เลแมน บราเดอร์ส เผยรายงานล่าสุด ระบบพยากรณ์แนวโน้มการเกิดวิกฤติทางการเงิน

กรุงเทพฯ – 30 กรกฎาคม 2547: เลแมน บราเดอร์ส บริษัทที่ปรึกษาด้านการลงทุนระดับโลก เปิดเผยรายงานระบบพยากรณ์วิกฤติทางการเงินล่วงหน้า “เดมอกคลี่ส์” (Damocles) ประจำไตรมาส 3 ปี 2547 ซึ่งเป็นระบบที่ใช้วัดและประเมินความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ (emerging market economies) ที่มีแนวโน้มจะประสบภาวะวิกฤติทางการเงินใน 17 ประเทศ ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวบ่งชี้ว่าความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกยังคงควบคุมได้ดี

โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทย อินโดนีเซีย โปแลนด์ และเม็กซิโก มีค่าความเสี่ยงต่ำสุดเท่ากับศูนย์คะแนน ขณะที่อาร์เจนตินา มีค่าความเสี่ยงสูงสุดเท่ากับ 49 คะแนน ทั้งนี้ไม่มีประเทศใดในกลุ่มมีความเสี่ยงเกินกว่า 75 คะแนน ซึ่งหากมีคะแนนเกินระดับดังกล่าว แสดงว่าประเทศนั้นมีโอกาสหนึ่งในสามที่อาจเกิดวิกฤติทางการเงินภายใน 12 เดือนข้างหน้า ขณะที่ประเทศที่มีคะแนนในระดับต่ำแสดงว่า ประเทศนั้นมีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดวิกฤติทางการเงิน

สำหรับภูมิภาคเอเชียโดยรวม ประเทศต่างๆ รวม 9 ประเทศ มีค่าความเสี่ยงโดยเฉลี่ยเท่ากับ 13 สะท้อนว่าภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงโดยเฉลี่ยต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาและยุโรปตะวันออก ขณะที่มีปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูง ซึ่งเป็นเสมือนกันชนป้องกันการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศต่างๆ ในเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น มีปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่านับตั้งแต่สิ้นปี 2543 เป็นต้นมา

ช่วงเวลาแห่งการทดสอบ

เลแมน บราเดอร์ส ระบุว่า ช่วงเวลาแห่งการทดสอบยังคงรออยู่ข้างหน้า ซึ่งประเทศตลาดเกิดใหม่ทุกประเทศยังคงต้องเผชิญความวิตกอย่างน้อยที่สุด 1 เรื่อง คือ ภัยก่อการร้าย สำหรับความวิตกเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วย ปัญหาทางการเมืองและปัญหาเกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาล ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระบบเดมอกคลี่ส์ อาจประเมินแนวโน้มการเกิดวิกฤติที่ต่ำกว่าความเป็นจริง

และเมื่อพิจารณาการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกขณะนี้ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มตระหนักถึงปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ ได้แก่ ปัญหาต่างๆ ที่เคลื่อนย้ายจากประเทศอุตสาหกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา อาทิ ความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจระดับมหภาคในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและการขาดดุลทางการเงินในสหรัฐอเมริกา ตลอดจนการขยายตัวมากเกินไปของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดผลเสียตามมา

สำหรับปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอันมหาศาลของภูมิภาคเอเชียทำให้เอเชียมีสถานภาพที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรับมือกับความเสี่ยงจากภายนอกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม เอเชียยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ผนวกกับนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายของแต่ละประเทศ อาจจะทำให้ประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีสภาพเช่นเดียวกับประเทศจีน นั่นคือ มีจุดยืนที่แข็งแกร่งในตลาดโลก โดยขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาภายในประเทศเพิ่มขึ้น

“ภูมิภาคเอเชียจำเป็นต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับแรงท้าทายภายในประเทศที่เกิดจากการรักษาค่าเงินสกุลเอเชียให้อ่อนตัวเกินจริงเป็นระยะเวลายาวนาน” นายร็อบ ซับบาราแมน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของเลแมน บราเดอร์ส และหนึ่งในผู้เรียบเรียงรายงานฉบับนี้ กล่าว

ไทย

การที่ระบบเดมอกคลี่ส์ให้ค่าความเสี่ยงสำหรับประเทศไทยประจำเดือนมิถุนายน 2547 เท่ากับศูนย์ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำให้เห็นถึงสถานภาพอันแข็งแกร่งของไทยในตลาดโลก ทั้งยังบ่งชี้ว่า ไทยมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น โดยเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่สุด

ความท้าทาย

แม้ว่าไทยจะมีความเสี่ยงต่อปัจจัยภายนอกในระดับต่ำ แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเสี่ยงต่อการเติบโตเร็วเกินไปเช่นเดียวกับเศรษฐกิจของจีน

“เมื่อพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ติดลบ จะพบว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านการปล่อยสินเชื่อที่ไม่ตรงกับ ความต้องการที่แท้จริง ขณะที่ภาคธุรกิจการเงินและภาคธุรกิจอื่นๆ ของไทยยังคงไม่มีความแข็งแกร่งและมั่นคงนัก” นายร็อบกล่าวเพิ่มเติม

ผลสรุปการพยากรณ์วิกฤติทางการเงินสำหรับภูมิภาคเอเชีย

ตารางต่อไปนี้ เป็นผลสรุปการพยากรณ์วิกฤติทางการเงิน “เดมอกคลี่ส์” สำหรับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย พร้อมด้วยปัจจัยที่ควรระวังที่อาจมีผลกระทบในอนาคตได้

ประเทศ คะแนนล่าสุด
(มิ.ย.2547) คะแนน (มี.ค.2547) ปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการประเมินในอนาคตและ
ข้อควรระวัง
จีน 24 24 การตกต่ำทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
ฮ่องกง 26 10 การขาดดุลงบประมาณ/ปัจจัยทางการเมือง/อัตราการว่างงานที่สูง
อินโดนีเซีย 0 0 ระบบการพิจารณาคดีที่ไร้ประสิทธิภาพ/ การขาดแคลนเงินลงทุน/
ปัจจัยทางการเมือง
เกาหลีใต้ 10 10 ความต้องการภายในประเทศที่อ่อนตัวลง/ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก
มาเลเซีย 10 10 การขาดแคลนทรัพยากรบุคคล /ปัจจัยทางการเมือง
ฟิลิปปินส์ 11 11 หนี้สาธารณะ/ภาคธุรกิจการเงิน/ปริมาณเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศต่ำ
สิงคโปร์ 10 24 แรงกดดันจากการแข่งขัน
ไต้หวัน 24 24 ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับจีน
ไทย 0 0 การปล่อยสินเชื่อที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริง

ระบบ “เดมอกคลี่ส์” (Damocles)

ระบบ “เดมอกคลี่ส์” ประกอบด้วยดัชนีทางการเงินและเศรษฐกิจระดับมหภาค 10 ข้อ ซึ่งผ่านการทดสอบอย่างรอบคอบเพื่อให้มั่นใจว่า การประเมินวิกฤติทางการเงินและการธนาคารมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ ระบบพยากรณ์วิกฤติทางการเงิน “เดมอกคลี่ส์” ได้นำวิกฤติทางการเงินที่เคยเกิดขึ้นในเอเชีย ยุโรป และละตินอเมริกา มาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดค่าและความสำคัญของดัชนีทั้ง 10 ข้อ หากดัชนีทั้ง 10 ข้อมีคะแนนรวมกัน 75 คะแนน หรือสูงกว่านั้น “เดมอกคลี่ส์” จะส่งสัญญาณเตือนว่า ดุลการชำระเงินของประเทศนั้นๆ มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤติได้ และหากคะแนนรวมกันมากกว่า 100 คะแนน หมายความว่า วิกฤติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

ระบบเดมอกคลี่ส์ มีดัชนีชี้วัด 10 ข้อ คือ

1) เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ/การนำเข้า (foreign reserve/imports)
2) เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ/หนี้ต่างประเทศระยะสั้น (foreign reserves/short-term external debt)
3)หนี้ต่างประเทศซึ่งคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (external debt as a percentage of GDP)
4) หนี้ต่างประเทศระยะสั้นคิดเป็นร้อยละของการส่งออก (short-term external debt as a percentage of exports)
5) ดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (current account as a percentage of GDP)
6) ปริมาณเงิน/เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ(broad money/foreign reserves)
7) สินเชื่อภาคเอกชนในประเทศคิดเป็นร้อยละของจีดีพี (domestic private credit as a percentage of GDP)
8) อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่แท้จริง (real short-term interest rate)
9) ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (stock market index)
10) อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ถ่วงน้ำหนักด้วยดุลการค้า (real trade-weighted exchange rate)

เลแมน บราเดอร์ส (ตัวย่อในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค: LEH) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2393 เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมในธุรกิจการเงินของโลก โดยเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่บริษัทเอกชน รัฐบาล และองค์กรของรัฐ ตลอดจนกลุ่มลูกค้าประเภทสถาบันและประเภทบุคคลชั้นนำทั่วโลก เลแมน บราเดอร์ส ยังเป็นผู้นำในด้านการขายหุ้นทุนและตราสารหนี้ การซื้อขายและวิเคราะห์หลักทรัพย์ การเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน การให้บริการปรึกษาเพื่อร่วมทุน และการให้บริการลูกค้าส่วนบุคคลระดับสูง เลแมน บราเดอร์ส มีสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์ก ลอนดอน และโตเกียว และมีการดำเนินงานในรูปแบบของเครือข่ายสำนักงานซึ่งมีอยู่ทั่วโลก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเลแมน บราเดอร์ส สามารถเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ของบริษัทได้ที่ www.lehman.com