ดอลลาร์เติมพลัง :หลังเก็งดอกเบี้ยขึ้น

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติสูงสุดในรอบปี 2547 เมื่อเทียบกับเงินยูโรและเงินเยน โดยมีค่าแตะที่อัตราเฉลี่ย 1.22 ดอลลาร์/ยูโร และ 110 เยน/ดอลลาร์ ปัจจัยสำคัญที่หนุนค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การคาดคะเนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ รวมถึงการแสดงความคิดเห็นของผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Alan Greenspan ล่าสุดส่งผลดีแก่ค่าเงินดอลลาร์อีกแรงหนึ่งด้วย ส่วนเงินปอนด์อังกฤษ มีค่ามั่นคงในช่วงแรก เนื่องจากคาดการณ์เกี่ยวกับอังกฤษปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่เงินสเตอร์ลิงมีค่าลดลงในเวลาต่อมาจากความเข้มแข็งของค่าเงินดอลลาร์ สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ยืนหยัดอยู่ที่ระดับ 400 ดอลลาร์/ออนซ์ได้เพียงชั่วขณะ ก่อนที่จะตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจากแรงเทขายของนักลงทุน เมื่อค่าเงินดอลลาร์ทะยานสูงขึ้นอย่างมากในรอบปีนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวมีค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ สรุปได้ ดังนี้

– แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯสูงขึ้น ตลาดเงินและนักลงทุนคาดคะเนว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่เคยเก็งกันไว้ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯค่อนข้างเข้มแข็งเป็นลำดับ โดยเฉพาะดัชนีวัดกิจกรรมอุตภาคอุตสาหกรรมการผลิตเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ระดับ 61.4 ซึ่งเป็นระดับที่น่าพอใจ ในกรณีที่ดัชนีอยู่สูงกว่าเกณฑ์ 50 นอกจากนี้ ดัชนีด้านการจ้างแรงงานยังชี้ว่าภาวะการจ้างงานสดใส โดยดัชนีอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 56.3 สูงสุดตั้งแต่ปี 2530 การที่อัตราการว่างงานสหรัฐฯมีทิศทางที่ชะลอตัวลง นับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิต่อการตัดสินใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

– ความคิดเห็นของ Alan Greenspan ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้แสดงท่าทีว่าการที่ค่าเงินดอลลาร์ลดลง จะมีส่วนช่วยลดยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯเป็นลำดับ แต่ทั้งนี้ ต้องให้ทางการจีนและญี่ปุ่นลดการแทรกแซงค่าเงินหยวนและเงินเยน อีกทั้งนาย Greenspan ยังเริ่มมีความคิดเห็นโอนเอียงเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคล้ายคลึงกับสมาชิกของธนาคารกลางสหรัฐฯคนอื่นๆ

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่ามั่นคงในช่วงแรก เนื่องจากรายงานยอดสินเชื่อผู้บริโภคอังกฤษเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านปอนด์ในเดือนมกราคม สูงสุดในรอบ 8 เดือน ทำให้คาดว่าอังกฤษจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกระลอก จากปัจจุบันอยู่ที่ 4% แต่อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์มีค่าลดลงในเวลาต่อมา เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เพราะความเข้มแข็งของเงินสหรัฐฯ

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ได้รับแรงสนับสนุนอย่างมาก จากราคาทองคำขาวที่พุ่งสูงสุดในรอบ 24 ปี อยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 900 ดอลลาร์/ออนซ์ พลอยทำให้ราคาทองคำและโลหะเงินขยับสูงตามไปด้วย ความเข้มแข็งของราคาทองคำขาว มาจากตลาดเกรงว่าโลหะมีค่าเหล่านี้จะเกิดภาวะขาดแคลน อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำลดลงต่ำกว่า 400 ดอลลาร์/ออนซ์ ในเวลาต่อมา เนื่องจากความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนหันไปถือสกุลเงินดอลลาร์มากขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 1 มีนาคม 2547 เทียบกับวันที่ 3 มีนาคม 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2465 ดอลลาร์/ยูโร (1.2214 ดอลลาร์/ยูโร) 108.97 เยน (110.08 เยน) และ 1.8693 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8312 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2547 เท่ากับ 400.25 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 391.45 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2547