ผลวิจัย “คาโอฯ” เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย พบผู้หญิงไทยต้องการผ้าอนามัยที่ให้ความมั่นใจและความสบาย จึงนิยมผ้าอนามัยแบบสลิม (แผ่นบาง) และประเภทผิวหน้า

กรุงเทพฯ (30 มิถุนายน 2547) บริษัท คาโอ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท คาโอ อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ได้เผยแพร่รายงานการวิจัยทัศนคติและพฤติกรรมของผู้หญิงไทยต่อผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย พร้อมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประจำเดือนให้กับผู้หญิงไทย รวมถึงภาพรวมสถานการณ์ของตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยในปัจจุบัน ในหนังสือ “Consumer Insight Report ฉบับที่ 9 ความในใจของผู้หญิงกับวันนั้นของเดือน”

รายงานผลการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเกี่ยวกับการเลือกซื้อผ้าอนามัย พบว่า ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่นิยมผ้าอนามัยแบบสลิม (แผ่นบาง) มากที่สุด ความนิยมรองลงมา ได้แก่ แบบแมกซี่ (แผ่นหนา) และแบบอัลตร้า สลิม (แผ่นบางเรียบ) ตามลำดับ โดยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงไทยระบุถึงความชอบผ้าอนามัยประเภทนี้ คือ ที่ความรู้สึกสบาย กระชับ ทำให้เกิดความคล่องตัว สร้างความรู้สึกมั่นใจ และมีขนาดที่เหมาะสม

สำหรับผิวหน้าของผ้าอนามัยที่ผู้หญิงไทยนิยมมากที่สุด คือ ผิวหน้านุ่ม เนื่องจากไม่ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิว ให้ความรู้สึกนุ่มสบาย ส่วนผู้บริโภคที่นิยมผ้าอนามัยผิวหน้าตาข่าย เพราะมีการซึมซับที่ดี ทำให้แห้งสบาย ไม่อับชื้น

จากเหตุผลของความชื่นชอบผ้าอนามัยแต่ละประเภทในข้างต้นนั้น มีความสอดคล้องกับคุณสมบัติของผ้าอนามัยที่ผู้หญิงไทยต้องการ คือ มีประสิทธิภาพในการซึมซับที่ดี ให้ความรู้สึกสบาย มีขนาดบาง เหมาะกับสรีระร่างกาย ก่อให้เกิดความคล่องตัว ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลและเสริมสร้างความเชื้อมั่นให้กับตนเองในช่วงระหว่างวันนั้นของเดือน ส่วนเกณฑ์ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อผ้าอนามัยที่ผู้หญิงไทยคำนึงถึงมากที่สุด คือ เรื่องคุณภาพ รองลงมา ได้แก่ ความคุ้นเคยที่มีต่อตราสินค้า ความสะดวกในการซื้อ และการโฆษณา

และเมื่อพิจารณาถึงส่วนแบ่งทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย พบว่า ในปี 2546 ผ้าอนามัยแบบสลิม (แผ่นบาง) สามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดไว้สูงสุดถึง 49% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,532 ล้านบาท และคาดว่ามีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นในปี 2547 เช่นเดียวกับผ้าอนามัยแบบไนท์เซฟ (สำหรับกลางคืน) ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 18% มีมูลค่าประมาณ 536 ล้านบาท ในขณะที่ผ้าอนามัยแบบแมกซี่ (แผ่นหนา) และแบบอัลตร้า สลิม (แผ่นบางเฉียบ) มีอัตราการเติบโตที่ลดลง

ด้านส่วนแบ่งทางการตลาดของผ้าอนามัยแบบต่างๆ ในปี 2547 ประมาณการณ์ว่า ผิวหน้าที่ยังคงอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะ 2-3 ปีนี้ คือ ผิวหน้านุ่ม ที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 63% มีมูลค่าประมาณ 1,969 ล้านบาท ส่วนผิวหน้าตาข่าย ครองส่วนแบ่งทางการตลาด 37%

การศึกษาวิจัยผู้บริโภคในหนังสือ “Consumer Insight Report ฉบับที่ 9 ความในใจของผู้หญิงกับวันนั้นของเดือน” เกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัย ได้เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงไทยทั่วประเทศ ซึ่งมีอายุระหว่าง 15-39 ปี จำนวน 800 คน