คาดทั้งเฟดและธปท.จะยังไม่ปรับอัตราดอกเบี้ย

ในวันที่ 16 และ 17 มีนาคม 2547 ที่ประชุม Federal Open Market Committee (FOMC) ของสหรัฐ และคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามลำดับ จะมีการประชุมเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ผลการประชุมดังกล่าว ดังต่อไปนี้ :-

การประชุม FOMC: เฟดน่าจะตรึงดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด คงจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.0% (ระดับต่ำสุดในรอบ 45 ปี) ในการประชุม Federal Open Market Committee (FOMC) รอบที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม 2547 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยปัจจัยแวดล้อมประกอบการวิเคราะห์ สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

ตัวเลขเศรษฐกิจหลักของสหรัฐ**

– GDP ไตรมาส 4/2546 เติบโต 4.1% (q-o-q annualized) ลดลงจากการเติบโตที่ 8.2% ในไตรมาส 3/2546 แต่ก็ยังคงเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่า Potential Growth ที่ประมาณ 3.0-3.5% อยู่

– ดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing Index) อยู่ที่ระดับ 61.4 ในเดือน ก.พ. ลดลงจาก 63.6 ในเดือน ม.ค. แต่ก็ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวในภาคการผลิต และอยู่เหนือระดับ 60 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้ว

– ดัชนีภาคการบริการ (ISM Non-manufacturing Index) อยู่ที่ระดับ 60.8 ในเดือน ก.พ. ลดลงจาก 65.7 ในเดือนก่อน แต่ก็ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัวในภาคการบริการ

– อัตราเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ทรงตัวอยู่ที่ 1.9% (y-o-y) ในเดือน ม.ค. ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ทรงตัวอยู่ที่ 1.1% (y-o-y) ต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 1960

– การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payroll) เพิ่มขึ้นเพียง 21,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. น้อยกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 128,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขทบทวนใหม่ในเดือน ม.ค. เพิ่มขึ้น 97,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่เพิ่มขึ้น 112,000 ตำแหน่ง

– อัตราการว่างงาน ทรงตัวอยู่ที่ 5.6% ในเดือน ก.พ.

– ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U. of Michigan Consumer Sentiment Survey) ตัวเลขเบื้องต้นในเดือน มี.ค. อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 94.4 ในเดือน ก.พ.

– ดุลการค้า มียอดขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 43.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือน ม.ค. จากยอดขาดดุลที่ประมาณ 42.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน

– ดุลบัญชีเดินสะพัด มียอดขาดดุลที่ลดลงมาอยู่ที่ 127.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 4/2546 จากยอดขาดดุลที่ 135.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในไตรมาสก่อน

**รวบรวมโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจหลักต่างๆ บ่งชี้ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในด้านภาคการผลิต และภาคการบริการ ดังจะสะท้อนได้จาก อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 4.1% (q-o-q annualized) ในไตรมาส 4/2546 ดัชนีภาคการผลิต และดัชนีภาคการบริการ (ISM Manufacturing Index และ ISM Non-manufacturing Index) ที่อยู่ในภาวะขยายตัว อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจยังคงไม่ได้แข็งแกร่งเท่าที่คาดหวังไว้ โดยเฉพาะตัวเลขในตลาดแรงงาน และฐานะทางด้านต่างประเทศ โดยล่าสุด ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payroll) เพิ่มขึ้นเพียง 21,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ดุลการค้ามียอดการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 43.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม ซึ่งค่อนข้างน่าผิดหวังสำหรับตลาด

ในขณะเดียวกัน ทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่เป็นปัจจัยกดดันให้เฟดต้องเร่งพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะใกล้นี้ โดยล่าสุดในเดือนมกราคม 2547 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) อยู่ที่ระดับ 1.9% (y-o-y) และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) อยู่ที่ระดับ 1.1%

ทั้งนี้ จากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐที่การฟื้นตัวยังไม่ร้อนแรงมากเท่าที่คาด และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่เป็นปัจจัยกดดันต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟด ตลอดจนความกังวลต่อปัญหาการขาดดุลในระดับสูงของดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณของภาครัฐบาล ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด อาจจะถูกเลื่อนออกไป หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นเลยในปีนี้ หากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐยังเพิ่มขึ้นไม่มากพอ (จากเดิมมองว่าเฟดน่าจะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในช่วงกลางปีนี้)

โดยสะท้อนได้จาก การปรับตัวลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประเภทอายุ 10 ปี (U.S. Treasury 10-year) สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือน หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่น่าผิดหวัง อย่างไรก็ตาม การปรับลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอก ได้แก่ ความต้องการถือครองพันธบัตรโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางในภูมิภาค หลังการเข้าแทรกแซงค่าเงินเพื่อประโยชน์ของภาคการส่งออกของตน รวมทั้งอาจเป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์การก่อการร้าย ภายหลังเกิดเหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงความเสี่ยงโดยการหันมาถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น

จากปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า เฟดคงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ไว้ที่ระดับ 1.0% ในการประชุม FOMC วันที่ 16 มีนาคม 2547 นี้ โดยที่ความจำเป็นในการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ยังคงขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการปรับตัวของตัวเลขการจ้างงานและทิศทางอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไป เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังเห็นว่า เฟดน่าจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ประมาณ 0.25-0.50% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อสกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้ร้อนแรงเกินไป (pre-emptive) ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เศรษฐกิจสหรัฐอาจเติบโตประมาณ 4.6% ได้ในปี 2547 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการเติบโตที่ 3.1% ในปี 2546

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน: ธปท.น่าจะตรึงดอกเบี้ย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือธปท. คงจะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร ประเภท 14 วัน (อาร์/พี 14 วัน) ไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) รอบที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 มีนาคม 2547 โดยปัจจัยแวดล้อมประกอบการวิเคราะห์ สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย เศรษฐกิจไทยอาจเติบโตประมาณ 7.2% ในปี 2547 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตที่ประมาณ 6.7% ในปี 2546 โดยมีแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ ประกอบกับ อัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับขึ้นสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจที่อยู่ที่ประมาณ 78-84% โดยคาดว่าอัตราการใช้กำลังการผลิตอาจมีค่าเฉลี่ยทั้งปี 2547 ในช่วง 72-76% หรืออยู่ที่ระดับเกือบ 80% ณ ปลายปี 2547 เพิ่มขึ้นจาก 73% ณ ปลายปี 2546 คาดว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ ผ่านความต้องการสินเชื่อเพื่อขยายธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขสภาพคล่องส่วนเกินที่มีความคล่องสูง หรือสภาพคล่องส่วนเกินที่วัดจากการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์สามารถจะนำกลับมาลงทุนได้โดยที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำ ได้แก่ สินทรัพย์ที่ธนาคารพาณิชย์นำไปลงทุนในตลาดเงิน เงินสดในมือ รวมทั้งเงินสดและเงินฝากในต่างประเทศ แล้ว จะพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์มีสภาพคล่องดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 6.8 แสนล้านบาทในเดือนมกราคม 2547 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ค่อนข้างสูง และคาดว่าจะเป็นปริมาณที่มากพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ (ไม่ว่าจะเป็น การขยายตัวของสินเชื่อ การออกพันธบัตรของทางการ การออกหุ้นกู้ของภาคเอกชน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น) รวมทั้งน่าจะยังไม่เป็นปัจจัยกดดันการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่องของทางการ

ในขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2547 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.4% และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยทั้งปี 2547 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.1% ซึ่งยังคงเป็นระดับที่อยู่ภายในกรอบเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของทางการ น่าจะยังไม่ส่งผลกดดันให้ทางการต้องเร่งพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะใกล้นี้ แม้ว่าปัจจัยทางด้านอุปทาน โดยเฉพาะจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบในระยะสั้น จะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับตัวสูงขึ้นมาที่ 2.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐ ที่อาจถูกเลื่อนออกไปจนกว่าตัวเลขการจ้างงานสหรัฐจะมีแนวโน้มปรับตัวอย่างแข็งแกร่ง นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทางการไทย ทั้งนี้ ฐานะทุนสำรองทางการระหว่างประเทศในระดับที่ค่อนข้างสูง หรือที่ประมาณ 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 4 มีนาคม 2547 น่าจะเป็นระดับที่เพียงพอสำหรับรองรับผลกระทบของการเคลื่อนย้ายเงินทุนสุทธิระหว่างประเทศ ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ประมาณ 0.25-0.50% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยที่ทางการไทยยังไม่จำเป็นต้องขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในทันที

ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 17 มีนาคม 2547 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ธปท.คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วันไว้ที่ระดับ 1.25% โดยปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะมีผลต่อการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยในระยะต่อไป คงจะขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ การปรับขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จะมีผลช่วยดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกจากระบบ และแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ เป็นหลัก

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของตนไว้ที่ระดับเดิม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC ของสหรัฐ และ MPC ของไทย) วันที่ 16 และ 17 มีนาคม 2547 ตามลำดับ ทั้งนี้ ความจำเป็นในการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด คงจะขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลักของสหรัฐในระยะถัดไป โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน และทิศทางอัตราเงินเฟ้อ โดยมีความเป็นไปได้ว่า ภายใต้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ปรับขึ้นในอัตราเร่ง เฟดคงจะยืนอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปจนกระทั่งตัวเลขการจ้างงานส่งสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในที่สุดแล้ว เฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ประมาณ 0.25-0.50% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพื่อสกัดการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป (pre-emptive)

สำหรับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยนั้น ท่ามกลางภาวะสภาพคล่องส่วนเกินระดับสูงในระบบธนาคารพาณิชย์ การพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายให้มีความเข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท. คงจะขึ้นอยู่กับ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย และการปรับตัวของอัตราการใช้กำลังการผลิต ซึ่งจะเป็นปัจจัยช่วยดึงสภาพคล่องส่วนเกินออกไปจากระบบธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะถัดไปด้วย อย่างไรก็ตาม ภายใต้การคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดอาจจะถูกเลื่อนออกไปเป็นในช่วงปลายปี 2547 เป็นอย่างเร็ว ประกอบกับ ฐานะทุนสำรองทางการระหว่างประเทศของไทยที่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ธปท.ยังมีความยืดหยุ่นที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วันไว้ที่ระดับเดิมได้ตลอดทั้งปีนี้