ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์….วันนี้ที่รอคอย

หลังจากเป็นเวลากว่า 2 ปีที่ภาครัฐได้มีแนวทางที่จะปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 ก็ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวตามที่กระทรวงการคลังเสนอมา สาเหตุที่การประกาศใช้ครั้งนี้มีความล่าช้ามาเป็นปี ก็เนื่องจากความจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีการศึกษาถึงผลกระทบอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการพัฒนาและการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กำลังเดินหน้าไปด้วยดี

รวมทั้งเป้าหมายสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตเพื่อการส่งออกรถยนต์ที่อาจสะดุดลงได้หากไม่พิจารณาอย่างรอบคอบ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อสถานการณ์ด้านพลังงานของโลกในช่วงปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก จึงทำให้การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวด้วยเป็นสำคัญ เพื่อให้โครงสร้างภาษีใหม่สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายของรัฐที่จะกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงาน

ในการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในครั้งนี้ ภาครัฐได้ดำเนินการบนหลักการว่าโครงสร้างภาษีใหม่จะต้องสอดคล้องรองรับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ของเอเชียหรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย นอกจากนี้โครงสร้างภาษีจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ อีกทั้งจะต้องสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเสียภาษี

สาระสำคัญของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ครั้งนี้ คือการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์นั่งหรือรถเก๋งเป็น 4 อัตรา ตามขนาดความจุของกระบอกสูบเครื่องยนต์ (ซีซี.) เริ่มตั้งแต่ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี. ขึ้นไปจนถึงขนาดเครื่องยนต์ที่เกิน 3,000 ซีซี. โดยให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 30, ร้อยละ 35, ร้อยละ 40 และร้อยละ 50 ตามลำดับ

นอกจากนี้ยังกำหนดให้รถยนต์ประเภทออฟโรดหรือ SUV (Sport Utility Vehicle) และรถตู้โดยสารไม่เกิน 10 ที่นั่ง ต้องเสียภาษีตามขนาดเครื่องยนต์(ซีซี.)เช่นเดียวกับรถยนต์นั่ง สำหรับรถบรรทุกปิกอัพประเภทต่างๆ(ขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,250 ซีซี.) ยังให้คงอัตราภาษีในระดับต่ำภายใต้โครงสร้างใหม่ คือร้อยละ 3 สำหรับรถปิกอัพปกติ และร้อยละ 12 สำหรับรถปิกอัพดับเบิลแค็บ ส่วนรถปิกอัพดัดแปลงที่เดิมต้องเสียภาษีในส่วนที่ดัดแปลงอีกร้อยละ 20 นั้น ได้รับการลดอัตราภาษีลงมาเหลือร้อยละ 3 สำหรับมูลค่ารถทั้งคัน

จุดเด่นที่สุดประการหนึ่งของการปรับโครงสร้างภาษีในคราวนี้ คือการกำหนดให้มีประเภทรถยนต์ขึ้นมาใหม่ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1.รถยนต์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆในการประหยัดเชื้อเพลิงซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (Hybrid Electric Car)ซึ่งมีที่นั่งไม่เกิน 10 คนและมีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี. ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า(Electric Powered Car) หรือที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิง(Fuel Cell Powered Car) ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 เช่นกัน และ 2. รถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน คือใช้เชื้อเพลิงผสมเอทานอลไม่น้อยกว่า 20% หรือที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งมีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และมีขนาดเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี. ให้เสียภาษีในอัตราร้อยละ 20

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้สรุปผลกระทบต่างๆจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ที่คาดว่าจะมีต่อผู้บริโภค ตลาดรถยนต์และผู้ประกอบการ ตลอดจนต่อสังคมส่วนรวม ทั้งนี้คาดว่าการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ซึ่งจะกระทบต่อราคาขายรถยนต์ในประเทศ น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ในประเทศในแง่ของโครงสร้างตลาดมากกว่าที่จะมีผลต่อยอดขายโดยรวม ทั้งนี้ประเภทรถยนต์ที่จะได้รับประโยชน์อย่างชัดเจนจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ ก็คือรถยนต์นั่งที่มีขนาดความจุของกระบอกสูบเครื่องยนต์ไม่เกิน 3,000 ซีซี โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์นั่งขนาดกลาง-เล็กที่มีขนาดต่ำกว่า 2,000 ซีซี. ที่จะเสียภาษีในอัตราเพียงร้อยละ 30 ลดลงจากเดิมที่เคยเสียในอัตราร้อยละ 35 ในขณะที่รถยนต์ที่มีขนาดเกิน 3,000 ซีซี. จะเสียภาษีสูงขึ้นจากอัตราร้อยละ 48 เป็นร้อยละ 50

และที่น่าสนใจก็คือรถยนต์ประเภทออฟโรดขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือ SUV (Sport Utility Vehicle) ซึ่งตลอดเวลา 6-7 ปีที่ผ่านมาได้กลายเป็นหนึ่งในรถยอดฮิตในตลาดเมืองไทยจะเป็นประเภทรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก กล่าวคือจากเดิมที่เคยเสียภาษีในอัตราเดียวที่ร้อยละ 29 แต่ต่อจากนี้ไปจะต้องเสียภาษีแบบรถยนต์นั่งหรือรถเก๋ง คือเสียภาษีตามขนาดซีซี.เครื่องยนต์ในอัตราตั้งแต่ร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตามคาดว่าผลกระทบของภาษีต่อตลาดรถยนต์จะอยู่ในวงจำกัดเท่านั้นเนื่องจากรถยนต์ทั้งสองประเภทข้างต้นรวมกันมีสัดส่วนในตลาดเพียงร้อยละ 6-7

ในด้านผลกระทบต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์นั้น เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความนิยมของผู้บริโภคและโครงสร้างของตลาดรถยนต์ในประเทศ ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆจะต้องปรับแผนการจัดสรรทรัพยากร (Allocation of Resources)ในการผลิตรถยนต์ให้สอดคล้องกับโครงสร้างตลาดที่จะเปลี่ยนไป ทั้งนี้ผู้ผลิตค่ายต่างๆย่อมจะได้รับผลกระทบมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งค่ายผู้ผลิตที่เคยทำยอดขายได้ดีในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดใหญ่(เกิน3,000ซีซี.) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรถยนต์ประเภทออฟโรดซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะภาระภาษีที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัดย่อมจะกระทบทำให้ราคาขายแพงขึ้น

ในทางตรงข้ามค่ายรถที่ทำยอดขายได้ดีในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดกลาง-เล็ก(ไม่เกิน2,000ซีซี.) จะได้รับประโยชน์มากขึ้นเนื่องจากอัตราภาษีลดลงอย่างชัดเจน และที่น่าสนใจก็คือรถยนต์กระบะดัดแปลงที่เดิมเสียภาษีในส่วนดัดแปลงเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 20 แต่ครั้งนี้จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 3 ทั้งคันเท่ากับรถปิกอัพปกติ ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ของคนไทย

การปรับอัตราภาษีครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนของรัฐในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ขนาดกลาง-เล็กมากกว่ารถขนาดใหญ่ และที่สำคัญคือการส่งเสริมให้มีการผลิตและการใช้รถยนต์ที่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง(เช่นการใช้พลังงานไฟฟ้า) หรือใช้พลังงานทดแทน(คือเอทานอลและก๊าซธรรมชาติ)ได้ โดยรัฐได้กำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตขึ้นมาใหม่เป็นพิเศษสำหรับรถยนต์ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไว้เพียงร้อยละ 10 และร้อยละ 20 ตามลำดับ

ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าโครงสร้างอัตราภาษีใหม่นอกจากจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พลังงานแล้ว ยังเป็นการส่งสัญญาณอย่างชัดเจนจากภาครัฐถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรถยนต์ว่า นอกเหนือไปจากรถกระบะปิกอัพที่รัฐถือว่าเป็นรถยนต์ยุทธศาสตร์ของการนำประเทศไทยสู่การเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกแล้ว รถยนต์ที่มีคุณสมบัติในการประหยัดเชื้อเพลิงหรือสามารถใช้พลังงานทดแทนได้ (ซึ่งจะรวมไปถึงรถยนต์ในโครงการอีโคคาร์หรือ”รถยนต์ทางเลือกใหม่”ด้วย) ก็จะเป็นรถยนต์เป้าหมาย(Product Champion)อีกประเภทหนึ่งที่รัฐจะส่งเสริมอย่างจริงจังให้มีการพัฒนาการผลิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการสนับสนุนเป้าหมายสู่การเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียแล้ว ยังสอดคล้องกับนโยบายอนุรักษ์พลังงานของประเทศด้วย