เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าแกว่งอยู่ในช่วงแคบ 1.18-1.19 ดอลลาร์/ยูโร และมีค่าขยับสูงขึ้นเหนือ 110 เยน เป็นผลสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิต่อค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจีน นาย Wen Jiabao ที่จำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้มีการเทขายสกุลเงินของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ดอลลาร์ออสเตรเลียและดอลลาร์แคนาดา ฯลฯ โดยหันไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯแทน
ขณะเดียวกัน เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าแข็งแกร่งในช่วงแรก เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางอังกฤษแสดงท่าทีว่าอาจมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ค่าเงินปอนด์อ่อนตัวในเวลาต่อมา เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ทรุดต่ำลงอย่างหนัก หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนมีแนวคิดที่จะชะลอภาวะเศรษฐกิจจีน ทำให้กลัวว่าความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์จากจีนลดลงด้วย
เงินดอลลาร์สหรัฐ มีค่าพุ่งสูงสุดในรอบ 5 เดือน เมื่อเทียบกับเงินยูโรในช่วงต้นสัปดาห์ โดยแตะที่อัตราเฉลี่ยราว 1.17 ดอลลาร์/ยูโร เพียงชั่วขณะ เนื่องจากรายงานยอดสั่งซื้อสินค้าถาวรของสหรัฐฯสดใส ตอกย้ำให้ตลาดมั่นใจว่าสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในไม่ช้านี้ แต่เมื่อรายงานการสำรวจภาวะธุรกิจของเยอรมันประกาศในเวลาต่อมา ชี้ว่าดัชนีเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ ช่วยผลักดันให้ค่าเงินยูโรกระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็ว และกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.18 ดอลลาร์/ยูโร ในที่สุด
เป็นที่น่าเสียดายว่า เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนไหวต่อเนื่อง เมื่อตลาดเงินไม่ได้ให้ความสนใจรายงานดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐฯเดือนเมษายนที่พุ่งขึ้นอยู่ในระดับ 92.9 จากระดับที่ 88.5 ในเดือนมีนาคม รวมถึงรายงานยอดขายบ้านเดือนมีนาคมที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่เก็งกันไว้ นอกจากนี้ การที่กรรมการผู้จัดการธนาคารกลางยุโรป นาย Jean-Claude ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจกลุ่มยูโรฟื้นตัว เป็นอีกแรงหนึ่งที่ฉุดให้ค่าเงินยูโรเข้มแข็ง และยับยั้งความเข้มแข็งของค่าเงินดอลลาร์
ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์กระเตื้องขึ้นอีกครั้ง เป็นผลจากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจีน Wen Jiabao ที่ให้ความสัมภาษณ์สำนักข่าวชั้นนำ Reuters เกี่ยวกับการที่รัฐบาลจีนจำเป็นต้องชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งในไตรมาสแรกมีอัตราการเติบโตสูงถึง 9.7% ทั้งๆที่ทางการจีนได้พยายามใช้มาตรการยับยั้งบางประการแล้ว แต่ยังไม่ได้ผลเต็มที่ ทำให้รัฐบาลจีนประกาศที่จะเข้มงวดอย่างจริงจัง การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีจีนส่งผลให้นักลงทุนมีการเทขายสกุลเงินของประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์แคนาดา เป็นต้น เนื่องจากคาดว่าประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆลดน้อยลง และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะตกต่ำลงด้วย
ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์กลับมีค่าแผ่วลง เพราะตลาดเงินผิดหวังกับรายงานอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศสหรัฐฯ ในไตรมาสแรก 2547 อยู่ในระดับราว 4.2% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดเงินคาดการณ์ไว้ที่อัตรา 5.0%
เงินปอนด์อังกฤษ ได้รับผลดีในช่วงแรกจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากธนาคารกลางอังกฤษ นาย Paul Tucker ที่เห็นว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอังกฤษยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำก็ตาม เพราะตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยอังกฤษน่าจะอยู่ในช่วง 5.0-5.50% แต่อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์มีค่าลดลงในเวลาต่อมา เมื่อมีรายงานข่าวเกี่ยวกับภัยการก่อการร้ายในประเทศ ทำให้มีการเทขายเงินปอนด์ออกมาในที่สุด
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ หล่นลงอย่างมาก จากราคาซื้อขายเฉลี่ยราว 396 ดอลลาร์/ออนซ์ ในช่วงต้นสัปดาห์ มาอยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ยราว 386 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงท้ายสัปดาห์ เป็นผลจากนักค้าทองคำหวั่นวิตกว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงราคาทองคำมีแนวโน้มลดต่ำลง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีจีนออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการป้องกันเศรษฐกิจฟองสบู่ในประเทศจีน ทำให้คาดว่าทางการจีนจะเหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงจนเกินไป ส่งผลให้ปริมาณความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆอาจชะลอลงตามไปด้วย
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 26 เมษายน 2547 เทียบกับวันที่ 29 เมษายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.1875 ดอลลาร์/ยูโร (1.1981 ดอลลาร์/ยูโร) 108.66 เยน (109.87 เยน) และ 1.7875 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7751 ดอลลาร์/ปอนด์) ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 เท่ากับ 396.60 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 386.70 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2547