เช่น โปแลนด์ โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก และสโลวะเกีย) รวมทั้งที่สำคัญคือกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต (อย่างเช่น รัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน) ซึ่งในอดีตได้ประสบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและความต้องการใช้เหล็กในประเทศถดถอย ก็กลับมีภาวะเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นตลอดจนการก่อสร้างต่างๆในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มีความต้องการใช้เหล็กในประเทศมากขึ้น ซึ่งเมื่อผนวกกับความต้องการนำเข้าเหล็กที่เพิ่มมากขึ้นของจีน จึงบรรเทาความจำเป็นที่ประเทศเหล่านี้จะต้องระบายเหล็กออกไปขายทุ่มตลาดโลกดังเช่นแต่ก่อน

ทั้งนี้ในช่วงนั้น ประเทศเหล่านี้เป็นผู้ส่งออกเหล็กจำนวนมากไปยังตลาดโลกด้วยราคาต่ำ เนื่องจากเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆในประเทศอยู่ในภาวะชะงักงันหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต ทำให้ความต้องการใช้เหล็กในประเทศเหล่านี้ลดลงอย่างมาก3.ถึงกว่าร้อยละ 30 โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1990 เรื่อยมาจนถึงประมาณปี 2000 ประกอบกับมีความจำเป็นต้องใช้เงินตราต่างประเทศจำนวนมากในการบูรณะประเทศ ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กซึ่งเป็นสินค้าที่ตนมีความถนัดและมีความสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากอยู่แล้วออกสู่ตลาดโลก ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทุ่มตลาดโลกและอุปทานเหล็กล้นตลาดโลกในเวลาต่อมา ประเทศเหล่านี้ได้อาศัยความได้เปรียบด้านปัจจัยการผลิตที่มีต้นทุนต่ำกว่า ประกอบกับค่าเงินสกุลรูเบิลของรัสเซียที่ประเทศเหล่านี้ใช้อิงอยู่มีค่าลดลงเป็นลำดับในขณะนั้นซึ่งเอื้ออำนวยต่อการส่งออก ผลิตภัณฑ์เหล็กจากรัสเซีย ยูเครน คาซัคสถาน โรมาเนีย ฯลฯ จึงไหลทะลักเข้าสู่ประเทศต่างๆทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย จนหลายประเทศต้องนำมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดมาใช้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตเหล่านี้หรือที่เรียกว่ากลุ่ม C.I.S (Commonwealth of Independent States) ได้มีการฟื้นตัวมาเป็นลำดับ และคาดว่า4.จะมีอัตราการเติบโตของ Real GDP เฉลี่ยประมาณร้อยละ 5 ในปีนี้ ในขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก อย่างโปแลนด์ โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก และสโลวะเกีย ก็มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่า5.จะมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ในปีนี้ ยังผลให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในประเทศเพิ่มขึ้นพร้อมกับฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมในประเทศเหล่านี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนในปี 2004 นี้ ประกอบกับภาวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคของโลก ทั้งในเอเซีย ในสหรัฐอเมริกาและในยุโรป จะทำให้ปริมาณการผลิตและการใช้เหล็กของโลกเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้ว สอดคล้องกับการคาดการณ์ของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศหรือ IISI (International Iron and Steel Institute) ว่าปริมาณการผลิตเหล็กของโลกในปี 2004 นี้ จะสูงถึงระดับ 1 พันล้านเมตริกตันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง สร้างสถิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมเหล็กของโลก

ภาวการณ์ในตลาดเหล็กโลกที่ตึงตัวมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ได้ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐเกี่ยวกับการค้าเหล็กในบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐ เมื่อประธานาธิบดีบุชได้มีประกาศเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วให้ยกเลิกการใช้มาตราการ 201 แห่งกฎหมายการค้าของสหรัฐ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศด้วยการเพิ่มภาษีเหล็กนำเข้าในอัตราร้อยละ 8-30 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ปี 2002 โดยมีผลบังคับใช้ 3 ปี คือเดิมตั้งใจจะให้มีผลบังคับใช้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2005

การประกาศยกเลิกมาตรการดังกล่าวก่อนกำหนดของสหรัฐนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นซึ่งคัดค้านมาตรการดังกล่าวของสหรัฐมาตั้งแต่ต้น ได้ประกาศว่าจะทำการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ หากสหรัฐยังคงยืนกรานไม่ยอมปฏิบัติตามคำตัดสินขององค์การการค้าโลกหรือ WTO ที่ได้แจ้งให้สหรัฐยุติการใช้มาตรการดังกล่าวซึ่งถือเป็นการกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ที่สำคัญ การที่สหรัฐยอมยกเลิกการมาตรการ 201 ก็เพราะเห็นว่าภาวะเหล็กในตลาดโลกขณะนี้ได้กระเตื้องขึ้นอย่างมากต่างกับเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว เนื่องจากความต้องการเหล็กในตลาดโลกปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้มีการทุ่มตลาดเหล็กน้อยลง อีกทั้งสถานการณ์ของภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐก็เปลี่ยนไป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล็กในสหรัฐได้มีการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถรองรับการแข่งขันได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่ก็มีเสียงเรียกร้องจากบรรดาอุตสาหกรรมต่างๆที่ใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหรือวัสดุกึ่งสำเร็จรูปในการผลิตสินค้าที่ต้องการให้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมการนำเข้าเหล็ก ทั้งนี้เพื่อบรรเทาภาวะราคาเหล็กในประเทศที่สูงขึ้น และปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ความผันผวนของภาวะเหล็กในตลาดโลกได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อสถานการณ์เหล็กในประเทศเช่นกัน ทั้งนี้สถานการณ์เหล็กได้แปรเปลี่ยนจากภาวะซบเซาของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศช่วงระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณการผลิตตกต่ำและราคาอ่อนตัวท่ามกลางภาวะอุปทานเหล็กล้นตลาดโลก อีกทั้งในขณะนั้นยังต้องเผชิญกับการทุ่มตลาดของผู้ผลิตจากต่างประเทศ ทำให้มีปริมาณเหล็กจากตลาดโลกทะลักเข้าสู่ประเทศไทย จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดหรือที่เรียกว่ามาตรการ AD ( Anti-Dumping) กับผลิตภัณฑ์เหล็กหลายรายการที่นำเข้าจาก 14 ประเทศ

แต่มาบัดนี้สถานการณ์กลับกลายเป็นภาวะตลาดตึงตัว ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กมีแนวโน้มขยับตัวสูงขึ้นตามภาวะราคาในตลาดโลก ประกอบกับความต้องการใช้เหล็กในประเทศก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง ตลอดจนการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในการผลิตสินค้า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ จนบรรดาโรงงานเหล็กต้องขยายการผลิต ยังผลให้อัตราการใช้กำลังผลิต (Capacity Utilization) ของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศที่เคยตกต่ำในอดีตกลับฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า อัตราการใช้กำลังการผลิตของเหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็น แผ่นเหล็กชุบสังกะสี และเหล็กลวดได้ขยับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 91.2 ร้อยละ 85.0 และร้อยละ 67.5 ตามลำดับเมื่อเดือนมกราคม 2547 ที่เพิ่งผ่านมา เทียบกับเพียงร้อยละ 31.7 ร้อยละ 44.9 และร้อยละ 29.7 เมื่อเดือนธันวาคม 2541

อย่างไรก็ตามภาวะตึงตัวของตลาดเหล็กโลกและราคาเหล็กที่สูงขึ้น ได้ส่งผลต่อภาวะราคาและปริมาณเหล็กในประเทศไทยเช่นกัน เนื่องจากไทยยังต้องมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กต่างๆจากต่างประเทศ ทั้งที่เป็นเหล็กวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปอย่างเหล็กสแล็บ(Slab) และเหล็กบิลเล็ต(Billet) ตลอดจนผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นชนิดต่างๆสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมนานาประเภท ซึ่งแนวโน้มราคาเหล็กเหล่านี้ในตลาดโลกได้ขยับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ จึงได้มีเสียงเรียกร้องจากผู้ผลิตเหล็กในประเทศให้ภาครัฐพิจารณาอนุญาตให้มีการปรับราคาจำหน่ายในประเทศ

ในขณะที่ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างและอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องใช้เหล็กในการผลิต ซึ่งกำลังประสบกับปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น ก็ขอให้ภาครัฐพิจารณายกเลิกหรือผ่อนคลายมาตรการภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด รวมทั้งขอให้มีการผ่อนปรนเกี่ยวกับกฎระเบียบการนำเข้าเหล็กทั้งนี้เพื่อเพิ่มอุปทานเหล็กในประเทศและบรรเทาปัญหาราคาเหล็ก ซึ่งคาดว่าทางภาครัฐจะได้พิจารณาแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน และดูแลมิให้มีการฉวยโอกาสกักตุนสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมภาวะราคาและปริมาณเหล็กที่ตึงตัวอยู่ในขณะนี้