สัมมนา “ก้าวสู่ ครัวของโลก” ด้วย Food Supply Chain Management”

จากงาน Education and Factory Tour “ก้าวสู่ ครัวของโลก” ด้วย Food Supply Chain Management” วันที่ 2 มีนาคม 2547 ณ โรงแรมดิเอมเมอร์รัล กรุงเทพฯ และโรงงานบริษัทกำแพงแสน คอมเมอร์เชียล จำกัด จังหวัดนครปฐม

เมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา สถาบันอาหาร องค์กรเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานสัมนนาเรื่อง “ก้าวสู่ ครัวของโลก” ด้วย Food Supply Chain Management” ขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการอุตสาหกรรมอาหารหลายท่านมาร่วมอภิปรายให้ความคิดเห็น ดร.วิทยา สุหฤทดำรง อาจารย์สถาบัน เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นายชูศักด์ ชื่นประโยชน์ ประธานกรรมการ บจก. กำแพงแสน คอมเมอร์เชียล ดร.ผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย นายชูศิลป์ จิรวงศ์ศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ. ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการนำเข้าและส่งออกสินค้า สภาหอการค้าแห่ง ประเทศไทย และ ดร.อมร งามมงคลรัตน์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการวิชาการ สถาบันอาหาร ซึ่งทุกท่านต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า อีกหนึ่งกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของการเป็น “ครัวของโลก” นั่นคือ การจัดการตามระบบ Food Supply Chain Management
การจัดการตามระบบ Food Supply Chain Management หรือที่ท่านอาจคุ้นหูในชื่อ การจัดการโซ่อุปทาน เป็นระบบบริหารจัดการคุณภาพระบบหนึ่ง ที่กำลังเข้ามามีบทบาท และมีความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย
การจัดการตามระบบ Food Supply Chain Management ประสบความสำเร็จอย่างสูงในกองทัพสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ได้นำระบบ Logistics และ Supply Chain Management มาใช้ในการวางแผนและการลำเลียง กำลังพล ยุทโธปกรณ์และเสบียงในการทำสงคราม ต่อมาได้มีบริษัทเอกชนหลายๆ บริษัทได้นำการจัดการโซ่อุปทานมาใช้จนประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด ตัวอย่างเช่น ความสำเร็จของห้าง Wall Mart ห้างสรรพสินค้าที่มียอดขายอันดับหนึ่งของโลก หรือจะเป็น TOYOTA ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลก
สำหรับการนำระบบการจัดการโซ่อุปทานมาปรับใช้ในวงการอุตสาหกรรมอาหารนั้น เป็ฯการจัดการกับกิจกรรมต่างๆ ทั้งกระบวนการของธุรกิจในวงการอุตสาหกรรมอาหารในเชิงบูรณาการ กล่าวคือ เป็นการเชื่อมโยงกระบวน สรุปเป็นกระบวนการอย่างสั้นๆ คือ

—-> ผู้ค้าส่ง —->
ผู้ผลิตขั้นแรก —> ผู้แปรรูปขั้นต้น—-> ผู้แปรรูปขั้นสุดท้าย —-> การขนส่ง ผู้บริโภค —-> ผู้ค้าปลีก —->

กระบวนการต่างๆ เชื่อมโยงกันด้วย การใช้ข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้ร่วมกัน ระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ การอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ

ระบบ EDI (Electric Data Interchange) เป็นอีกหนึ่งผู้ช่วยที่ทำให้ทั้งโซ่อุปทานเกิดความสำเร็จ และเมื่อหลายๆ โซ่เกิดความสำเร็จก็จะมีการต่อเนื่องกันเป็นโครงข่ายโยแมงมุมที่สำเร็จร่วมกัน

องค์ประกอบของการจัดการโซ่อุปทาน คือ
– คน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดแห่งความสำเร็จของทุกองค์กร องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องให้ความรู้แก่บุคลากรเพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจความสำคัญ และการพัฒนาระบบ
– ข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลข่าวสารที่สามารถเปิดเผยร่วมกันได้ ความรวดเร็วในการสื่อสาร ตลอดจนอุปกรณ์และวิธีการสื่อสารเป็นส่วนสำคัญของระบบการจัดการโซ่อุปทาน
– ระบบเครือข่าย Network ทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลข่าวสารที่มีคุณค่าในการตัดสินใจ
– การเงิน แรงผลักดันสำคัญในการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบ
– Transportation ระบบการคมนาคมขนส่ง วิธีการขนส่ง ระยะเวลาที่ใช้ ตลอดจนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนนหนทาง การอำนวยการจากภาครัฐ ตลอดจนกฎ ระเบียบต่างๆ เป็นอีกส่วนสำคัญในความสำเร็จของระบบ

คุณค่าและผลที่จะเกิดแก่องค์กรและประเทศชาติจากการพัฒนาระบบการจัดการโซ่อุปทาน ได้แก่
– การเพิ่มคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ การควบคุมคุณภาพทุกขั้นตอนทั้งโซ่อุปทาน ความรวดเร็วในการขนส่งทำให้คุณค่าแก่ผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้น
– ลดต้นทุน ทั้งในส่วนการบริหารจัดการ ต้นทุนการเก็บสินค้าคงคลัง ต้นทุนค่าขนส่งและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น การใช้ข้อมูลร่วมกันภายใจโซ่อุปทานก็สามารถช่วยลดต้นทุนในการจัดการข้อมูลข่าวสารทั้งในระดับภายในองค์กร และภาพรวมของประเทศได้
– เพิ่มความปลอดภัย และการสอบกลับได้ (Food Safety and Traceability) ในวงการอุตสาหกรรมอาหาร จนการขนส่งไปยังผู้บริโภค ตลอดจนการสอบกลับได้ว่า สินค้าสำเร็จรูปในมือผู้บริโภคนั้นมีที่มาจากแหล่งใด เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง
– เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถในการลดต้นทุนการเก็บสินค้า ลดต้นทุนการขนส่งและคุณภาพของผลิตภัณฑ์จากการบริหารงานตามระบบโซ่อุปทาน จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างยั่งยืน
– การใช้ข้อมูลร่วมกัน ธุรกิจในทุกวันนี้การแข่งขันทางด้านข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยมีความร่วมมือและมีการพัฒนาระบบการใช้ข้อมูลร่วมกัน การตัดสินใจก็จะรวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

หนึ่งในบริษัทผู้ผลิตอาหารที่ประสบความสำเร็จในการนำระบบ Food Supply Chain Management มาใช้ในการบริหารจัดการ คือ บริษัท กำแพงแสน คอมเมอร์เชียล จำกัด ผู้ผลิตผัก ผลไม้แช่เย็นสำหรับการจำหน่ายปลีก ส่งออก และส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าปลีกชั้นนำในประเทศ คุณชูศักดิ์ ชื่นประโยชน์ ประธานกรรมการ บริษัทฯ เปิดเผยถึงขั้นตอนสู่ความสำเร็จของบริษัทว่า บริษัทฯ ได้เริ่มนำระบบการจัดการโซ่อุปทานมาใช้เป็นเวลาเกือบ 10 ปี การดำเนินงานต้องมีการดูแลจัดการตั้งแต่ ระบบการเพาะปลูกของเกษตรกร ระบบการขนส่งจากฟาร์มถึงโรงงานผลิต ระบบการควบคุมคุณภาพในการขนส่ง และการกระจายสินค้าไปยังปลายทางทั้งในและต่างประเทศ ความสำเร็จของบริษัทฯ ทำให้สามารถนำสินค้าที่เป็นพืชผักของไทยเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำของยุโรป และญี่ปุ่นได้ นำรายได้เข้าสู่ประเทศนับพันล้านบาทในแต่ละปี และทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงและมีรายได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี

นอกจากนั้น การดำเนินงานระบบดังกล่าว ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการจัดเก็บสินค้าด้ปีละหลายล้านบาท บริษัทไม่เคยประสบปัญหาข้อร้องเรียนจากสินค้าเสียหายหรือไม่ได้คุณภาพ จากลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศ และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น และเนื่องจากระบบจัดการโซ่อุปทานที่ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยในระดับสูง และระบบการจัดการที่มีคุณภาพทั้งองค์กร ทำให้บริษัทฯ มีอำนวจในการนำเสนอสินค้าเข้าสู่ห้างต่างๆ ในต่างประเทศ และมีอำนาจในการต่อรองเงื่อนไขทางการค้าต่างๆ มากขึ้นด้วย คุณชูศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ตนเองมีความเชื่อมั่นว่า หากทุกองค์กรให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เชื่อมั่นและไว้วางใจกันมากขึ้น ในระดับภาคเอกชน ตลอดจนภาครัฐบาลมุ่งให้การสนับสนุน และกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการจัดการต่างๆ ก็จะทำให้ระบบการจัดการโซ่อุปทานสำเร็จขึ้นได้ และภาพการเป็น “ครัวของโลก” ตามนโยบายของรัฐบาล ก็จะเป็นภาพความจริงและเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทุกคนได้อย่างแน่นอน