บีเอสเอแต่งตั้งประธานคณะกรรมการบริหารประจำประเทศไทย

กรุงเทพฯ, 28 มิถุนายน 2547 – กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ประกาศแต่งตั้ง มร. นิโคลาส แวร์ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทยคนใหม่ โดยรับตำแหน่งต่อจากมร. โจนาธาน เซลวาสกาเรม ซึ่งจะไปดำรงตำแหน่งเดียวกันในประเทศสิงค์โปร์

ในฐานะประธานบีเอสเอประจำประเทศไทย มร. แวร์จะดูแลรับผิดชอบในการเผยแพร่การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์ผ่านการทำงานประสานงานด้านนโยบายกับภาครัฐบาล, การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สาธารณชนและการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง ก่อนหน้าที่จะร่วมงานกับบีเอสเอ มร. แวร์เคยเป็นทนายความและที่ปรึกษาด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ที่รัฐไมอามี่, ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นเขายังเคยเป็นรองประธานและกรรมการประจำภูมิภาคฝ่ายการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ของสมาพันธ์ผู้ผลิตภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา – เอ็มพีเอ โดยมีประสบการณ์อย่างกว้างขวางทั้งในเอเชียและละตินอเมริกา ซึ่งรวมถึงกระบวนการมาตรา 301 ด้วยความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองและประสบการณ์ด้านการปราบปราม ด้วยการทำงานอันหลากหลายตั้งแต่การเป็นนักการทูต, นายทหารบกแห่งกองทัพสหรัฐอเมริกา โดยสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เบิร์คเลย์และวิทยาลัยกฎหมายฮาสติ้งส์

มร. นิคยังได้ศึกษาขั้นสูงและการวิจัยด้านทรัพย์สินทางปัญญาจากสถาบัน CASRIP-Center for Advanced Study and Research on Intellectual Property ที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันในเมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขายังเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตในฟลอริดา, โอเรกอนและวอชิงตัน ดี. ซี. และทำงานอย่างจริงจังให้กับสมาคมเครื่องหมายการค้าสากลและสมาพันธ์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์นานาชาติซึ่งรวมทั้งองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลกหรือ WIPO และสมาคมวิชาชีพอื่นๆ มร. นิค มีความสามารถในการใช้ภาษาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว อาทิ โปรตุเกส, อินโดนีเซีย, สเปน, จีนกลาง, และภาษาฝรั่งเศส

มร. เจฟฟ์ ฮาร์ดี รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ กล่าวว่า “เรายินดีเป็นอย่างยิ่งที่ มร. แวร์ ได้มาร่วมงานกับเรา ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญที่ มร. แวร์ มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม จะเป็นประโยชน์อย่างมากทั้งในด้านการปราบปรามและการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณะ ถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะลดลงอย่างต่อเนื่องแต่เราทราบกันดีแล้วว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นภัยร้ายที่คุกคามอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าความร่วมมือระหว่างเรากับภาครัฐจะยังมีอยู่อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง”

มร. แวร์ ประธานคณะกรรมการบริหารปี 2547 ประจำประเทศไทยของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ กล่าวว่า “อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าเราสามารถดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ หากว่าทุกๆ ฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บีเอสเอจะยังคงเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและดำเนินการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไป นอกจากนั้น เราจะยังคงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย เช่น สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) ผมเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือดังกล่าว จะทำให้เราสามารถปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรม และทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงอย่างเห็นได้ชัด”

เกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นองค์กรชั้นนำที่มีหน้าที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระดับโลกรวมถึงพันธมิตรด้านฮาร์ดแวร์ โดยประสานงานร่วมกับภาครัฐและตลาดในแต่ละประเทศ สมาชิกของบีเอสเอแสดงให้เห็นถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การสร้างระบบความปลอดภัยและการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สนับสนุนการกำหนดนโยบายที่ช่วยให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและขยายโอกาสทางการค้าไปจนถึงการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

สมาชิกของบีเอสเอได้แก่ อะโดบี, แอปเปิล คอมพิวเตอร์, ออโตเดสก์, เอวิด เทคโนโลยี, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์ , บอร์แลนด์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, เอ็นทรัสต์, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินเทอร์เน็ต ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์, อินทุย, แมคโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ทเวิร์ค แอสโซซิเอทส์, อาร์เอสเอ ซีเคียวริตี้, โซลิดเวิร์คส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, ยูจีเอส พีแอลเอ็ม โซลูชั่นส์, และเวอริทัส ซอฟต์แวร์