พวงมาลัยดอกมะลิ : สินค้าขายดีช่วงเทศกาลสงกรานต์

ปัจจุบันนอกจากดอกมะลิจะเป็นสัญญลักษณ์ของวันแม่แล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์คนไทยนิยมซื้อพวงมาลัยดอกมะลิเพื่อไหว้พระและสิ่งศักสิทธิ์ นอกจากนี้พวงมาลัยดอกมะลิยังเป็นที่นิยมของคนไทยนำไปไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์บรรดาร้านดอกไม้ต้องจัดเตรียมพวงมาลัยไว้รองรับความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และพวงมาลัยดอกมะลิมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทีเดียว รวมทั้งบรรดาผู้ที่เข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ยังนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัยเส้นเดียวโดยการร้อยดอกต่อๆกันเพื่อนำมาคล้องคอ ซึ่งเข้ากันได้ดีกับชุดพื้นเมืองในการเทศกาลสงกรานต์ด้วย

มะลิเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่นับวันมีความสำคัญมากขึ้น ประโยชน์ที่ได้รับจากมะลิ เช่น เก็บดอกสำหรับทำพวงมาลัย ดอกไม้แห้ง อุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น นอกจากการใช้ประโยชน์จากดอกมะลิแล้วส่วนต่างๆของต้นมะลิเช่น ดอกสด ดอกแห้ง ใบสด ต้น ราก เป็นต้น ก็ยังนำมาใช้เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคได้ เช่น มะลิซ้อนดอกสดใช้รักษาโรคตาเจ็บ แก้ไข้ตัวร้อนและแก้หวัด ดอกแห้งใช้ปรุงเป็นสารแต่งกลิ่น ใบสดนำมาตำให้ละเอียดจะช่วยรักษาแผลพุพองและแผลฝีดาษ ต้นใช้รักษาโรคคุดทะราด ขับเสมหะและโลหิต รากนำมาฝนใช้แก้ปวด รักษาโรคร้อนในและอาการเสียดท้อง รากของต้นมะลิวัลย์ใช้เป็นยาถอนพิษต่างๆได้ เป็นต้น มะลินั้นมีหลายสายพันธุ์ เช่น มะลิลา มะลิฉัตร มะลิพวง เป็นต้น แต่มะลิที่นิยมปลูกเพื่อเด็ดดอกจำหน่ายนั้นคือ มะลิลา โดยพันธุ์ที่ส่งเสริมและนิยมปลูกมี 3 พันธุ์คือ พันธุ์แม่กลอง พันธุ์ราษฎร์บูรณะ และพันธุ์ชุมพร ซึ่งพันธุ์ที่นิยมมากคือ พันธุ์ราษฎร์บูรณะ เนื่องจากให้ดอกดก และทยอยให้ออกดอกตลอดทั้งปี

พื้นที่การปลูกมะลิในเชิงการค้าของประเทศไทยมีประมาณ 4,000 ไร่ แหล่งปลูกอยู่ในเขตรอบๆกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของดอกมะลิ โดยเฉพาะจังหวัดนครปฐมซึ่งคาดว่าเกือบร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกมะลิในเชิงการค้าทั้งประเทศ นอกจากนั้นมีการปลูกมะลิในเชิงการค้าที่มีพื้นที่ปลูกเกิน 100 ไร่ ได้แก่จังหวัดนครสวรรค์ กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีการปลูกมะลิกระจายอยู่ทุกจังหวัดแต่ไม่ได้เป็นการปลูกในลักษณะเป็นแปลงขนาดใหญ่เท่านั้น ผลผลิตของดอกมะลิจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับอายุของต้นมะลิ กล่าวคือ ถ้าต้นมะลิอายุ 1 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1,000 – 2,000 ลิตร/ไร่ อายุ 2 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 – 4,000 ลิตร/ไร่ อายุ 3 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3,000 ลิตร/ไร่ และหลังจากนั้นแล้วผลผลิตจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ

ตลาดของดอกมะลิตลาดใหญ่อยู่ที่ตลาดปากคลองตลาด และร้านดอกไม้โดยทั่วไปตามท้องตลาด ซึ่งมะลิจะให้ดอกมากในฤดูร้อนและฤดูฝนแล้วจะน้อยที่สุดในฤดูหนาว ดังนั้นราคาของดอกมะลิในช่วงฤดูหนาวจะแพงมากบางปีตกราวลิตรละ 600-700 บาท(ราคาที่ปากคลองตลาด) ส่วนฤดูร้อนและฤดูฝนเฉลี่ยราคาลิตรละ 30 บาท ซึ่งในช่วงที่ดอกมะลิขาดตลาดนั้นราคาดอกมะลิเคยพุ่งขึ้นไปสูงถึงลิตรละ 600-700 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยของดอกมะลิที่เกษตรกรปลูกและความต้องการดอกมะลิที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เกษตรกรที่ปลูกมะลิก็มีรายได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ส่วนบรรดาร้านขายพวงมาลัยก็มีรายได้เป็นกอบเป็นกำเช่นกัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เคยทำการสำรวจพฤติกรรมการซื้อพวงมาลัยของคนกรุงเทพฯ พบว่าในแต่ละปีคนกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายในการซื้อพวงมาลัยประมาณ 500 ล้านบาท โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายรวมแต่ละครั้งในการซื้อพวงมาลัยประมาณ 15-25 บาทร้อยละ 32.9 ค่าใช้จ่ายรวม 30-40 บาทร้อยละ 23.0 ค่าใช้จ่ายรวมต่ำกว่า 10 บาทร้อยละ 16.8 ค่าใช้จ่ายรวม 45-60 บาทร้อยละ 16.3 และค่าใช้จ่ายรวมเกิน 60 บาทขึ้นไปร้อยละ 11.0 และส่วนใหญ่จะซื้อเฉลี่ยอาทิตย์ละครั้ง

ซึ่งโดยปกติกลุ่มตัวอย่างมักซื้อพวงมาลัยไปเพื่อบูชาพระสูงถึงร้อยละ 49.9 รองลงมาเป็นการสักการะศาลพระภูมิหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร้อยละ 25.4 สักการะรัชกาลที่ 5 ร้อยละ 18.1 แก้บนร้อยละ 6.4 และอื่นๆอีกร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตามในช่วงเทศกาลสงกรานต์พวงมาลัยก็เป็นหนึ่งในสินค้ายอดนิยมทั้งเพื่อไหว้พระและสิ่งศักสิทธิ์ นอกจากนี้พวงมาลัยดอกมะลิยังเป็นที่นิยมของคนไทยนำไปไหว้บิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ด้วย ความต้องการพวงมาลัยดอกมะลิในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ทำให้ผู้ที่ต้องการใช้อาจจะต้องมีการสั่งล่วงหน้าหรือต้องไปเข้าคิวรอ โดยเฉพาะร้านที่มีฝีมือในการร้อยที่สวยงาม ซึ่งเทศกาลสงกรานต์นับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่บรรดาร้านขายพวงมาลัยและดอกไม้สดสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

ประเด็นที่น่าสนใจคือในปัจจุบันไทยมีการส่งออกดอกมะลิทั้งในรูปของดอกมะลิ ต้นมะลิและในรูปของพวงมาลัย โดยมูลค่าการส่งออกในแต่ละปีเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านบาท โดยการส่งออกเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปของพวงมาลัย กล่าวคือส่งออกในรูปพวงมาลัยร้อยละ 85.0 ส่งออกในรูปของดอกมะลิร้อยละ 10.0 และส่งออกในรูปของต้นมะลิร้อยละ 5.0 โดยตลาดพวงมาลัยที่สำคัญคือ สหรัฐฯและญี่ปุ่น ส่วนตลาดของดอกและต้นมะลิที่สำคัญคือ เนเธอร์แลนด์ สหรัฐฯ และเบลเยี่ยม

มะลินั้นกลายเป็นไม้ดอกเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในแต่ละปีไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศจากการจำหน่ายในลักษณะพวงมาลัยซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทยโดยเฉพาะการไหว้พระและสักการะสิ่งศักสิทธิ์ และในช่วงเทศกาลสงกรานต์พวงมาลัยดอกมะลิก็เป็นตัวแทนแสดงความเคารพของคนไทยต่อบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ ซึ่งทำให้พวงมาลัยดอกมะลิเป็นสินค้าหนึ่งที่ขายดิบขายดีในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2547 นี้