เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนครึ่งหลัง’47:ตลาดในทรงตัว…ตลาดนอกยังดูดี

ตลาดเฟอร์นิเจอร์ไทยประกอบด้วย 2 ตลาดหลักคือตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าสถานการณ์ตลาดในประเทศที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 20-30 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดในช่วงครึ่งหลังปี 2547 ตกอยู่ในภาวะทรงตัวตามภาวะของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในส่วนของธุรกิจที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่มีแนวโน้มไม่สดใสมากนักภายหลังจากที่เคยได้รับการสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐจนทำให้ตลาดคึกคักมากในช่วงปลายปี 2546 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามเนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยและการปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อเนื่องให้กำลังซื้อของผู้บริโภคมีโอกาสชะลอตัวลงบ้างเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546 ดังนั้นภาวะตลาดเฟอร์นิเจอร์ภายในประเทศไทยในช่วงครึ่งปีหลังจึงมีทิศทางไม่แจ่มใสนักเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2546 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี 2547 ขณะที่ภาวะการแข่งขันจะรุนแรงโดยผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยจะต้องเผชิญศึกหนักทั้ง 2 ด้านคือทั้งผู้ประกอบการภายในประเทศเองและผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ

ในขณะที่สถานการณ์ตลาดเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยในต่างประเทศซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70-80 ของปริมาณผลผลิตทั้งหมดน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังปี 2547 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเป็นการขยายตัวที่ต่อเนื่องจากครึ่งแรกปี 2547 เพราะปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญหลายประการ คือ

– เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรปกระเตื้องขึ้นตามลำดับ รวมถึงตลาดอินเดียซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของไทยที่มีแนวโน้มดีขึ้นด้วยเช่นกัน

– ตลาดที่มีกำลังซื้อสูงทั้งสหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรปยังคงพึงพอใจในดีไซน์ที่สามารถผสมผสานความเป็นตะวันออกและตะวันตกได้อย่างเหมาะสม

– การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุธรรมชาติจากหลากหลายวัสดุของไทยนอกเหนือจากไม้ยางพารา ไม่ว่าจะเป็น ไม้ไผ่ กก หรือผักตบชวา ล้วนได้รับความสนใจจากนานาประเทศเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าอัตราการขยายตัวของสินค้าประเภทนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 26.8 ในปี 2545 เป็นร้อยละ 32.7 ในปี 2546 ส่วนในช่วง 5 เดือนแรกปี 2547 ตามรายงานสถิติของกรมศุลกากรไทย พบว่าสินค้ากลุ่มนี้ของไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระดับร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2546

– สหรัฐอเมริกาเรียกเก็บภาษีสินค้าเฟอร์นิเจอร์ชุดห้องนอนจากจีนสูงถึงร้อยละ 198 ตามรายงานจากปักกิ่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2547 ที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ทางการค้าที่จีนทุ่มตลาดสินค้า และอาจจะมีการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดจากสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ประเภทอื่นๆของจีนเพิ่มขึ้นอีก เพราะผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ในสหรัฐอเมริกายังไม่พึงพอใจเท่าที่ควรด้วยเห็นว่าอัตราการจัดเก็บดังกล่าวครอบคลุมสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ในขณะที่บริษัทผู้ส่งออกของจีนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ยังคงเสียภาษีในอัตราระหว่างร้อยละ 4.90-24.34 ในขณะที่ไทยไม่ถูกเรียกเก็บภาษีดังกล่าว

– คู่ค้าหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ประสบกับมูลค่าความเสียหายไม่คุ้มกับการได้สินค้าราคาถูกกว่าจากจีนที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย อันเนื่องมาจากปัญหาคุณภาพสินค้าส่งมอบที่ไม่ได้มาตรฐาน และการส่งมอบที่ไม่ตรงเวลาของจีนก่อให้เกิดผลเสียหายทางธุรกิจ ทำให้ผู้นำเข้าจำนวนไม่น้อยหันกลับมานำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้นแทน

อย่างไรก็ตาม การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยในครึ่งหลังปี 2547 ยังมีปัจจัยที่อาจเป็นอุปสรรคในการส่งออกหลายประการด้วยเช่นกันไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดแคลนไม้ยางพารา ซึ่งการที่ราคาไม้ยางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกควบคู่กับการที่ผู้ผลิตไม้แปรรูปหันไปส่งออกไม้ยางพาไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้น ย่อมส่งผลให้ปัญหาขาดแคลนไม้ยางพาราของไทยรุนแรงเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้จากการที่ราคาเหล็กรีดร้อนที่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็กยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปี 2547 อันเป็นผลสืบเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นและในบางช่วงมีการขาดแคลนภายในประเทศ ทำให้ต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์โลหะของไทยเพิ่มสูงขึ้นจึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันการย้ายฐานการผลิตไปจีนและเวียดนามเพื่อลดต้นทุนการผลิตของบรรดาผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ของสหรัฐอเมริกา สภาพยุโรป และไต้หวัน เป็นต้น ยังคงทยอยเข้าไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เฟอร์นิเจอร์ไทยต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของกฎระเบียบการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์โดยใช้มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้เฟอร์นิเจอร์ของแต่ละประเทศโดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาและยุโรปต่างเข้มงวดมากขึ้นตามลำดับ .ทำให้ผู้ส่งออกเฟอร์นิเจอร์ของไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกรายเล็กที่ไม่สามารถปรับการผลิตให้สอดคล้องกับระเบียบใหม่ๆได้ในระยะเวลาอันสั้นได้รับผลกระทบค่อนข้างสูง

ปัจจุบันการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนโดยรวมของโลกในปี 2546 ตามรายงานของ Global Trade Atlas คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 63,161.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 1.58 แต่ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนของไทยลดลงเรื่อยๆจากสัดส่วนร้อยละ 1.66 ในปี 2544 และสัดส่วนร้อยละ 1.65 ในปี 2545 โดยประเภทของสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือเฟอร์นิเจอร์ไม้อาทิเก้าอี้ไม้ เฟอร์นิเจอร์ชนิดถอดประกอบได้ทั้งที่เป็นชุดอาหาร ชุดรับแขก และชั้นวางของ เป็นต้น รองลงมาคือชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์นิเจอร์โลหะ และบรรดาเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติอย่างกก ไม้ไผ่ และผักตบชวา ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ครองตลาดสำคัญในสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนแต่ละประเภทในปี 2546 ประกอบด้วย

– เฟอร์นิเจอร์ไม้ ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสำคัญคืออิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 18.3) จีน (สัดส่วนร้อยละ 12.5) เยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 8.4) แคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 7.7 ) และโปแลนด์ (สัดส่วนร้อยละ 7.4 ) โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.5

– เฟอร์นิเจอร์โลหะ ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งคือจีน (สัดส่วนร้อยละ 22.9) รองลงมาคืออิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 12.0) เยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 9.3 ) แคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 8.9 ) และสหรัฐอเมริกา(สัดส่วนร้อยละ 6.6) ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ0.9

– เฟอร์นิเจอร์พลาสติก ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสำคัญคืออิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 28.5) สหรัฐอเมริกา(สัดส่วนร้อยละ 8.9) เยอรมนี(สัดส่วนร้อยละ 8.2) แคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 7.6) และจีน (สัดส่วนร้อยละ 7.3) โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.3

– เฟอร์นิเจอร์หวาย กก ไม้ไผ่ ผักตบชวา และวัสดุใกล้เคียง ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดสำคัญคืออิตาลี (สัดส่วนร้อยละ 19.8) อินโดนีเซีย(สัดส่วนร้อยละ 18.4) จีน (สัดส่วนร้อยละ 16.6) ฟิลิปปินส์ (สัดส่วนร้อยละ 6.3 ) สเปน(สัดส่วนร้อยละ 5.7) ขณะที่ไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.1

– ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ ผู้ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งคือเม็กซิโก (สัดส่วนร้อยละ 15.5) สหรัฐอเมริกา(สัดส่วนร้อยละ 13.1) เยอรมนี (สัดส่วนร้อยละ 10.0) อิตาลี(สัดส่วนร้อยละ 9.5) และแคนาดา (สัดส่วนร้อยละ 7.5)โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.6

เมื่อพิจารณาทั้งการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยในปี 2546 ดังกล่าวข้างต้น และการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกปี 2547 ตามรายงานของกรมศุลกากรไทยที่เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยสามารถส่งออกคิดเป็นมูลค่า 17,823.3 ล้านบาทนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของไทยที่มีแนวโน้มศักยภาพสูงคือชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เพราะเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มอัตราการขยายตัวของการส่งออกและส่วนแบ่งการตลาดในโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตามรายงานของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2546 มูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.7 ขณะที่ในปี 2545 ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ไทยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 21.0 และส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2545 นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์หวาย กก ไม้ไผ่ ผักตบชวา และวัสดุใกล้เคียงก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไทยที่น่าจะมีศักยภาพสูงเช่นกัน โดยในปี 2546 ที่ผ่านมา เฟอร์นิเจอร์กลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตร้อยละ 32.7 ในขณะที่ปี 2545 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 26.8 โดยไทยมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากสัดส่วนร้อยละ 1.6 ในปี 2545 เป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.2

ขณะที่เฟอร์นิเจอร์ไม้ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยโดยรวมในแต่ละปีนั้นมีศักยภาพปานกลาง เพราะแม้ว่าเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยจะยังคงมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้น แต่อัตราการขยายตัวเป็นไปในลักษณะที่ชะลอลง อีกทั้งยังมีโอกาสสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดไปบางส่วนให้แก่คู่แข่งโดยเฉพาะจีน มาเลเซีย และเวียดนามที่มีความได้เปรียบไทยทั้งในส่วนของค่าจ้างแรงงานและความพร้อมของวัตถุดิบ รวมถึงการย้ายฐานการผลิตของบรรดาผู้ประกอบการจากญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกาไปยังประเทศดังกล่าว

โดยจากรายงานสถิติของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2546 มูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยในตลาดโลกมีอัตราการเติบโตร้อยละ 7.9 ขณะที่ในปี 2545 เติบโตร้อยละ 10.8 และส่วนแบ่งตลาดลดลงร้อยละ 3.8 (จากสัดส่วนร้อยละ 2.6 ในปี 2545 เหลือสัดส่วนร้อยละ 2.5 ในปี 2546) ขณะที่คู่แข่งอย่างจีนมีมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ขยายตัวร้อยละ 41.0 และส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.0 ในปี 2545 เป็นสัดส่วนร้อยละ 12.5 ในปี 2546

ส่วนมาเลเซียมีมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ขยายตัวร้อยละ 11.9 และส่วนแบ่งการตลาดลดลงจากร้อยละ 4.1 ในปี 2545 เหลือสัดส่วนร้อยละ 4.0 ในปี 2546 ส่วนข้อมูลการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามนั้นไม่ปรากฎใน Global Trade Atlas แต่หากพิจารณาตลาดสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้รายใหญ่ที่สุดของโลกเพื่อเป็นตลาดที่ใช้ในการพิจารณาเปรียบเทียบแทน โดยอาศัยข้อมูลจาก United States International Trade Commission พบว่าเวียดนามมีส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นตามลำดับจากร้อยละ 0.13 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 0.7 ในปี 2545 และร้อยละ 1.4 ในปี 2546 และมีอัตราการเติบโตร้อยละ 525.7 ในปี 2545 และร้อยละ 127.5 ในปี 2546 ส่วนเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยมีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 3.4 ในปี 2545 เป็นสัดส่วนร้อยละ 3.2 ในปี 2546 โดยมีอัตราการเติบโตร้อยละ 32.3 ในปี 2545 และร้อยละ 5.4 ในปี 2546 ดังนั้นผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ไม้ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์และการตลาดให้ดีขึ้นเพื่อเพิ่มและรักษาส่วนแบ่งตลาดให้ได้โดยเร็ว

ส่วนเฟอร์นิเจอร์โลหะ และเฟอร์นิเจอร์พลาสติกของไทยนั้นนับว่าศักยภาพมีแนวโน้มลดลง เพราะทั้งมูลค่าการส่งออกและส่วนแบ่งตลาดลดลงตามลำดับทั้งๆที่ความต้องการของตลาดสำหรับสินค้าทั้งสองประเภทก็ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกเฟอร์นิเจอร์โลหะไทยในปี 2546 ลดลงร้อยละ 9.9 (ในปี 2545 ลดลงร้อยละ 4.3) และส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 1.1 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 0.9 ในปี 2546 ขณะที่เฟอร์นิเจอร์พลาสติกมีการส่งออกลดลงร้อยละ 35.2 และมีส่วนแบ่งตลาดลดลงจากร้อยละ 0.5 ในปี 2545 เหลือร้อยละ 0.3 ในปี 2546 จึงมีความเป็นไปได้ว่าภาวะตลาดส่งออกเฟอร์นิเจอร์โลหะ และเฟอร์นิเจอร์พลาสติกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 2547 จะยังคงมีทิศทางที่ไม่แจ่มใสนัก ด้วยเหตุปัจจัยด้านต้นทุนวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเหล็กรีดร้อน หรือเม็ดพลาสติกที่ระดับราคายังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบการเทคโนโลยีการผลิตของบรรดาผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทันสมัยเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับผู้นำตลาดอย่างอิตาลี และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยมีโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นสินค้าที่มีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้นในอนาคตแม้ว่าจะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ แต่ทั้งนี้การเข้าถึงความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย การมีฐานข้อมูลทั้งในส่วนผู้บริโภค ตัวแทนจำหน่าย และคู่ค้า เป็นต้น รวมถึงการวางระบบการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพไม่ว่าจะเป็นการวางแผนผลิตภัณฑ์ด้วยการพยายามสร้างรูปแบบแปลกใหม่ สวยงาม คงทน มีความหลากหลายสำหรับประโยชน์ใช้สอยให้ตรงตามความต้องการสมัยนิยมให้มากขึ้น และการใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่กับการวางแผนการตลาด และการบริหารต้นทุนที่ดีเพื่อสร้างความได้เปรียบในการตั้งราคาที่ก่อให้เกิดกำไรที่มากขึ้น ย่อมเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยไม่ควรมองข้ามและควรต้องให้ความสนใจเพิ่มยิ่งขึ้นด้วยเพื่อรักษาและสร้างโอกาสในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด

ขณะเดียวกันการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นตามลำดับไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันปรึกษาหารือเกี่ยวกับโอกาสและอุปสรรคของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับประเทศเพื่อสรรหานโยบายหรือมาตรการที่เหมาะสม การเร่งผลิตแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการออกแบบให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ และการผลิตนักออกแบบให้มีจำนวนมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการสินค้าเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนของทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป รวมถึงตลาดอินเดียซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของไทยต่างกระเตื้องขึ้นตามลำดับ ดังนั้นการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของการผลิตและการตลาดของผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยเอง ควบคู่กับการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เหมาะสม จึงเป็นแนวทางที่น่าจะนำมาซึ่งโอกาสในการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนไทยที่เหนือกว่าคู่แข่งได้ไม่ยาก