ฟาสต์ฟู้ดส์ ’47 : แข่งเดือด…กระแสสุขภาพมาแรง

ในปี 2547 คาดว่าอัตราการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์เริ่มกระเตื้องขึ้น โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 จากในช่วงระยะ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ที่มีอัตราการขยายตัวของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์อยู่ในระดับเฉลี่ยร้อยละ 5-7 เท่านั้น

แม้ว่าในช่วงไตรมาสแรกธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ทำให้ยอดจำหน่ายลดลง แต่ก็เป็นผลกระทบในระยะสั้น เนื่องจากทางผู้ประกอบการก็มีการประชาสัมพันธ์เรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลให้โดยภาพรวมทั้งปีแล้วธุรกิจนี้ยังคงมีอัตราการขยายตัวในเกณฑ์ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง นอกจากนี้ธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะผู้บริโภคเริ่มสนใจในเรื่องโภชนาการและคุณค่าของอาหารมากขึ้น ดังนั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ด้วยการปรับเมนูอาหารที่หันไปเน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่ามูลค่ารวมของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ในปี 2547 เท่ากับ 14,500 ล้านบาท และอัตราการขยายตัวน่าจะอยู่ที่ร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับธุรกิจร้านอาหารโดยรวมที่มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านบาท แล้วธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์คิดเป็นเพียงร้อยละ 14.0 เท่านั้น ดังนั้นธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมากโดยการปรับกลยุทธ์เพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจร้านอาหารให้มากยิ่งขึ้น

ฟาสต์ฟู้ดส์จัดเป็นธุรกิจร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant : QSR) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ดังนี้

1.กลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์อาหารหนัก(Hard Fastfood) คาดว่ามูลค่าตลาดของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอาหารหนักในปี 2547 เท่ากับ 12,000 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 83 ของมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด ซึ่งกลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์อาหารหนักยอดนิยม 3 อันดับแรกในปัจจุบันคือ ไก่ แฮมเบเกอร์ และพิซซ่า นอกจากนั้นจะเป็นฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ เช่น ฟาสต์ฟู้ดส์อาหารทะเล เป็นต้น แต่ก็มีสัดส่วนทางการตลาดที่น้อยมาก ปัจจุบันสีสันของการแข่งขันในกลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์อาหารหนักส่วนใหญ่จะอยู่ที่ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ และพิซซ่า ดังนี้

1.1.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 43 ของมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด โดยคาดว่ามูลค่าของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ในปี 2547 เท่ากับ 6,200 ล้านบาท ซึ่งการแข่งขันจะอยู่ที่ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ทอด และคาดว่ามีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10 ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการที่คนไทยคุ้นเคยกับการบริโภคไก่ เมื่อเทียบกับฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 นี้ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตไข้หวัดนก ซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดจำหน่าย แต่ก็มีการเร่งประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงมาตรฐานความปลอดภัยของแหล่งเลี้ยงที่ส่งไก่มาป้อนบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทไก่ ทำให้คาดว่ายอดจำหน่ายฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้ในช่วงสามไตรมาสหลังจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี

1.2.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์ คาดว่ามูลค่าตลาดของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทแฮมเบเกอร์ในปี 2547 เท่ากับ 2,900 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 20.0 ของมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด และคาดว่ามีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ในปัจจุบันการแข่งขันในฟาสต์ฟู้ดส์กลุ่มนี้ไม่ดุเดือดมากนัก เนื่องจากมีผู้นำตลาดที่ชัดเจน เพียงแต่มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อย้ำจุดยืนความเป็นผู้นำตลาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกิจกรรมการแลกซื้อสินค้าพรีเมี่ยมซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากของผู้บริโภค

1.3.ฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทพิซซ่า คาดว่ามูลค่าตลาดของฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทพิซซ่าในปี 2547 เท่ากับ 2,900 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20.0 ของมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด และคาดว่ามีขยายตัวร้อยละ 20.0 การแข่งขันในธุรกิจพิซซ่าเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กต้องพยายามสร้างจุดแตกต่างและความแข็งแกร่งเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดเอาไว้ พฤติกรรมการรับประทานพิซซ่าจะแตกต่างจากการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ ส่วนใหญ่จะรับประทานกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 2-4 คน และความถี่ในการรับประทานก็น้อย ซึ่งกลายเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจ ดังนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ต้องเร่งทำคือ การสร้างกิจกรรมเพื่อเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริโภคมากขึ้น

ดังนั้นจึงมีการเปิดช่องทางการจำหน่ายใหม่ในร้านสะดวกซื้อในปั๊มน้ำมัน และในซุปเปอร์มาร์เก็ต โดยการเข้าไปตั้งจุดขายที่ใช้พื้นที่ประมาณ 10 ตารางเมตร เน้นการจำหน่ายในลักษณะซื้อกลับบ้าน(Take Home) ซึ่งถือว่าเป็นการอุดช่องว่างทางการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เน้นตลาดนั่งรับประทานในร้านและการให้บริการส่งนอกสถานที่ และเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเน้นการจำหน่ายปลีกโดยซื้อเพียง 1 ชิ้นก็ได้ไม่จำเป็นต้องซื้อยกทั้งถาด ผลที่ตามมาคือยอดขายของผู้ประกอบการรายเล็กเพิ่มขึ้น และชื่อเสียงของผู้ประกอบการรายเล็กเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครายย่อย รวมทั้งกลยุทธ์การจำหน่ายร่วมกันกับฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทอื่นๆ หรือที่เรียกันว่ากลยุทธ์แบบมัลติแบรนด์ ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในการเพิ่มความถี่ในการเข้ามาใช้บริการ

2.กลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์อาหารเบา(Light Fastfood) คาดว่าในปี 2547 กลุ่มฟาสต์ฟู้ดส์อาหารเบามีมูลค่าตลาดประมาณ 2,500 ล้านบาทหรือร้อยละ 17 ของมูลค่าธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ทั้งหมด การแข่งขันจากคู่แข่งโดยตรงนั้นไม่ค่อยรุนแรง ส่วนการแข่งขันจากคู่แข่งทางอ้อมนั้นส่งผลอย่างมากต่อยอดจำหน่าย ทำให้ผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ประเภทนี้ต้องเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอด โดยธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์อาหารเบาแยกเป็นดังนี้

2.1.โดนัท คาดว่ามูลค่าตลาดธุรกิจโดนัทในปี 2547 เท่ากับ 1,500 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 10 คู่แข่งหลักในตลาดมีเพียง 2 รายคือ ดังกิ้นโดนัทและมิสเตอร์โดนัท แต่ก็มีคู่แข่งทางอ้อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มเบเกอรี่ และร้านกาแฟพรีเมี่ยม ซึ่งพยายามเข้ามาเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาด ทำให้ผู้ประกอบการในตลาดต้องปรับตัวรับกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะการเพิ่มจุดจำหน่ายกาแฟและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มทางเลือกให้มากขึ้นสำหรับลูกค้า

2.2.ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟหมายถึงไอศกรีมประเภทครีมที่กดจากเครื่อง ซึ่งจำหน่ายในลักษณะบรรจุโคน ไอศกรีมประเภทนี้มีจำหน่ายทั้งในร้านฟาสต์ฟู้ดส์ และกลุ่มร้านค้าในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะร้านดิสเคานต์สโตร์ คาดว่าในปี 2547 มูลค่าของไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์เท่ากับ 1,000 ล้านบาท และคาดว่ามีอัตราการขยายตัวของตลาดเท่ากับร้อยละ 5-7 ปัจจุบันมีการพัฒนารสชาติไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟออกมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการเสริมรูปแบบโดยการตั้งเป็นเคาน์เตอร์แยกออกมาต่างหากเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ซึ่งไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟนี้ช่วยสร้างรายได้ให้ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี เป้าหมายของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์นั้นไม่ได้คาดว่าจะมีการขยายบริการไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟไปเป็นร้านจำหน่ายไอศกรีมโดยเฉพาะแต่จุดมุ่งหมายของการเพิ่มบริการไอศกรีมของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์คือ ต้องการเสริมความสมบูรณ์ให้กับเมนูหลักของร้าน และเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น

แนวโน้มตลาดฟาสต์ฟู้ดส์ที่น่าสนใจมีดังนี้

1.การแข่งขันจากคู่แข่งทางอ้อม นอกจากการแข่งขันจากคู่แข่งขันโดยตรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ด้วยกันเองที่เป็นไปอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด โดยกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยมใช้อย่างมากคือ กลยุทธ์ทางด้านราคา ผู้ประกอบการในธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งทางอ้อม โดยคู่แข่งทางอ้อมที่น่าจับตามองคือ ร้านอาหารที่จำหน่ายในฟู้ดส์เซ็นเตอร์ในห้างสรรพสินค้า เนื่องจากนับว่าเป็นอาหารจานด่วนเช่นเดียวกันแต่ราคาถูกกว่ามาก ดังนั้นบรรดาผู้ประกอบการฟาสต์ฟู้ดส์จึงมีการใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาโดยมีเป้าหมายให้ราคาใกล้เคียงกับอาหารที่จำหน่ายอยู่ในฟู้ดเซ็นเตอร์ให้มากที่สุด และพยายามลดต้นทุนโดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการบริหาร

บรรดารถเข็นขายอาหารนานาชนิด โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจทำให้มีผู้ประกอบการรายย่อยเข้ามาลงทุนจำหน่ายอาหารมากขึ้น ซึ่งร้านอาหารประเภทรถเข็นนั้นมีข้อได้เปรียบตรงที่มีความหลากหลายของชนิดอาหาร ทำเลที่ตั้ง และราคาถูกกว่าด้วย ดังนั้นในท่ามกลางสภาพผู้บริโภคยังเน้นประหยัดค่าใช้จ่าย กปอรกับการที่บรรดาร้านอาหารประเภทนี้มีการปรับกลยุทธ์ โดยเฉพาะการเข้ามาจำหน่ายอาหารรถเข็นหรือแผงอาหารในลักษณะเป็นแฟรนไชส์ ซึ่งเท่ากับเป็นการยกระดับอาหารประเภทนี้โดยเฉพาะในเรื่องความสะอาดและรสชาติของอาหาร ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้มากขึ้น ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์อาหารไทย เนื่องจากกำลังมาแรงตามกระแสนิยมอาหารไทย และคุณค่าทางโภชนาการที่ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีการเปิดร้านฟาสต์ฟู้ดส์อาหารไทย โดยเฉพาะร้านจำหน่ายข้าวราดแกง และร้านจำหน่ายอาหารประเภทยำต่างๆ ธุรกิจอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง ธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากคนไทยเริ่มยอมรับอาหารประเภทนี้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าการเติบโตของคู่แข่งขันทางอ้อมประเภทต่างๆล้วนส่งผลต่อยอดจำหน่ายของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์

2.พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงสุขภาพและคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งกรณีที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือในตลาดสหรัฐฯผู้บริโภคเริ่มหันไปนิยมร้านอาหารประเภทที่เน้นทั้งความรวดเร็วในการให้บริการและความสะดวกสบายของผู้บริโภค(Quick-Casual) โดยร้านอาหารประเภทนี้จะมีเมนูให้เลือกที่หลากหลายมากกว่าร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ และบางร้านยังให้ผู้บริโภคเป็นผู้เลือกเครื่องปรุงได้เองตามความต้องการ ในสหรัฐฯอัตราการขยายตัวของร้านอาหารประเภท Quick-Casual ในแต่ละปีสูงถึงร้อยละ 25 ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ 3 ปี ในขณะที่อัตราการขยายตัวของร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์อยู่ในระดับร้อยละ 2-3 ต่อปีเท่านั้น ร้านอาหารประเภทนี้เป็นที่นิยม เนื่องจากผู้บริโภคเล็งเห็นว่าร้านอาหารประเภทนี้เติมช่องว่างที่หายไปของอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ โดยเฉพาะคุณค่าทางโภชนาการและเป็นอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำกว่า

ภาพลักษณ์ของอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ในสายตาของผู้บริโภคคือ เป็นอาหารมีปริมาณไขมันและเกลือสูง โดยในสหรัฐฯมีกรณีการฟ้องร้องร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ชื่อดังเพื่อเรียกค่าเสียหายที่ทำให้ผู้บริโภคอ้วนและสุขภาพไม่แข็งแรง ซึ่งทำให้บรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ในสหรัฐฯเริ่มให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของอาหารแต่ละเมนู ทั้งนี้เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริโภค

นอกจากการแข่งขันกันในเรื่องสร้างภาพลักษณ์ในแง่ของการเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการแล้ว บรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์รายใหญ่เริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ในด้านราคาอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่บรรดาร้านฟาสต์ฟู้ดส์นำมาใช้ในช่วงระยะ 2 ปีที่ผ่านมาคือการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการผลิตและเพิ่มเมนูหลากหลายนั้นไม่ได้ผล เนื่องจากมีส่วนทำให้จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการนั้นลดลง เพราะบรรดาฟาสต์ฟู้ดส์ชื่อดังทั้งหลายเริ่มออกห่างจากเมนูหลักดั้งเดิม และไม่ได้เน้นการแข่งขันในเมนูหลักซึ่งเป็นจุดแข็งของแต่ละแห่ง รวมทั้งยังส่งผลให้บริการมีความล่าช้ากว่าเดิม ดังนั้นบรรดาร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์หันมาใช้กลยุทธ์ราคา โดยการให้ส่วนลดสินค้าในบางเมนู

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์มองว่ากลยุทธ์ด้านราคานี้ไม่ใช่คำตอบสำหรับการดำเนินธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากมีการประเมินแล้วว่ากลยุทธ์ดังกล่าวไม่คุ้มค่า และยังบั่นทอนกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย เนื่องจากกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคเกิดความเคยชิน และมีพฤติกรรมการซื้อเฉพาะสินค้าที่ลดราคาแทนที่จะซื้อสินค้าหลากหลายเมนู คำตอบที่แท้จริงสำหรับผู้บริโภคคือ อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนั้นบรรดาร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ในสหรัฐฯเริ่มปรับเพิ่มเมนู โดยเน้นวัตถุประสงค์หลัก คือราคาถูก บริการรวดเร็วและมีคุณค่าทางโภชนาการ

ซึ่งแนวโน้มการปรับตัวของธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์ในสหรัฐฯนี้จะสร้างกระแสการปรับตัวของธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์ไปทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย ตัวอย่างการปรับเมนูได้แก่ บรรดาร้านจำหน่ายแฮมเบเกอร์ที่หันมาจำหน่ายแซนวิชอกไก่และแซนวิชไส้ผัก(Vegetarian Sandwich) การเสริฟ์แฮมเบเกอร์โดยการใช้ใบผักกาดหอมแทนขนมปัง การปรับลดเมนูที่ใช้ขนมปังขาว น้ำอัดลม และของหวาน เป็นต้น ซึ่งทำให้ฟาสต์ฟู้ดส์ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งยังสามารถดึงลูกค้าเก่าที่เคยงดหรือลดการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดส์กลับมา ผลของการปรับเพิ่มเมนูนี้สร้างผลกำไรให้กับธุรกิจฟาสต์ฟู้ดส์อีกครั้ง นอกจากนี้ยังสามารถสร้างผลกำไรได้ดีขึ้น เนื่องจากสามารถลดต้นทุนบางรายการลงได้ โดยเฉพาะต้นทุนด้านผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์

ในปี 2547 นับว่าธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์เริ่มมีการปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งนี้เพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง และปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายใหม่และจะเป็นการชี้ชะตาว่าผู้ประกอบการรายใดมองแนวโน้มตลาดได้อย่างเฉียบขาดก็จะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการที่สามารถดึงส่วนแบ่งตลาดของคู่แข่งมาได้โดยไม่ยากเย็นนัก ธุรกิจร้านอาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดส์นับว่ายังเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ เนื่องจากมูลค่าของตลาดอยู่ในเกณฑ์สูง และยังมีโอกาสในการขยายตลาด แต่จะต้องมีการศึกษาวิจัยทั้งนี้เพื่อค้นคว้าวิจัยเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ ซึ่งยังเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูง