กัมพูชา: เสถียรภาพการเมือง ฟันเฟืองเศรษฐกิจ

ในที่สุด กัมพูชาสามารถบรรลุข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลผสมเป็นผลสำเร็จในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2547 หลังจากที่ได้ยืดเยื้อมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปี ตั้งแต่การเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนกรกฎาคม 2546 นับเป็นการส่งสัญญาณต่อความพยายามปฏิรูปประเทศให้เข้ากับสภาวการณ์ของการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก หลังจากที่ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2547 รัฐบาลกัมพูชาได้ออกมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรปพิจารณาเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ตามกำหนดการเดิมในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ณ ประเทศเวียดนาม เพื่อผลักดันให้มีการพิจารณารับรองสมาชิกใหม่ของอาเซียนอย่างกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกัมพูชา

บทบาทของกัมพูชาที่หันมาใช้นโยบายเชิงรุกมากขึ้นแทนการรอความช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกหรือองค์กรระหว่างประเทศที่มักมองว่ากัมพูชาเป็นเพียงประเทศด้อยพัฒนาที่ได้ชื่อว่ายากจนมากที่สุดประเทศหนึ่ง ตลอดจนความพยายามในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองภายในประเทศด้วยตัวเอง อย่างน้อยที่สุดได้สะท้อนให้เห็นถึงความเข้มแข็งของประเทศที่สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆที่ยังคงรุมเร้า รวมทั้งเป็นการจุดประกายให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนมีความท้าทายและโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

เรียนรู้อดีต…สู่การค้าโลก

ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาชะงักงัน เนื่องจากระบบเศรษฐกิจขาดทิศทางที่ชัดเจน และคาดว่าคณะรัฐบาลผสมชุดใหม่ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นระหว่างพรรคประชาชนกัมพูชาของนายกรัฐมนตรีฮุนเซนกับพรรคฟุนซินเปกของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ คงจะมุ่งสานต่อนโยบายการผลักดันประเทศเข้าสู่ระบบกลไกตลาดโลกอย่างเต็มที่ หลังจากที่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสะดุดลงในช่วงก่อนหน้านี้

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดเล็ก ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 อยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยเพาะปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ขณะที่มีอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำรายได้เข้าสู่ประเทศ กัมพูชาไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์มากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ ประกอบกับเพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาด้านความไม่สงบภายในประเทศ ทำให้กลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในของกัมพูชายังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เป็นสำคัญ ทั้งในเรื่องการจัดตั้งองค์กรบริหาร การพัฒนาศักยภาพของบุคลากร การอำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนในการพัฒนาธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ๆ

เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชาเฉลี่ยร้อยละ 7 ในช่วงปี 2542-2544 เป็นผลมาจากเงินทุนต่างชาติจำนวนมหาศาลที่หลั่งไหลสู่กัมพูชา ทั้งในรูปแบบการให้เปล่าและการให้สินเชื่อระยะยาวเพื่อเร่งฟื้นฟูประเทศกัมพูชาให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นจำนวนเงินเฉลี่ยปีละ 102.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่ปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ก่อให้เกิดการชะงักงันของการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจกัมพูชาชะลอตัวลง อยู่ในระดับร้อยละ 5.5 และ 4.8 ในปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ ภาวะสูญญากาศทางการเมืองของกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ยังส่งผลกระทบต่อสถานะของการขอเข้าเป็นสมาชิกใหม่ WTO ต้องล่าช้าออกไป เนื่องจากกัมพูชาไม่สามารถออกกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆให้สอดคล้องกับความตกลงของ WTO

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ความชัดเจนทางการเมืองที่เกิดขึ้น จะส่งผลดีต่อกัมพูชาที่จะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการค้าขายสินค้าที่ปราศจากภาษีและอุปสรรคภายใต้ความร่วมมือในกลุ่มอาเซียน ซึ่งกัมพูชาเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกอันดับที่ 10 เมื่อปี 2542 กัมพูชามุ่งหวังที่จะใช้อาเซียนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการส่งออกสินค้าของกัมพูชาสู่ตลาดอาเซียนมากขึ้น และดึงดูดการลงทุนจากประเทศเหล่านี้โดยอาศัยความได้เปรียบในเรื่องแรงงานราคาถูกและการใช้สิทธิพิเศษในการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเสื้อผ้าไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปภายใต้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าจากกัมพูชาเป็นจุดขาย ยิ่งไปกว่านั้น เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นยังอาจมีส่วนเร่งให้กัมพูชามีโอกาสเข้าเป็นสมาชิก WTO ได้ทันภายในสิ้นปี 2547 นี้ ซึ่งหากกัมพูชาสามารถทำได้สำเร็จ ก็นับเป็นประเทศด้อยพัฒนาประเทศแรกที่ได้เข้าเป็นสมาชิก WTO โดยผ่านกระบวนการเจรจาหารืออย่างเต็มรูปแบบ

จับตาค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

แม้ว่าภาวะการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาได้กลับเข้าสู่การดำเนินการตามปกติเป็นเวลาปีกว่าแล้วหลังจากเกิดเหตุการณ์จลาจล ทว่าด้วยลักษณะการซื้อขายสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันมากกว่าสินค้าวัตถุดิบที่จะหมุนเวียนเข้าสู่ระบบการผลิตเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้บรรยากาศการค้าตามจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนต่างๆระหว่างไทย-กัมพูชาโดยทั่วไปยังไม่คึกคักเท่าใดนัก แม้ว่ามูลค่าการซื้อขายโดยรวมจะเพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นบริเวณด่านที่มีบ่อนพนันอยู่ตามแนวชายแดนซึ่งจะคึกคักเป็นพิเศษในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับมูลค่าการค้าชายแดนของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกัน 4 ประเทศ พบว่า การค้าชายแดนกับกัมพูชามีมูลค่าน้อยที่สุด รองจาก มาเลเซีย พม่า และลาว ตามลำดับ จึงน่าจับตาอย่างใกล้ชิดว่า เสถียรภาพทางการเมืองที่เกิดขึ้นของกัมพูชาหนนี้จะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชาในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร

ในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2547 มูลค่ารวมของการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเท่ากับ 183.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.81 จากระยะเดียวกันของปีก่อน ประเทศไทยส่งออกสินค้าชายแดนไปกัมพูชาเป็นมูลค่า 169.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าชายแดนจากกัมพูชามูลค่า 14.30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าชายแดนกับกัมพูชามูลค่า 154.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสินค้าที่ชาวกัมพูชานิยมซื้อจากประเทศไทยมักเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขาดแคลนในประเทศอย่างเช่น น้ำมันสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องดื่ม ปูนซิเมนต์ และน้ำตาลทราย ขณะเดียวกันประเทศไทยเน้นการนำเข้าสินค้าชายแดนจากกัมพูชาจำพวกสินแร่โลหะอื่นๆและเศษโลหะ ไม้ซุงและไม้แปรรูป หนังดิบและหนังฟอก เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชาเพิ่มขึ้นในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2547 ตรงข้ามกับมูลค่ารวมของการค้าปกติระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ซึ่งอยู่ในระดับ 235.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 25.01 จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศไทยส่งออกไปกัมพูชา 227.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากกัมพูชา 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้ากับกัมพูชา 219.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การที่มูลค่าการค้าชายแดนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 77.87 ของมูลค่าการค้ารวมของประเทศไทย-กัมพูชา สะท้อนให้เห็นถึงนัยสำคัญ 2 ประการคือ ความสำคัญของการค้าชายแดนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการสินค้าได้โดยตรง แทนการรอการกระจายสินค้าจากส่วนกลางซึ่งต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน และโอกาสของการพัฒนาการค้าชายแดนให้มีบทบาททางการค้าระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ได้รับอานิสงส์มาจากการค้าขายเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนในท้องถิ่นตามแนวชายแดน เนื่องมาจากปัญหาด้านการคมนาคมขนส่งภายในกัมพูชายังไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า การค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชามีโอกาสขยายตัวสูงหากเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศมีความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ได้แก่ พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา จีน (มณฑลยูนนาน) และประเทศไทย ซึ่งจะมีการเชื่อมเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศดังกล่าวเข้าด้วยกัน ย่อมจะช่วยผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางการค้าซึ่งรวมถึงการค้าชายแดนระหว่างประเทศต่างๆในกลุ่มนี้ด้วย ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงโดยรวม

ทางด้านการค้าทั่วไปของกัมพูชา โครงสร้างการนำเข้าและส่งออกมีจุดอ่อนคือ สินค้ายังไม่มีความหลากหลาย การนำเข้า-ส่งออกกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด เช่น สินค้าเสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 87 ของการส่งออกทั้งหมด ในขณะที่ร้อยละ 35 ของสินค้านำเข้า ได้แก่ สิ่งทอและเส้นใยที่จะนำมาผลิตเสื้อผ้า ตลาดส่งออกที่สำคัญของกัมพูชา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดที่กัมพูชาได้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการส่งออกเสื้อผ้าตามโควตาของประเทศด้อยพัฒนา ขณะที่แหล่งนำเข้าสำคัญของกัมพูชากลับเป็นประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ประเทศไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน และเวียดนาม ทั้งนี้ อาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญของกัมพูชา ครองสัดส่วนร้อยละ 39 ของปริมาณการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของกัมพูชา ตรงข้ามกับการส่งออกของกัมพูชาสู่อาเซียน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 จึงเป็นโอกาสที่ดีที่จะขยายขนาดทางการค้าระหว่างกัมพูชากับอาเซียนได้มากยิ่งขึ้น

การเรียนรู้และติดตามความเคลื่อนไหวของกัมพูชา นับเป็นอีกบทเรียนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงบทบาทของเสถียรภาพทางการเมืองที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทิศทางการเมืองกัมพูชาในครั้งนี้ จะนำพาประเทศไปสู่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจเพียงไหน ยังเป็นสิ่งที่รอการพิสูจน์ เช่นเดียวกับความท้าทายของการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งไม่ได้อยู่ที่ขนาดของระบบเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเป็นหลัก หากอยู่ที่การพยายามสร้างเสถียรภาพทางการค้าระหว่างกัน รวมทั้งการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีเพื่อพัฒนาไปสู่การได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่ายอย่างยั่งยืน