การเติบโตทางการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน กับแนวโน้มของ AFTA

การส่งออกของไทยไปยังอาเซียนมีการเติบโตสูงนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังจากการที่เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมกราคมของปี 2546 ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่น่าจับตามองถึงผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อแนวโน้มการค้าของไทยจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

ในปี 2546 ไทยมีการส่งออกไปยังอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 16,537 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 22 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2547 การส่งออกไปยังอาเซียนยังคงขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นที่ร้อยละ 38 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นตลาดที่มีการส่งออกขยายตัวสูงสุดในปีนี้ แซงหน้าตลาดจีนที่ 2 เดือนแรกการส่งออกขยายตัวร้อยละ 29 ชะลอลงจากร้อยละ 60 ในปี 2546

ในด้านการนำเข้าสินค้าจากกลุ่มอาเซียนในปี 2546 มีมูลค่า 12,490 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15 และในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2547 การนำเข้าสินค้าจากอาเซียนยังคงขยายตัวต่อเนื่องในอัตราร้อยละ 24 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในปี 2546 ไทยมีการค้าเกินดุลกับกลุ่มอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 4,047 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 จากปี 2545

การส่งออกไปยังอาเซียนที่เติบโตสูงกว่าตลาดหลักอื่นๆ ส่งผลให้สัดส่วนของการส่งออกของไทยไปอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.7 ต่อมูลค่าการส่งออกโดยรวมในปี 2545 มาเป็นร้อยละ 20.6 ในปี 2546 และร้อยละ 22.4 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2547 ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากอาเซียนไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก คืออยู่ที่ร้อยละ 16-17

และถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ พบว่า ในปี 2546 ไทยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังภูมิภาคอาเซียนโดยรวมสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีอัตราขยายตัวร้อยละ 22 ขณะที่ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 14 มาเลเซียและอินโดนีเซียขยายตัวประมาณร้อยละ 7 และสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 5

ประเด็นที่น่าสนใจคือ เขตการค้าเสรีอาเซียนจะนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าระหว่างไทยกับอาเซียน ตลอดจนการขยายการค้าระหว่างกันภายในภูมิภาค (Intra-Regional Trade) อย่างยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการส่งออกของไทยในภูมิภาคอาเซียน และปัจจัยที่จะมีผลต่ออนาคตของการค้าภายในภูมิภาคอาเซียนดังต่อไปนี้

จากการวิเคราะห์แนวโน้มการค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจาก AFTA เริ่มต้นเดินหน้าอย่างเป็นทางการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ไทยมีโอกาสที่จะขยายตลาดสินค้าในภูมิภาคอาเซียนได้เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยเกื้อหนุนที่สำคัญคือ

– ไทยมีศักยภาพที่ในการส่งออกสินค้าที่อาเซียนมีความต้องการนำเข้าได้หลายรายการ ซึ่งการลดอุปสรรคทางภาษีน่าจะกระตุ้นให้การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

– การลงทุนจากต่างประเทศ ที่เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตจะช่วยขยายฐานตลาดสินค้าโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเติมจากโครงสร้างสินค้าที่อาเซียนมีการผลิตอยู่แต่ดั้งเดิม ซึ่งผลในทางอ้อมของการลดอุปสรรคทางภาษีผ่านการดึงดูดการลงทุนที่จะไปมีผลต่อการขยายการค้าภายในภูมิภาคนั้น อาจมีมากยิ่งกว่าผลในทางตรงของการลดอุปสรรคทางภาษีที่จะช่วยขยายการค้าในสินค้าที่มีการผลิตอยู่ดั้งเดิม

– ความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ผสานกับแนวทางของรัฐบาลในการกำหนดเป้าหมายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลาง หรือ ฮับของภูมิภาค คาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะให้ไทยขยายตลาดในอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบสำคัญที่รายล้อมด้วยกลุ่มประเทศอินโดจีน และมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าอาเซียนไม่สามารถยืนอยู่ได้ด้วยการพึ่งตัวเองเพียงอย่างเดียว การขยายการพึ่งพาการค้าภายในภูมิภาคคงจะดำเนินไปภายใต้ขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากสาเหตุสำคัญคือ อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา ตลาดสำหรับสินค้าที่ผลิตในอาเซียนก็ยังคงต้องพึ่งพาอุปสงค์จากประเทศภายนอกกลุ่ม โดยเฉพาะตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขณะที่ความต้องการสินค้าของประเทศอาเซียนเอง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทชิ้นส่วนและปัจจัยผลิตขั้นพื้นฐาน เพื่อนำไปผลิตหรือประกอบแล้วส่งออกไปอีกต่อหนึ่ง

นอกจากนี้ ประเทศในอาเซียนหลายประเทศมีโครงสร้างการผลิตสินค้าที่ใกล้เคียงกัน จึงมีการแข่งขันกันเองในตลาดสินค้าหลายรายการ ขณะเดียวกันก็แข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งแต่ละประเทศมีความได้เปรียบที่จะทำให้ได้ประโยชน์จาก AFTA ในระดับที่แตกต่างกัน การกระจายผลประโยชน์สู่ประเทศต่างๆในระดับที่แตกต่างกันอาจมีผลต่อเสถียรภาพและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของการรวมกลุ่มอาเซียน

สำหรับกระแสของการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเดินหน้าเปิดเจรจาเขตการค้าเสรีทวิภาคี (Bilateral FTA) อย่างแข็งขันนั้น ในด้านหนึ่งอาจมีข้อดีคือต้นทุนของการผลิตสินค้าที่ต่ำลงจากการลดอุปสรรคทางภาษีศุลกากรนำเข้าลงนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจและผู้บริโภคในอาเซียนโดยรวม รวมทั้งการที่ประเทศที่มีความพร้อมได้เริ่มทำข้อตกลงไปก่อน ข้อตกลงที่ทำไว้อาจนำมาใช้เป็นแม่แบบการเจรจากับประเทศอาเซียนอื่นตามมา ซึ่งจะลดระยะเวลาการเจรจาสำหรับสมาชิกอาเซียนอื่นได้

ขณะเดียวกัน การเจรจาทวิภาคีภายใต้กรอบใหญ่ของการเจรจาความร่วมมือในระดับอาเซียนกับประเทศพันธมิตร เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น น่าจะเป็นการปูทางไปสู่ข้อตกลงการค้าเสรีในกรอบของอาเซียนที่มีเป้าหมายจะจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (EAFTA) ในที่สุด อย่างไรก็ตาม การที่แต่ละประเทศแยกทำข้อตกลงกับพันธมิตรนอกกลุ่มก็อาจทำให้เกิดการเบี่ยงเบนการค้าจากภายในภูมิภาคอาเซียนไปสู่การค้ากับประเทศนอกกลุ่มได้ ถ้าสินค้าจากประเทศคู่เจรจาทวิภาคีเป็นสินค้าที่แข่งขันกันกับสินค้าที่ผลิตได้ในอาเซียน รวมทั้งยังอาจสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของสมาชิกอาเซียน

ประเด็นในเชิงนโยบายที่ประเทศอาเซียนอาจต้องเผชิญต่อไปคือ การดำเนินนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของอาเซียนในระดับประเทศกับการรักษาเป้าหมายร่วมกันของอาเซียน ปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศอาเซียนต่างก็มีความพยายามกำหนดมาตรการที่จะดำเนินการในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศ

ซึ่งในความเป็นจริงบางประเทศอาจกำหนดมาตรการอื่นๆเข้ามาใช้แทนภาษีศุลกากรที่ปรับลดลง ซึ่งยังคงเป็นอุปสรรคทางการค้า ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องแสดงความตั้งใจที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าในทุกรูปแบบลง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้าเสรีและเป็นธรรม ก่อนที่จะก้าวไปสู่ขั้นตอนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economic Community) ภายในปี 2563 ตามที่ได้มีการลงนาม ในปฏิญญาบาหลี (Bali Concord II) ในการประชุมสุดยอดผู้นำ (Asean Summit) ครั้งที่ 9 เมื่อเดือนตุลาคม 2546 ที่ผ่านมา