เลห์แมน บราเดอร์ส เผยรายงานล่าสุด ระบบพยากรณ์แนวโน้มการเกิดวิกฤติทางการเงิน

กรุงเทพฯ –: เลห์แมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก เปิดเผยรายงานระบบพยากรณ์วิกฤติทางการเงินล่วงหน้า “เดมอกคลี่ส์” (Damocles) ประจำไตรมาส 1 ปี 2547 ซึ่งเป็นระบบที่ใช้วัดและประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่มีแนวโน้มจะประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน

เลห์แมน บราเดอร์ส ใช้ระบบเดมอกคลี่ส์ในการประเมินระดับความเสี่ยงในการเกิดภาวะวิกฤติทางการเงินของประเทศต่างๆ 17 ประเทศ ซึ่งได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน ฮ่องกง ฮังการี อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ รัสเซีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ไต้หวัน ไทย และตุรกี ทั้งนี้ ประเทศที่ระบบเดมอกคลี่ส์กำหนดค่าความเสี่ยงรวมกันเท่ากับหรือมากกว่า 75 คะแนน หมายถึงว่า สภาพเศรษฐกิจของประเทศนั้นมีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติได้ แต่หากประเทศดังกล่าวมีค่าความเสี่ยงรวมกันเกิน 100 คะแนน หมายความว่า วิกฤติทางเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สำหรับรายงานล่าสุดประจำเดือนมีนาคม 2547 นั้น ระบบเดมอกคลี่ส์ ระบุว่า เม็กซิโก โปแลนด์ และไทย มีค่าความเสี่ยงต่ำสุดคือเท่ากับศูนย์คะแนน ขณะที่ฟิลิปปินส์มีค่าความเสี่ยงสูงสุดคือ 50 คะแนน โดยระบบเดมอกคลี่ส์ สะท้อนว่า ภูมิภาคเอเชียยังคงมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ได้เตือนว่า แม้ขณะนี้เศรษฐกิจมหภาคของตลาดประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางการเงินโดยรวมจะเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่สำคัญอย่างน้อยหนึ่งประการที่ประเทศเหล่านี้ควรให้ความใส่ใจ คือ ปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งระบบเดมอกคลี่ส์นี้ไม่ได้นำมาพิจารณารวมอยู่ด้วย

ไทยได้รับการจัดอันดับดีที่สุดในเอเชีย

ระบบเดมอกคลี่ส์ ชี้ว่า ในเดือนมีนาคม 2547 เศรษฐกิจไทยมีค่าความเสี่ยงเท่ากับศูนย์คะแนน ซึ่งนับเป็นอันดับที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ทั้งนี้ เพราะไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง มีปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ปริมาณหนี้ต่างประเทศต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลดลง มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และมีการปรับปรุงนโยบายทางการเงินของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยห่างไกลจากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะวิกฤติ

นายร็อบ ซับบาราแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียของเลห์แมน บราเดอร์ส กล่าวว่า “เศรษฐกิจไทยขยายตัวอย่างมาก โดยจีดีพีของไทยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 8 ในไตรมาส 4 ของ ปี 2546 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2545 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียรองจากจีน และเมื่อเดือนที่ผ่านมา เลห์แมน บราเดอร์ส ได้ยกระดับการคาดการณ์แนวโน้ม การเติบโตของจีดีพีของไทยในปี 2547 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 7.2 ซึ่งบ่งชี้ว่า ไทยจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเป็นอันดับสองในภูมิภาคเอเชียรองจากจีน”

“อย่างไรก็ดี ไทยจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นเพื่อให้เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นการรักษาอัตราการเติบโตอย่างมีคุณภาพควบคู่ไปด้วย” นายร็อบกล่าวเตือน

ผลสรุปการพยากรณ์วิกฤติทางการเงินสำหรับภูมิภาคเอเชีย

ระบบเดมอกคลี่ส์วิเคราะห์ว่า ภูมิภาคเอเชียมีระบบเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลก โดยในไตรมาสแรกของปี 2547 ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกมีกระแสเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเอเชียเป็นภูมิภาคที่ได้รับความสนใจมากที่สุด ทั้งนี้เอเชียมีการลงทุนในตลาดทุนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารพาณิชย์เริ่มทยอยปล่อยสินเชื่อในระบบเศรษฐกิจอีกครั้ง อีกทั้งภาครัฐและเอกชนยังได้ออกหลักทรัพย์เพื่อการระดมทุนมากยิ่งขึ้น ซึ่งการปรับปรุงนโยบายเชิงโครงสร้าง ตลอดจนเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกในระดับต่ำ ส่งผลให้ระบบเดมอกคลี่ส์จัดอันดับค่าความเสี่ยงของเอเชียเท่ากับ 17

“แต่นักลงทุนก็ไม่ควรประเมินว่า ทุกประเทศในเอเชียจะมีลักษณะเดียวกัน เพราะฟิลิปปินส์ยังคงมีความเสี่ยงในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ” นายร็อบ กล่าว

และแม้ว่าการสะสมปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น และการเติบโตอย่างรวดเร็วจะทำให้ เอเชียมีค่าความเสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม เลห์แมน บราเดอร์ส ได้เตือนว่า การสะสมปริมาณเงินทุนสำรอง เงินตราต่างประเทศดังกล่าวเริ่มมีปริมาณที่มากเกินไป

“ต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการสะสมปริมาณเงินทุนสำรองในเอเชียจะส่งผลเสียต่อประโยชน์ของประเทศโดยรวม” นายร็อบกล่าวเพิ่มเติม

โดยการสะสมเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอย่างรวดเร็วในภูมิภาคเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) อาจเร่งให้มี การเติบโตของปริมาณเงินในประเทศมากเกินไป ซึ่งจะเป็นการลดความสามารถในการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น และจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

เลห์แมน บราเดอร์ส สรุปในตอนท้ายว่า มีแรงกดดันของประเทศที่พัฒนาแล้วต่อการยืดหยุ่นของอัตรา แลกเปลี่ยนของสกุลเงินเอเชีย ซึ่งประเทศในเอเชียไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงประเทศจีนด้วย

สำหรับสำเนารายงานเรื่อง “ระบบเดมอกคลี่ส์: อย่าละเลยความเสี่ยง” ซึ่งเรียบเรียงโดย นายร็อบ ซับบาราแมน พร้อมด้วย นายรัสเซล โจนส์ และนายฮิโรชิ ชิรายชิ พร้อมนำออกเผยแพร่แก่สื่อมวลชน โดยสามารถติดต่อขอรับได้ที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ เลห์แมน บราเดอร์ส บริษัท อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์จำกัด โทร. 02 252 9871 หรืออีเมล์ s_waraporn@th.bm.com

ระบบ “เดมอกคลี่ส์” (Damocles)

ระบบ “เดมอกคลี่ส์” ประกอบด้วยดัชนีทางการเงินและเศรษฐกิจระดับมหภาค 10 ข้อ ซึ่งผ่านการทดสอบอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่า การประเมินวิกฤติทางการเงินและการธนาคารมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ ระบบพยากรณ์วิกฤติทางการเงิน “เดมอกคลี่ส์” ได้นำวิกฤติทางการเงินที่เคยเกิดขึ้นในเอเชีย ยุโรป และ ละตินอเมริกา มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดค่าและความสำคัญของดัชนีทั้ง 10 ข้อ หากดัชนีทั้ง 10 ข้อมีคะแนนรวมกัน 75 คะแนน หรือสูงกว่านั้น “เดมอกคลี่ส์” จะส่งสัญญาณเตือนว่า ดุลการชำระเงินของประเทศนั้นๆ มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติได้ หากคะแนนรวมกันมากกว่า 100 คะแนน หมายความว่า วิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ระบบเดมอกคลี่ส์ มีดัชนีชี้วัด 10 ข้อ คือ 1) เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ/การนำเข้า (foreign reserve/imports) 2) เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ/หนี้ต่างประเทศระยะสั้น (foreign reserves/short-term external debt) 3)หนี้ต่างประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (external debt as a percentage of GDP) 4)หนี้ต่างประเทศระยะสั้นคิดเป็นร้อยละของการส่งออก (short-term external debt as a percentage of exports) 5) ดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (current account as a percentage of GDP) 6) ปริมาณเงิน/เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ(broad money/foreign reserves) 7)สินเชื่อภาคเอกชนในประเทศคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (domestic private credit as a percentage of GDP) 8) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่แท้จริง (real short-term interest rate) 9) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (stock market index) และ 10) อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้า (real trade-weighted exchange rate)

เลห์แมน บราเดอร์ส (ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค: LEH) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2393 เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในธุรกิจการเงินของโลก โดยเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่บริษัทเอกชน รัฐบาล และองค์กรของรัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าประเภทสถาบันและประเภทบุคคลชั้นนำทั่วโลก เลห์แมน บราเดอร์ส ยังเป็นผู้นำในด้านการขายหุ้นทุนและตราสารหนี้ การซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน การให้บริการปรึกษาเพื่อร่วมทุน และการให้บริการลูกค้าส่วนบุคคลระดับสูง เลห์แมน บราเดอร์ส มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว และมีการดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายสำนักงานซึ่งมีอยู่ทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลห์แมน บราเดอร์ส สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทได้ที่ www.lehman.com