เครก บาร์เรตต์ ชี้เอเชียอาคเนย์จะก้าวหน้าด้วยการเปลี่ยนรูปแบบการศึกษา

กรุงเทพฯ – ประธานกรรมการฝ่ายบริหารของอินเทล คอร์ปอเรชั่น ดร.เครก บาร์เรตต์ เชื่อมั่นว่า นานาประเทศในแถบเอเชียอาคเนย์จำเป็นต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ให้พร้อมสำหรับการแข่งขันและการก้าวไปสู่ความสำเร็จในระดับโลก

ดร.บาร์เรตต์ ได้กล่าวอภิปรายในระหว่างการเยือนประเทศมาเลเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้จะช่วยให้เยาวชนสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างถ่องแท้และพัฒนาทักษะของตนในระดับสูงขึ้นเพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคต รวมทั้งเป็นการสร้างพื้นฐานของความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้แก่ภูมิภาคนี้ในระยะยาว

“เทคโนโลยีดิจิตอลใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาขึ้นมา ตลอดจนการผสมผสานเชื่อมโยงกันระหว่างคอมพิวเตอร์กับเทคโนโลยีการสื่อสารกำลังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน รวมทั้งการบริโภคข่าวสารและความบันเทิงของผู้คนทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน” ดร.บาร์เรตต์ กล่าว “การนำเทคโนโลยีมาผสานเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นการช่วยเปิดมิติใหม่ที่น่าตื่นเต้นของการเรียนรู้ ทำให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้มีการพัฒนาความรู้และทักษะซึ่งจะนำไปสู่การคิดค้นสิ่งใหม่ๆ และการประสบความสำเร็จในชีวิต ในขณะที่สภาพการแข่งขันในอนาคตนับวันจะสูงขึ้นเรื่อยๆ”

ในการเตรียมพร้อมสำหรับโลกดิจิตอลในอนาคตนั้น ดร.บาร์เรตต์ เรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เน้นการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษา และหนึ่งในโครงการที่แต่ละประเทศควรเร่งดำเนินการก็คือ การทุ่มเทความพยายามในการอบรมครูเพื่อให้มีทักษะและความเข้าใจที่จะนำ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยในการสอนในชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และประสบผลสำเร็จในการศึกษามากยิ่งขึ้น

“อินเทลได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะร่วมมือกับภาครัฐของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ในการจัดอบรมบุคลากรครูให้รู้จักการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้าไปประกอบในการวางแผนการสอนให้ได้จำนวน 1 ล้านคน นำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสารแบบไร้สายไปสู่โรงเรียนจำนวน 100,000 แห่ง และเพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนให้ได้ถึงจำนวน 10 ล้านเครื่อง” ดร.บาร์เรตต์ กล่าวเสริม

ดร.บาร์เรตต์ ยังเร่งเร้าให้รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคนี้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณของประเทศ ดำเนินการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ภายในห้องเรียน โดยเฉพาะเทคโนโลยีแบบไร้สายอย่างเร่งด่วน รวมทั้งให้เน้นความสำคัญของการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมทั้งการเรียนรู้ด้วยรูปแบบการตั้งคำถามให้นักเรียนค้นคว้าวิจัยหรือที่เรียกว่า inquiry-based learning

“ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ นักการศึกษา และภาคเอกชนในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผสมผสานในกระบวนการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง ส่งผลให้มีการพัฒนาทักษะและความสามารถในการแข่งขันของคนรุ่นใหม่” ดร.บาร์เรตต์กล่าว

ดร.บาร์เรตต์ กล่าวเสริมอีกว่า การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แบบไร้สายเข้าไปสู่สถานศึกษาจะเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวางแผนการสอน และเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำ เทคโนโลยีรูปแบบอื่นๆ เข้ามาสู่ห้องเรียนมากยิ่งขึ้นด้วย

ที่ผ่านมาอินเทลได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่วข้องกับการศึกษาของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ ดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย ภายใต้แนวคิด Intel? Innovation in Education ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นของอินเทลในการช่วยประเทศเหล่านี้พัฒนาเยาวชนให้พร้อมที่จะเป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพสำหรับโลกอนาคต อินเทลได้ดำเนินโครงการ Intel? Teach to the Future ซึ่งเป็นการอบรมาครูให้มีทักษาในการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ในการสอนอย่างมีประสิทธิภาพไปแล้วมากกว่า 78,000 คน ทั่วภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ นอกจากนี้อินเทลยังสนับสนุนการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ในระดับประเทศในประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ซึ่งผู้ชนะจากการแข่งขันเหล่านี้จะได้มีโอกาสไปชิงชัยในเวทีระดับโลกต่อไปในงานแข่งขัน Intel International Science and Engineering Fair ส่วนในด้านการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นมหาวิทยาลลัยและงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สาขาสำคัญๆ นั้น อินเทลก็ได้มีโครงการความร่วมมือกับประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์

Intel เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของอินเทล คอร์ปอเรชั่น หรือของสำนักงานสาขาอินเทลที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาและในประเทศอื่นๆ ขอสงวนสิทธิ์