FTA ไทย-ออสเตรเลีย : โอกาสและการปรับตัวของไทย

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางไปเยือนประเทศออสเตรเลียระหว่างวันที่ 4-6 กรกฎาคม 2547 เพื่อลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement : TAFTA) นับว่าเป็นความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) สองฝ่ายฉบับแรกของไทยที่ทำกับประเทศพัฒนาแล้ว และเป็นความตกลงที่ครอบคลุมทั้งการเปิดเสรีการค้า บริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่สนใจร่วมกัน เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทรัพย์สินทาง-ปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และนโยบายการแข่งขัน

สำหรับออสเตรเลีย TAFTA เป็นความตกลงเขตการค้าเสรีสองฝ่ายฉบับที่ 3 หลังจากได้จัดทำ FTA กับสิงคโปร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2546 และล่าสุดได้ลงนามความตกลง FTA กับสหรัฐ-อเมริกา ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2547 นับว่าออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญ และ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดทำ FTA สองฝ่ายเพื่อเปิดเสรีการค้า บริการ และการลงทุน โดยเห็นว่าจะเป็นการช่วยสนับสนุนการเปิดเสรีระดับพหุภาคี (Multilateral Liberalization) ซึ่งต้องใช้เวลาเจรจาเปิดตลาดนานกว่า

ไทยและออสเตรเลียเริ่มศึกษาร่วมกันเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Joint Scoping Study on Thailand-Australia Free Trade Agreement) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 และจัดทำแล้วเสร็จเมื่อเดือนเมษายน 2545 โดยศึกษาครอบคลุมภาคสินค้า บริการ และความร่วมมืออื่นๆ และเห็นว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์จากการ

จัดทำเขตการค้าเสรีร่วมกัน จึงเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ในเดือนสิงหาคม 2545 ขณะนี้การเจรจาเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไทยและออสเตรเลียกำหนดลงนามความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรี TAFTA ในวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 และจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการใน วันที่ 1 มกราคม 2548

ด้านการค้าบริการและการลงทุน ทั้งสองประเทศจะเปิดตลาดกว้างขึ้นครอบคลุมธุรกิจบริการทุกประเภท โดยการเจรจาการค้าบริการและการลงทุนจะมีการทบทวนทุกๆ 3 ปี ทั้งนี้ ไทยมีเงื่อนไขว่าจะไม่แก้ไขกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการค้าบริการและการลงทุน ซึ่งในการเจรจาในรอบแรกไม่ได้รวมธุรกิจโทรคมนาคม ธนาคาร และที่ไม่ใช่ธนาคาร (non-bank) และประกันภัย เพราะยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นรูปธรรมมารองรับทางด้านกฎหมายและไทยยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร ทางด้านออสเตรเลียจะเปิดตลาดให้ผู้ลงทุนหรือผู้ให้บริการในไทยเข้าจัดตั้งธุรกิจในออสเตรเลียทุกประเภทได้ 100% เช่น บริการซ่อมรถยนต์ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถาบันสอนภาษาไทย สอนทำอาหารไทย สอนนวดไทย และการผลิตสินค้าทุกประเภท ยกเว้นธุรกิจที่มีผลต่อความมั่นคงต่อประเทศ ได้แก่ หนังสือพิมพ์ การกระจาย-เสียง การบินระหว่างประเทศ และท่าอากาศยาน

อย่างไรก็ตาม หากเป็นโครงการลงทุนที่มีมูลค่าเกิน 10 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย จะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนของต่างชาติก่อน นอกจากนี้ ออสเตร-เลียยกเลิกเงื่อนไขที่ต้องทดสอบตลาดแรงงาน (Labor Market Test) ในประเทศก่อนจ้างคนจากต่างประเทศให้แก่ไทยเป็นการถาวร รวมทั้งอนุญาตให้คนไทยไปทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร ผู้จัดการ ผู้เชี่ยวชาญ (รวมทั้งคู่สมรสและบุตร) เข้าไปทำงานได้ 4 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 10 ปี

สำหรับไทยเปิดตลาดให้ออสเตรเลียเข้ามาลงทุนในธุรกิจขนาดใหญ่ ใช้เงินลงทุนสูงและรัฐมีนโยบายส่งเสริมการลงทุน โดยให้คนออสเตรเลียถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 60 ธุรกิจที่อนุญาต เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ การก่อสร้างโครงสร้าง พื้นฐานและสาธารณูปโภค สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงแรม อุทยานสัตว์น้ำ มารีน่า และเหมืองแร่ นอกจากนี้ ไทยอนุญาตให้นักธุรกิจออสเตรเลียเข้ามาทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร ผู้จัดการ และผู้เชี่ยวชาญ ได้คราวละ 1 ปี และต่ออายุได้ไม่เกิน 5 ปี

FTA ไทย-ออสเตรเลีย : โอกาสและความท้าทายของไทย

โอกาส

1. สินค้าส่งออกไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของออสเตรเลีย ดังนี้

– รถปิกอัพ รถยนต์ขนาดเล็ก ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ – เนื่องจากออสเตรเลียนำเข้า รถปิกอัพจากไทยถึง 85% ของการนำเข้าทั้งหมด การลดภาษีของออสเตรเลียทำให้รถปิกอัพไทยราคาถูกลง และมีศักยภาพมากขึ้นในตลาดออสเตรเลีย ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียเป็นการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่เกิน 10 ที่นั่ง และมีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 3,000 ซีซี ขึ้นไป ซึ่งเป็นคนละตลาดกับรถยนต์ส่งออกของไทย

– สินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป – ผู้ประกอบการไทยจะได้รับผลประโยชน์ด้านภาษีนำเข้าที่ลดลงจาก 25% เหลือ 12.5% ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยในตลาดออสเตรเลียถูกลง รวมทั้งการที่ไทยเปิดการค้าเสรีกับออสเตรเลียก่อนประเทศคู่แข่งด้านสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทย เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งมีกำลังในการผลิตสูงและมีแรงงานราคาถูก จะทำให้ไทยมีโอกาสช่วงชิงความได้เปรียบในการเปิดตลาดออสเตรเลียก่อนประเทศเหล่านั้น

– เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับโทรทัศน์ – ภาษีของออสเตรเลียจะปรับลดลงเหลือ 0% ในปี 2548 ทำให้ไทยสามารถแข่งกับสินค้าประเภทเดียวกันของเกาหลีใต้ได้ดีขึ้น

– เม็ดพลาสติก – ออสเตรเลียต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกจากต่างประเทศ เพราะผลิตเม็ดพลาสติกไม่พอกับความต้องการใช้ในประเทศ ดังนั้นการลดภาษีนำเข้าของออสเตรเลียเป็น 0% ในปี 2551 คาดว่าจะทำให้ไทยได้เปรียบคู่แข่งอย่างมาเลเซียในการส่งออกเม็ดพลาสติกไปออสเตรเลีย

– ปลาทูน่ากระป๋อง – ปัจจุบันออสเตรเลียนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 90% ของการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องทั้งหมดของออสเตรเลีย การลดภาษีของออสเตรเลียยิ่ง ทำให้ไทยมีศักยภาพในตลาดออสเตรเลียมากขึ้น

– สับปะรดกระป๋อง – ภาษีของออสเตรเลียจะเหลือ 0% ทันทีในปี 2548 ทำให้ไทยแข่งกับ ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น

2. ลดอุปสรรคจากมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ได้แก่ มาตรการสุขอนามัย (SPS Measures) และมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping Measures) ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวดที่สุดแห่งหนึ่งในโลก การนำสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเข้าไปในออสเตรเลียต้องผ่านการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงก่อน ซึ่งที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาส่งออกอาหาร/ผักผลไม้ไปยังออสเตรเลีย ดังนั้นการจัดทำ FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลียได้ตกลงที่จะจัดตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน SPS และตกลงที่จะแก้ไขปัญหาสุข-อนามัยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี คาดว่าสินค้าเกษตรชั้นนำของไทย เช่น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง เนื้อไก่ และกุ้ง จะมีโอกาสเข้าตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น

3. คนไทยเข้าไปทำงาน & ลงทุนในออสเตรเลียได้มากขึ้น การจัดทำ TAFTA ทำให้ไทยได้หลักประกัน และมั่นใจได้ว่าออสเตรเลียจะเปิดตลาดให้ไทยโดยไม่มีกฎหมาย/กฎระเบียบ/ เงื่อนไขที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียเพิ่มเติมในอนาคต ไทยจะสามารถเข้าไปประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพ ได้แก่ ภัตตาคาร อู่ซ่อมรถยนต์ ตกแต่งภูมิทัศน์ โรงแรม สถาบันสอนภาษาไทย ทำอาหารไทย นวดแผน-ไทย และคนไทยสามารถเข้าไปทำงานในออสเตรเลียได้สะดวกขึ้น เพราะออสเตรเลีย ยกเลิกเงื่อนไข labor market test อย่างถาวร ส่วนพ่อครัวไทยที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในไทยสามารถเข้าไปทำงานในออสเตรเลียได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมกิจการร้านอาหารไทยให้เป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ

4. เพิ่มแต้มต่อของไทยในการแข่งขันกับจีนในตลาดออสเตรเลีย ขณะนี้จีนซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งการค้าของไทยที่มีศักยภาพและได้เปรียบจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำ อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำ FTA กับออสเตรเลีย ซึ่งคาดว่าจะเจรจาแล้วเสร็จในปี 2549 ดังนั้น การที่ความตกลง TAFTA จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548 ถือเป็นแต้มต่อของไทยในการเข้าสู่ตลาดออสเตร-เลีย จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยทั้งด้านส่งสินค้าออก และเข้าไปทำธุรกิจในออสเตรเลีย ประโยชน์จาก TAFTA เพื่อเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียก่อนที่จีนจะได้ประโยชน์จากการจัดทำ FTA กับออสเตรเลีย

ความท้าทาย และการปรับตัว

ผลกระทบของสินค้าเกษตรไทยที่ต้องแข่งขันกับสินค้าที่นำเข้าจากออสเตรเลีย หลังจากที่ไทยต้องลดภาษีนำเข้าภายใต้ TAFTA ได้แก่ หอมใหญ่ ส้ม องุ่น ข้าวโพด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโคเนื้อโคนม เนื่องจากการเลี้ยงวัวเนื้อของไทยยังเป็นอุตสาหกรรมครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่อุตสาหกรรมดังกล่าวของออสเตรเลียมีความก้าวหน้ามาก โดยออสเตรเลียเป็นประเทศผู้ผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ของโลก และเป็นประเทศส่งออกเนื้อโครายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นเนื้อวัวที่มีคุณภาพดีและราคาต่ำ สำหรับอุตสาหกรรมโคนมเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย มีศักยภาพสูงในการผลิตนมและผลิตภัณฑ์นม และส่งออกเป็นรายใหญ่ของโลก

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรไทยยังพอมีเวลาปรับตัว/ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตใน 15-20 ปีต่อจากนี้เพื่อแข่งขันกับออสเตรเลีย เพราะภาษีดังกล่าว จะลดลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยภาษีนมและผลิตภัณฑ์นมซึ่งเป็นสินค้าอ่อนไหวจะเหลือ 0% ภายใน 15-20 ปี และภาษี สินค้าเนื้อวัวจะเหลือ 0% ภายใน 15 ปี นอกจากนี้ ประเทศไทยยังสามารถใช้มาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguard) เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรไทยมีการปรับตัว เพราะหากการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเกินปริมาณที่กำหนดและเกิดผลเสียภายในประเทศ ไทยสามารถกลับไปใช้ภาษีในอัตราเดิมก่อนที่จะลดภาษีได้เป็นการชั่วคราว

กล่าวโดยสรุป บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า

– การจัดทำเขตการค้าเสรีมีทั้งผลดีและข้อพึงระวัง : ผลดีในด้านสินค้าส่งออกของไทยซึ่งจะได้รับการปรับลดภาษีขาเข้าในออสเตรเลีย ทำให้สินค้าของไทยมีศักยภาพต่อการแข่งขันมากขึ้น ในแง่ของสินค้านำเข้าจากออสเตรเลียที่เป็นสินค้าวัตถุดิบ หรือกึ่งสำเร็จรูป ซึ่งนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปอีกต่อหนึ่ง ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยลดลง และสามารถส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทางด้านผู้บริโภคชาวไทยในประเทศจะได้รับประโยชน์จากการบริโภคสินค้าที่ราคาถูกลงเนื่องจากภาษีนำเข้าลดลง สินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการแข่งขันในตลาดเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสินค้า สำหรับข้อพึงระวัง การผลิตสินค้าบริโภคของไทยต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่มีศักยภาพมากขึ้นจากภาษีนำเข้าที่ลดลง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

– ภาครัฐควรมีบทบาทช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี FTA อาทิ
– พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันอย่างเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม โดยการพัฒนาการวิจัยเพื่อลดต้นทุนการผลิต พัฒนาคุณภาพสินค้าตามความต้องการของตลาด ผลิตอาหารที่ปลอดภัย ได้มาตรฐานและคุณภาพ และแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า
– ถ่ายทอดเทคโนโลยี ปรับปรุงกระบวนการผลิต การผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกและทดแทนการนำเข้า
– ส่งเสริมทางการตลาด ประชาสัมพันธ์อาหารไทยสู่โลก สร้างแบรนด์ของสินค้าไทย
– สนับสนุนทางการเงิน เช่น การให้เกษตรกรกู้โดยไม่มีดอกเบี้ย และช่วยสนับสนุนด้านเทคนิคต่างๆ เช่น การผสมเทียม น้ำเชื้อ วัคซีน อย่างทั่วถึง รวมทั้งการสร้างโรงฆ่าสัตว์ที่มีมาตรฐาน

– ภาครัฐควรร่วมมือระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาภาพรวมอย่างเป็นระบบ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานราชการต่างๆ เช่น ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ การออกใบ รับรองของหน่วยงานภาครัฐ นอกเหนือจากออสเตรเลียซึ่งไทยจะเริ่มดำเนินการภายใต้ FTA ในวันที่ 1 มกราคม 2548 แล้ว ไทยจะต้องเปิดเสรีการค้ากับประเทศต่างๆ ตามมาอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก

ปัจจุบันนี้โลกมีความเชื่อมโยงกันมาก เพราะมีการจัดทำเขตการค้าเสรีทั้งทวิภาคี (FTA) และภูมิภาค (Regional Trade Agreement : RTA) ไปเรียบร้อยแล้วประมาณ 300 ความ-ตกลง และยังอยู่ในระหว่างการเจรจาอีกราว 100 คู่/กลุ่ม ดังนั้น การที่ไทยมีระบบเศรษฐกิจเปิด และยุทธศาสตร์เชิงรุกของรัฐบาลในการจัดทำเขตการค้าเสรีทวิภาคี ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน และตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสารอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในยุคเศรษฐกิจแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-based Economy)