มหัศจรรย์กรีซ : แชมป์ฟุตบอลยูโร 2004 & เจ้าภาพโอลิมปิก 2004

กรีซ สร้างความมหัศจรรย์ในวงการลูกหนังโลก เมื่อครองแชมป์ฟุตบอลยูโร 2004 ได้สำเร็จ ดับรัศมีทีมเจ้าภาพโปรตุเกสอย่างใสสะอาด และตอกย้ำให้เห็นทีมการเล่นของกรีซได้อย่างทรหด โดยสามารถควบคุมสมาธิฝ่ากระแสกองเชียร์เจ้าภาพ จนเอาชนะโปรตุเกสซ้ำเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ขยี้ทีมเจ้าภาพในวันแรกของมหกรรมกีฬาฟุตบอลยูโร 2004 ไปแล้วครั้งหนึ่ง การแข่งขันฟุตบอลยูโร 2004 นับเป็นครั้งที่ 2 ที่กรีซได้มีโอกาสเข้าร่วมฟาดแข้งด้วย และได้กลายเป็นความภาคภูมิแห่งวงการกีฬาฟุตบอลของชาติกรีซ เมื่อได้ครองถ้วยรางวัลฟุตบอลยูโร 2004 เป็นครั้งแรกอย่างสมศักดิ์ศรี

ชัยชนะของทีมชาติฟุตบอลกรีซครั้งนี้ ได้เพิ่มขวัญและพลังใจให้แก่พลเมือง 11 ล้านคนของกรีซ ที่กำลังเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพครั้งยิ่งใหญ่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ (The Athens Olympics) ในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การคว้าชัยในฟุตบอลยูโรยังนับเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นของขวัญให้แก่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของกรีซ นาย Costas Kazamantis วัย 47 ปี แห่งพรรค New Democracy ซึ่งเพิ่งสามารถเอาชนะพรรคสังคมนิยมได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในรอบ 23 ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรี Kazamantis อุตส่าห์ลงทุนควบตำแหน่งรัฐมนตรีกีฬาและวัฒนธรรมอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเร่งรัดให้การจัดเตรียมงานกีฬาโอลิมปิก 2004 เสร็จตามกำหนดเวลาที่คณะกรรมการกีฬาโอลิมปิกโลกวางไว้

กรีซ & วงการกีฬาโลก

ในแวดวงกีฬายุโรปด้วยกันมักคุ้นเคยกันดีว่า กรีซเป็นชาติที่ค่อนข้างอ่อนหัดในด้านกีฬาในช่วงที่ผ่านๆมา เนื่องจากเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรจำกัด ทำให้มีการจัดส่งทัพนักกีฬาไปเล่นในเกมการแข่งขันระดับสากลน้อยมาก ทำให้ชื่อเสียงของกรีซด้านเกมกีฬาไม่เฟื่องฟู เหมือนเช่นประเทศอื่นๆในยุโรป

แต่ทำไมกรีซจึงได้รับชัยชนะในฟุตบอลยูโรครั้งนี้ และได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2004 เป็นเพราะกรีซไม่เคยมองข้ามความสำคัญด้านกีฬา โดยเฉพาะเมื่อเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปี 2524 กรีซได้พยายามเรียนรู้และปรับปรุงประเทศในหลายๆด้านควบคู่กันไป เพื่อยกระดับของประเทศเทียมเท่ากับสมาชิกอียูอื่นๆ และที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในช่วงต้นทศวรรษ 1990 พร้อมกับประเทศสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกเปิดประเทศมากขึ้น มีการอพยพของประชาชนในยุโรปตะวันออกมายังประเทศต่างๆในยุโรปตะวันตก รวมถึงเข้ามาในประเทศกรีซด้วย ทำให้กรีซมีผู้อพยพเป็นนักกีฬาจากกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก จนสามารถช่วยยกระดับฝีมือการเล่นกีฬาของกรีซได้เป็นอย่างดี

การที่กรีซได้รับชัยชนะในมหกรรมกีฬาฟุตบอลยูโร 2004 จึงเป็นเสมือนการเติมความเชื่อมั่นในด้านกีฬาของประเทศ กรีซมีความใฝ่ฝันที่จะได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกอย่างมาก เนื่องจากเห็นว่ากีฬาโอลิมปิกมีต้นกำเนิดมาจากประเทศกรีซ ทำให้กรีซพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพมาโดยตลอดนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 แต่ก็มักประสบความผิดหวัง เนื่องจากความไม่พร้อมทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศที่ยุ่งเหยิง

จนในที่สุด เมื่อปี 1997 กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซก็สามารถโกยคะแนนได้อย่างท่วมท้นเฉือนกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี ให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 โดยกรีซจะมีเวลาเตรียมตัวนานถึง 7 ปี เหตุผลที่ทำให้กรีซได้รับคัดเลือกเหนืออิตาลี ก็เพราะในขณะนั้น กรีซได้ก่อสร้างสถานที่แข่งขันและสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆในกรุงเอเธนส์มากมาย ประมาณ 70% ของแผนการที่เสนอไว้ อีกทั้งการที่ทีมนักกีฬากรีซได้เหรียญทองโอลิมปิกที่ Atlanta สหรัฐอเมริกา ในปี 2539 รวม 3 เหรียญ ทำให้กรีซพอมีชื่อเสียงด้านกีฬาขึ้นมาบ้าง

แต่ช่วงระยะเวลา 7 ปีที่เตรียมตัวกลับไม่ได้ช่วยทำให้กรีซสามารถเตรียมพร้อมได้อย่างสมบูรณ์ ในทางตรงกันข้าม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ทำให้การดำเนินการต่างๆ ต้องสะดุดเป็นระยะๆ จนกระทั่งการแข่งขันโอลิมปิกที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 2000 (ปี 2543) คณะกรรมการโอลิมปิกโลกเริ่มวิตกกังวลเกี่ยวกับการจัดงานของประเทศกรีซอย่างเปิดเผย

อย่างไรก็ตาม ทางการกรีซไม่ยอมให้โอกาสที่ใฝ่ฝันต้องหลุดมืออย่างง่ายดาย ทำให้รัฐบาลต้องทุ่มเทกันอย่างสุดเหวี่ยงใช้เวลาที่เหลืออีกราว 4 ปี เนรมิตสิ่งปลูกสร้างที่คั่งค้างและจัดการทุกอย่างให้เป็นไปตามมาตรฐานโอลิมปิก และที่ท้าทายที่สุด ก็คือ กรีซ จะเป็นเจ้าภาพกีฬาระดับสากลที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรก หลังจากที่เกิดเหตุการณ์วิปโยค 11 กันยายน 2544 ทำให้การเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ของกรีซยุ่งยากเพิ่มอีกเป็นทวีคูณ เพราะคาดว่าจะมีประมุขและอดีตผู้นำประเทศต่างๆมาร่วมงานประมาณ 50 ประเทศ และแขกระดับ VIP ประมาณ 50,000 คน

โอลิมปิก 2004 : ผลดี & ผลเสีย

วันนี้ กรีซ ได้เตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกได้อย่างภาคภูมิแล้ว การก่อสร้างสนามแข่งขัน 35 แห่ง สถานที่พักของนักกีฬา ศูนย์ประชาสัมพันธ์ของนักข่าว รวมถึงเส้นทางคมนาคมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสนามบินแห่งใหม่ ถนนวงแหวน รถไฟฟ้าและรถราง รวมถึงการปรับปรุงถนนหนทางต่างๆ การปรับโฉมโรงแรมและสถานที่ท่องเที่ยวทั่วประเทศ ทุกอย่างลงตัวเรียบร้อย แม้แต่สิ่งที่กังวลที่สุดในการเตรียมการ ได้แก่ หลังคาของอัฒจันทร์ขนาดมหึมา มูลค่าเกือบ 1 ล้านล้านยูโร ก็เสร็จทันเวลาอย่างเฉียดฉิว และสามารถเป็นสัญลักษณ์ของโอลิมปิกในกรุงเอเธนส์ได้อย่างสมหวัง ขณะนี้ชาวกรีซได้พร้อมใจกันมีส่วนร่วมในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ โดยมีผู้สมัครเป็นเจ้าหน้าที่ถึง 160,000 คน โดยไม่รับค่าตอบแทน และให้ความร่วมมือเรื่องการจราจรกันอย่างเต็มที่ เป็นการแสดงพลังของคนกรีซอีกครั้งหนึ่ง

ผลดี

1. ยกเครื่องระบบสื่อสารโทรคมนาคม รัฐบาลคาดว่าการลงทุนในด้านสาธารณูปโภคสาธารณูปการต่างๆมากมาย จะเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งของประเทศ ซึ่งหากไม่มีมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 กรีซคงต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะตัดสินใจพัฒนาเส้นทางคมนาคมต่างๆในเขตเมืองสำคัญๆ แต่เป็นเพราะกีฬาโอลิมปิกที่มีกำหนดเส้นตายชัดเจน และจำเป็นต้องเสร็จให้ทันเวลา ทำให้กรีซต้องทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเกิดขึ้นในที่สุด

2. คืนกำไรสังคม การที่รัฐบาลกระจายสนามแข่งขันไปยังพื้นที่ต่างๆรอบๆกรุงเอเธนส์และเมืองสำคัญ โดยเฉพาะในเขตใกล้แหล่งชุมชน ทำให้สถานที่เหล่านั้นได้มีโอกาสใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจและเป็นที่เล่นกีฬาให้แก่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง ถึงแม้ทางการได้ทุ่มเงินลงทุนในการจัดงานครั้งนี้ประมาณ 7,000 ล้านยูโร หรือราว 5% ของ GDP กรีซ แต่รัฐบาลคาดว่าจะได้รับเงินบางส่วนคืน จากการให้เอกชนเช่าพื้นที่ต่อ ซึ่งมีนักธุรกิจและสโมสรกีฬาต่างๆมาเจรจาขอเช่าแล้ว

3. กระตุ้นท่องเที่ยวกรีซ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเยือนกรีซเพิ่มขึ้น โดยทั่วไป นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเที่ยวกรีซไม่ต่ำกว่า 12-13 ล้านคนต่อปี และมีสัดส่วนสร้างรายได้ราว 10% ของ GDP แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวยุโรปเริ่มเบาบางลง เนื่องจากประเทศยุโรปตะวันออก อาทิ บัลกาเรีย ตุรกี ฯลฯ มีค่าใช้จ่ายถูกกว่า ทำให้นักท่องเที่ยวหันเหไปเที่ยวในประเทศเหล่านี้แทนกรีซ ดังนั้น มหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 ในกรุงเอเธนส์ จะช่วยปรับภาพลักษณ์ใหม่ของกรีซ และเป็นจังหวะที่รัฐบาลใหม่ของกรีซจะใช้วางกลยุทธ์เพื่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวกันอย่างเต็มที่

ข้อพึงระวัง

ถึงแม้กรีซจะบรรลุความใฝ่ฝันในการเป็นเจ้าภาพ Athens Olympics 2004 ได้สมปรารถนา และกรีซก็ต้องแลกกับเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องทุ่มเทไปกับการทำงานแข่งกับเวลาอย่างยิ่งยวด ซึ่งทางการวางเป้าไว้ในครั้งแรกราว 4,600 ล้านยูโร แต่เมื่อการเตรียมงานล่าช้าอย่างมาก และจำเป็นต้องเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับการก่อการร้าย ทำให้ต้นทุนในการเตรียมตัวเพิ่มขึ้นทันที ปัจจุบัน คาดว่ากรีซได้ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้นราว 7,000 ล้านยูโร ส่งผลให้กรีซมียอดขาดดุลงบประมาณราว 3.2% ของ GDP ซึ่งเกินเพดานที่กลุ่มอียูกำหนดให้ประเทศสมาชิกขาดดุลงบประมาณได้ไม่เกิน 3% ของ GDP เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ของกรีซมั่นใจว่ายอดขาดดุลงบประมาณจะกระเตื้องดีขึ้น โดยคาดว่าในปี 2548 จะสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ของอียูได้สำเร็จ นอกจากนี้ รัฐบาลใหม่ยังเห็นว่าการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ยังช่วยให้เศรษฐกิจกรีซโดดเด่นมาอย่างต่อเนื่องอยู่ในอัตรา GDP เฉลี่ยประมาณ 4% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และในปี 2547 คาดว่าจะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ประมาณ 4.1% เนื่องจากการใช้จ่ายลงทุนของรัฐบาลและการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน รัฐบาลคาดว่าเศรษฐกิจกรีซมีแนวโน้มที่สดใสต่อไป ไม่แพ้ศักยภาพด้านเกมกีฬาของกรีซแต่อย่างใด

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจไทย – กรีซ

1. การค้าไทย – กรีซ

กรีซเป็นสมาชิกกลุ่ม EU ที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับสมาชิก EU แนวหน้าอื่นๆ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากรีซเป็นตลาดการค้าที่ค่อนข้างเล็ก ประกอบด้วยประชากรประมาณ 11 ล้านคน แต่ชาวกรีกมีกำลังซื้อสูง รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับ 18,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผนวกกับเศรษฐกิจของกรีซมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง รวมทั้งการที่กรีซจะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่ของโลก จึงนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพแห่งหนึ่งในกลุ่ม EU ที่ไม่ควรมองข้าม ทางการไทยควรมุ่งขยายการส่งออกไปยังตลาดแห่งนี้อย่างจริงจัง

ในช่วงที่ผ่านๆ มา การค้าระหว่างไทยกับกรีซไม่สม่ำเสมอนัก แต่ทิศทางการค้าระหว่างประเทศทั้งสองมีแนวโน้มสดใสขึ้นในรอบปีที่แล้ว และขยายตัวต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ โดยการส่งออกสินค้าไทยไปกรีซเพิ่มขึ้น 55.8% เป็นมูลค่า 99.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 5 เดือนแรก 2547 ส่วนการนำเข้าขยายตัว 57.4% เป็นมูลค่า 7.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับกรีซ ยอดเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 55.6% เป็นมูลค่า 92.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกัน

การส่งออกสินค้าไทยไปกรีซที่ขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง เนื่องจากได้รับผลดีจากความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของกรีซ และการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งสินค้าไทยด้วย สินค้ารายการสำคัญที่ไทยส่งออกไปกรีซขยายตัวแทบทุกรายการในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ของใช้ในเทศกาลและงานรื่นเริง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เครื่องจักรกล ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เป็นต้น

ทางด้านการนำเข้าสินค้าจากกรีซฟื้นตัวรวดเร็วในช่วงต้นปีนี้ หลังจากที่ชะงักงันในช่วงระหว่างปี 2545-2546 รายการสินค้านำเข้าสำคัญจากกรีซที่ขยายตัวในอัตราสูง ได้แก่ เรือและสิ่งก่อสร้างลอยน้ำ เส้นใยใช้ในการทอ เครื่องเพชรพลอย-อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม สินแร่โลหะ ผลิตภัณฑ์โลหะ แร่ดิบ แก้วและเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

2. ท่องเที่ยวไทย – กรีซ

– ไทยเที่ยวกรีซ

กรีซ เป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมอันเก่าแก่ ซึ่งจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าความรุ่งเรืองในอดีตของดินแดนแห่งนี้ เดินทางไปเยี่ยมชมร่องรอยทางวัฒนธรรมและโบราณสถานต่างๆ ที่กลายเป็นตำนานเล่าขานสืบทอดกันมายาวนาน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเที่ยวกรีซมากกว่า 10 ล้านคนต่อปี แต่สำหรับนักท่องเที่ยวไทยให้ความสนใจไปเยือนกรีซไม่มากนักในช่วงที่ผ่านมา มีจำนวนเฉลี่ยประมาณ 1,500 คนต่อปี นับว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปประเทศยุโรปอื่นๆ เนื่องจากภูมิอากาศของกรีซคล้ายคลึงกับเมืองไทย ประกอบกับกรีซเป็นเมืองประวัติศาสตร์ระดับโลก มิใช่แหล่งช็อปปิ้งชั้นนำที่คนไทยนิยมเท่าใดนัก ประเทศกรีซจึงไม่ค่อยดึงดูดใจนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนใหญ่ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักช็อปปิ้งตัวยง อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากที่กรีซชนะศึกฟุตบอลยูโรและจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก 2004 จะส่งผลให้คนไทยบางกลุ่มสนใจเดินทางไปเยี่ยมเยือนและสัมผัสดินแดนแห่งอารยธรรมเก่าแก่และแหล่งท่องเที่ยวกรีซมากขึ้น

ขณะนี้ประเทศกรีซเป็นจุดสนใจของประชาคมโลกอีกครั้ง ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬายิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ คาดว่าจะส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของกรีซให้คึกคักขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งปีหลัง 2547 โดยเฉพาะผู้คนจำนวนมากที่จะหลั่งไหลไปยังกรีซ เพื่อชมการแข่งขันกีฬาหลากหลายประเภทอย่างใกล้ชิดติดขอบสนามแข่งขัน นอกจากนี้ การถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและกระแสข่าวเกี่ยวกับการแข่งขันกีฬาดังกล่าว จะช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และเสริมภาพลักษณ์ของประเทศกรีซให้ประชาชนทั่วโลกรู้จักดินแดนแห่งนี้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวของกรีซในระยะยาว

– กรีซเที่ยวไทย

แม้ว่ากรีซมิใช่นักท่องเที่ยวชั้นนำในกลุ่ม EU ที่เดินทางมาเที่ยวไทย แต่ชาวกรีกที่มาท่องเที่ยวไทยมีจำนวนเฉลี่ยราว 12,000 คนต่อปีในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ชาวกรีกจำนวนไม่น้อยสนใจเดินทางมาเที่ยวชม ชาวกรีกจึงจัดเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีกำลังซื้อสูง ทางการไทยควรรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยกับกรีซ หลังจากที่จำนวนนักท่องเที่ยวกรีกเดินทางมาเที่ยวไทยลดลง 22.8% เหลือ 10,840 คนในปี 2546 เทียบกับจำนวน 14,050 คนในปี 2545