ฟื้นความสัมพันธ์ซาอุดิอาระเบีย : พันธมิตรเศรษฐกิจไทย 2547

มิตรภาพระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ที่ห่างเหินกันมานานกว่า 14 ปี มีแนวโน้มแจ่มใส หลังจากที่ทางการซาอุดิอาระเบีย ได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปเยือนในฐานะแขกของรัฐบาลซาอุดิอาระเบียอย่างเป็นทางการ เมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา

นับเป็นสัญญาณที่ดีแก่ประเทศไทยและประเทศซาอุดิอาระเบีย จะได้รื้อฟื้นความสัมพันธ์อันใกล้ชิดอีกครั้ง ทั้งนี้ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้แสดงความกระตือรือร้นในการคลี่คลายปมความบาดหมางระหว่างประเทศทั้งสองอย่างจริงจังและโปร่งใส เพื่อสร้างความไว้วางใจแก่กันและกัน อันจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะปูทางไปสู่ความร่วมมือกันทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก่อให้เกิดความสนิทสนมและความเข้าใจอันดีแก่ประชาชนของทั้งสองประเทศดังเดิม

ซาอุดิอาระเบีย เคยเป็นตลาดรองรับแรงงานไทยอันดับหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 แรงงานไทยเข้าไปทำงานในซาอุฯมากกว่า 100,000 คน ทำรายได้ให้แก่ประเทศเฉลี่ยสูงถึง 9,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงนั้น การหวนกลับมาสร้างความเข้าใจระหว่างกันในขณะนี้ จึงอาจทำให้แรงงานไทยได้มีโอกาสกลับไปทำงานในซาอุดิอาระเบียได้อีกครั้ง ด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มสดใสยิ่งขึ้น หากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปอย่างราบรื่น ปัจจุบัน ซาอุดิอาระเบียเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ใช้จ่ายเงินด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 6,000 บาท/วัน/คน นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปขายมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

จุดเด่นของซาอุดิอาระเบีย 2547

1. เศรษฐกิจสดใส การที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดต่างประเทศเข้มแข็ง ได้ส่งผลให้ประเทศกลุ่มโอเปกมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันมากขึ้น เป็นพลังขับเคลื่อนให้อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของซาอุดิอาระเบียอยู่ในระดับ 4.7% ในปีที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2547 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเฉลี่ยราว 5.0% เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันโลกยังคงสูง ส่งผลให้รัฐบาลมียอดเกินดุลงบประมาณ และมีสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มพูนเป็นมูลค่ารวมเกือบ 60,000 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งสามารถลดหนี้สินของประเทศลงอีกด้วย ทำให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับเพิ่มเครดิตหนี้ระยะยาวในสกุลเงินท้องถิ่นอยู่ในระดับ A+ ตั้งแต่ปีที่แล้ว

2. ต้อนรับการลงทุนต่างประเทศ การที่ซาอุดิอาระเบีย มีมาตรการที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยเน้นการกระจายภาคธุรกิจออกไปยังอุตสาหกรรมประเภทต่างๆมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาธุรกิจน้ำมันอย่างเดียว ตลอดจนสร้างงานให้แก่ประเทศมากขึ้น ส่งผลให้ทางการซาอุดิอาระเบียต้องหาพันธมิตรธุรกิจเพื่อช่วยกันพัฒนาภาคธุรกิจต่างๆอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับแรงงานของประเทศ มาตรการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ 100% โอนเงินกำไรกลับประเทศแม่ได้ ผ่อนผันการจ้างแรงงานท้องถิ่น และลดภาษีเงินได้จาก 45% เหลือ 20% เป็นต้น

3. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลซาอุดิอาระเบีย มีมาตรการแปรรูปกิจการของรัฐเป็นสู่ภาคเอกชน ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมเป้าหมายจำนวนราว 20 แห่ง อาทิ อุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมสื่อสาร การไปรษณีย์ ท่าเรือ การบิน การศึกษา ไฟฟ้า น้ำประปา รถไฟ และการระบายน้ำเสีย เป็นต้น วัตถุประสงค์หลัก ก็เพื่อให้กิจการเหล่านี้สามารถบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนสูงสุด ตัวอย่างกิจการที่ได้รับการแปรรูปไปแล้ว ได้แก่ Saudi Telecommunication Company ในปี 2545 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างคับคั่ง

4. ธุรกิจท่องเที่ยว รัฐบาลซาอุดิอาระเบียวางเป้าหมายให้ธุรกิจท่องเที่ยวเป็นภาคบริการที่มีศักยภาพในการที่จะช่วยดูดซับแรงงานและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติเป็นอย่างดี ทางการมีมาตรการส่งเสริมสำคัญ ได้แก่ ผ่อนปรนกฎระเบียบวีซ่า การลงทุนด้านโรงแรมและรีสอร์ท รวมถึงแหล่งบันเทิงต่างๆ เป็นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2010 คาดธุรกิจท่องเที่ยวจะก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์/ปี ภายใน 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่ท้าทายการพัฒนาเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย ได้แก่ สถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางที่มาจากภัยการก่อการร้าย อาจบั่นทอนการลงทุนและการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ทางการซาอุดิอาระเบีย จำเป็นต้องเร่งรัดระบบการศึกษาอย่างขนานใหญ่ เพื่อปรับปรุงให้แรงงานซาอุดิอาระเบีย สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน หรือเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ บรรเทาปัญหาการว่างงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามโครงสร้างของประชากรประเทศ

ความสัมพันธ์ไทย – ซาอุดิอาระเบีย

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียที่เงียบเหงาในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งสองให้ชะลอตัวลงตามไปด้วย โดยเฉพาะด้านการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างไทย–ซาอุดิอาระเบีย รวมทั้งแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม คาดว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย ทั้งทางด้านการทูตและด้านเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติในไม่ช้า หลังจากที่ทางการไทยปรับความเข้าใจอันดีกับซาอุดิอาระเบีย เพื่อคลี่คลายบรรยากาศอึมครึมตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศชั้นนำในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง การกอบกู้มิตรภาพระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียให้กลับคืนดีดังเดิม จะส่งผลเกื้อหนุนต่อการค้า การท่องเที่ยว และแรงงานระหว่างประเทศทั้งสองให้กระเตื้องดีขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากชาวซาอุดิอาระเบียมีกำลังซื้อสูงมาก รายได้ต่อหัวของประชาชนซาอุดิอาระเบียอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก ประมาณ 9,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง จะช่วยผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบียอย่างต่อเนื่องในปี 2547
ผลดีที่ได้รับจากการฟื้นฟูความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบีย สรุปได้ดังนี้

เจาะตลาดส่งออกซาอุดิอาระเบียเพิ่ม

ซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่ไทยส่งสินค้าออกไปจำหน่ายมากเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รองจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดแห่งนี้ไม่ค่อยสม่ำเสมอนักตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี แต่คาดว่าการส่งออกสินค้าไทยไปซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น หากความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศไทยมีส่วนสนับสนุนซาอุดิอาระเบียในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปี 2547 จะส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียปฏิบัติภายใต้กรอบข้อตกลงของ WTO ให้แก่สินค้าไทยด้วย รายการสินค้าไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการที่ซาอุดิอาระเบียยินยอมลดหย่อนภาษีเบื้องต้น ได้แก่ ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็น-แช่แข็ง เนื้อไก่ ข้าว สับปะรดกระป๋อง เสื้อผ้าสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถปิกอัพ เป็นต้น

ในขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของซาอุดิอาระเบีย ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้กลุ่มสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้สำนักงาน มีแนวโน้มเจาะตลาดผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ยกตัวอย่างในรอบปีที่แล้ว เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ส่งออกขยายตัว 392% รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบพุ่งขึ้น 110% ตู้เย็น-ตู้แช่แข็งเพิ่มขึ้น 100% เป็นต้น

สำหรับหมวดอาหาร ปรากฏว่าขณะนี้ ประเทศไทยมีเป้าหมายส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย โดยมีโครงการจัดตั้งศูนย์กลางการผลิตอาหารฮาลาลในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย เพื่อผลิตอาหารฮาลาลระดับมาตรฐานโลกที่มีคุณภาพสูง คาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลของไทยจะสามารถบุกเบิกตลาดประเทศมุสลิมอย่างกว้างขวางต่อไป

บรรเทายอดขาดดุลการค้าของไทย

น้ำมันดิบเป็นสินค้าอันดับ 1 ที่ไทยนำเข้าจากซาอุดิอาระเบีย คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 70% ของมูลค่านำเข้าสินค้าทั้งหมดจากซาอุดิอาระเบียในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด ในปี 2546 ไทยนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ คิดเป็นมูลค่า 1,681 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 38% ซึ่งมีสาเหตุจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวอยู่ในระดับสูงตลอดปีที่แล้ว ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับซาอุดิอาระเบียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คิดเป็นมูลค่า 1,246 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งขึ้น 52% จากปี 2545 สำหรับในช่วงต้นปีนี้ การนำเข้าสินค้าจากซาอุดิอาระเบียขยายตัว 27% เป็นมูลค่า 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 3 เดือนแรก 2547 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับซาอุดิอาระเบีย 374 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราเพิ่ม 20.2% จากช่วงเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไทยโดยรวมไปซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ดังนั้น หากการส่งออกไทยไปตลาดซาอุฯยังคงสดใสต่อเนื่อง น่าจะช่วยบรรเทายอดขาดดุลการค้าไทยกับซาอุดิอาระเบียได้บ้าง ท่ามกลางวิกฤตราคาน้ำมันแพง ในปีที่ผ่านมาการส่งออกไทยไปซาอุดิอาระเบียเพิ่มขึ้น 10.2% เป็นมูลค่า 435 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังคงขยายตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2547 คิดเป็นอัตราเพิ่ม 49.4% มูลค่าส่งออก 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 3 เดือนแรก 2547

ดึงดูดนักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบีย

ความอึมครึมทางการเมืองระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง คาดว่าจะมีช่วยสนับสนุนให้บรรยากาศการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียให้สดใสเหมือนเดิม เนื่องจากชาวซาอุฯ เป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงสุดในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย โดยใช้จ่ายเงินเฉลี่ยเกือบ 6,000 บาทต่อวันต่อคน ทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทต่อปี

ในช่วงที่ความสัมพันธ์ไทยกับซาอุดิอาระเบียเหินห่าง มีนักท่องเที่ยวซาอุฯเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 10,000-12,000 คน/ปี เทียบกับช่วงระยะเวลาก่อนเกิดความบาดหมางกัน มีจำนวนมากเฉลี่ยราว 50,000 คน/ปี ดังนั้น หากประเทศไทยเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง น่าจะเป็นผลดีแก่การท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจซาอุดิอาระเบียอยู่ในช่วงขาขึ้น ประชาชนนิยมเดินทางออกมาพักผ่อนยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินใช้จ่ายในตลาดต่างประเทศประมาณ 8,000 ล้านดอลลาร์/ปี ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวซาอุฯมักหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาและยุโรป ทำให้ภูมิภาคเอเชียเป็นทำเลหนึ่งที่นักท่องเที่ยวซาอุดิอาระเบียให้ความสนใจมาพักผ่อนหย่อนใจ ประเทศไทยจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าจะดึงดูดชาวซาอุดิอาระเบียให้กลับมาเยือนมากขึ้นเหมือนเดิม

เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวซาอุดิอาระเบียที่เดินทางมาเที่ยวไทยมีจำนวน 9,886 คน ลดลง 31% ในปี 2546 เนื่องจากเกิดการระบาดของไข้ซาร์สในช่วงต้นปี ทำให้ชาวซาอุฯ ชะลอการเดินทางมายังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทยด้วย ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจบั่นทอนการท่องเที่ยวของไทยโดยรวม ดังนั้น ทางการไทยจึงควรเน้นความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเข้มงวด เพื่อสร้างความมั่นใจในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นมาตรการอันดับต้นๆ

ทางด้านนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปซาอุดิอาระเบีย มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง เนื่องจากวิกฤตการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้นักท่องเที่ยวไทยหวั่นเกรงความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน จึงชะลอการเดินทางไปยังภูมิภาคแห่งนี้ นักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปซาอุฯ มีจำนวน 2,642 คนในปี 2546 ถึงแม้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียเริ่มกระเตื้องดีขึ้น ประกอบกับทางการซาอุดิอาระเบียมีมาตรการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่คาดว่าคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อสร้างความไว้วางใจแก่นักท่องเที่ยวชาวไทยให้หวนกลับไปท่องเที่ยวยังภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งซาอุดิอาระเบียด้วย

แรงงานไทยหวนกลับซาอุฯ

สถานการณ์ด้านแรงงานระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียซบเซาลงอย่างมากหลังจากที่เกิดกรณีบาดหมางระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบีย แต่คาดว่าเมื่อประเทศทั้งสองปรับความสัมพันธ์ทางการทูตกลับสู่ระดับปกติ จะเปิดโอกาสให้แรงงานไทยสามารถเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากซาอุดิอาระเบียยังคงมีความต้องการว่าจ้างแรงงานต่างชาติให้เข้าไปช่วยทำงานหลากหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการก่อสร้างและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค-สาธารณูปการต่างๆ รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งโครงการก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและรีสอร์ทระดับหรู สวนสนุก ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯนับจากนี้เป็นต้นไป ถึงแม้ซาอุดิอาระเบียมีคนว่างงานจำนวนมาก แต่คนท้องถิ่นไม่มีความชำนาญในด้านงานก่อสร้างและงานฝีมือ ทำให้แรงงานไทย ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง น่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของซาอุดิอาระเบีย

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียที่คลายความตึงเครียดลง ประกอบกับการที่ซาอุดิอาระเบียจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของ WTO ในช่วงปลายปีนี้ ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียต้องปฏิบัติต่อประเทศไทยอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ จึงมีแนวโน้มที่ทางการซาอุดิอาระเบียจะผ่อนคลายกฎเกณฑ์เข้มงวดให้แก่คนงานไทยในการเดินทางเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบียมากขึ้น

ซาอุดิอาระเบียเคยเป็นขุมทองของแรงงานไทยที่ต้องการไปทำงานหารายได้เป็นกอบเป็นกำ เพื่อสร้างฐานะให้แก่ครอบครัวในเมืองไทย แต่เหตุการณ์ความบาดหมางกัน ทำให้ทางการซาอุดิอาระเบียงดออกใบอนุญาตให้แก่แรงงานไทยรายใหม่ที่จะเข้าไปทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ส่งผลให้แรงงานไทยที่สิ้นสุดสัญญาการว่าจ้าง ต้องเดินทางกลับประเทศไทย เพราะไม่ได้รับการต่อสัญญาทำงานใหม่ ขณะที่แรงงานไทยหน้าใหม่ก็ไม่ได้รับใบอนุญาตให้เดินทางเข้าไปทำงานในซาอุดิอาระเบีย นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ไม่สงบในตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ นับเป็นอุปสรรคอีกประการหนึ่งที่ทำให้แรงงานไทยชะลอการเดินทางไปทำงานในภูมิภาคแห่งนี้ รวมทั้งประเทศซาอุดิอาระเบียด้วย ส่งผลให้คนงานไทยในซาอุดิอาระเบียลดลงรวดเร็ว จากจำนวนราว 130,000 คนในช่วงก่อนวิกฤต เหลือจำนวนประมาณ 17,000 คนในปัจจุบัน

ประเทศไทยและซาอุดิอาระเบียเคยเป็นมิตรประเทศเก่าแก่ที่มีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับซาอุดิอาระเบีย จะส่งผลดีต่อความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบียเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูงมาก นอกจากนี้ การที่ซาอุดิอาระเบียมีนโยบายเปิดประเทศสู่ประชาคมโลกอย่างกว้างขวางขึ้น รวมทั้งการเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ WTO น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้ประเทศไทยสามารถฟื้นฟูมิตรภาพกับซาอุดิอาระเบียให้กลับสู่ภาวะปกติได้ในไม่ช้า