โอลิมปิก 2004 : บทเรียน & บทพิสูจน์จากประเทศเจ้าภาพ

กรีซ สร้างตำนานโอลิมปิกได้สำเร็จอีกครั้ง เมื่อได้รับเกียรติเป็นประเทศเจ้าภาพต้อนรับทัพนักกีฬาจำนวนกว่า 10,000 คน จากนานาชาติ 202 ประเทศ มาร่วมแข่งขันประชันความเป็นจ้าวในเกมกีฬาประเภทต่างๆเกือบ 30 ชนิด ในช่วงระหว่างวันที่ 13-29 สิงหาคม 2547 ประเทศไทย เป็นชาติหนึ่งในเอเชียที่ได้ส่งนักกีฬาไทยจำนวน 42 คน เข้าร่วมมหกรรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ (Athens 2004) ด้วย นับเป็นกิจกรรมที่มีคุณประโยชน์ต่อเยาวชนไทยและประเทศชาติโดยรวม เพราะกีฬาไม่ว่าจะเป็นระดับประเทศหรือระดับสากลล้วนเป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนไทยทั้งทางร่างกาย จิตใจและสติปัญญา พร้อมที่จะเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป

โอลิมปิก ก็เป็นความหวังหนึ่งที่นานาชาติต้องการให้มหกรรมกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ได้มีส่วนช่วยประสานความแตกต่างทางความคิดความเข้าใจของคนต่างเชื้อชาติ ซึ่งจะบรรเทาปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ และนำไปสู่สันติภาพของโลกได้ในที่สุด โอลิมปิก 2004 ที่กรุงเอเธนส์ จึงเป็นเวทีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความกลมเกลียวกัน เมื่อนายกรัฐมนตรีตุรกี Tayyip Erdogan ตัดสินใจไปร่วมงาน Athens Games 2004 เพื่อต้องการให้ชาวโลกได้เห็นว่าความบาดหมางระหว่างประเทศกรีซและเพื่อนบ้านตุรกีได้สิ้นสุดลงแล้ว

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม การจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2004 ยังคงสะท้อนภาพลักษณ์ของความตึงเครียดระหว่างประเทศที่ปรากฏอยู่อย่างชัดเจน เนื่องจากกรีซจำเป็นต้องทุ่มเงินค่าใช้จ่ายมหาศาลเพื่อการรักษาความปลอดภัยใน Athens Games อย่างเข้มงวด คิดเป็นจำนวนเงินสูงถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 60,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าค่าใช้จ่ายที่สหรัฐฯใช้รักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงโอลิมปิกที่เมือง Atlanta ในปี 1996 ถึง 15 เท่า และยังมากกว่าที่ออสเตรเลียใช้ในช่วง Sydney 2000 ประมาณ 5 เท่า รวมทั้งกำลังตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฉพาะกิจประเภทต่างๆมีจำนวนประมาณ 70,000 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนนักกีฬา 1 คน ต่อเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 7 คน นับเป็นอัตราส่วนสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก

ทั้งนี้ เพราะเป็นการจัดครั้งแรกหลังเกิดเหตุการณ์วิปโยคที่สหรัฐอเมริกา 11 กันยายน 2544 ทำให้สหรัฐฯและชาติพันธมิตรบางส่วนหวาดระแวงภัยก่อการร้ายข้ามชาติ จนเจ้าภาพกรีซต้องระดมผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันภัยจากต่างประเทศมาร่วมกันรักษาการณ์ใน Athens Games อย่างหนาแน่น พร้อมอุปกรณ์ไฮเทครุ่นใหม่ล่าสุดมาช่วยตรวจจับสิ่งผิดปรกติในช่วงระหว่างการแข่งขัน รวมถึงการทำประกันภัยเป็นมูลค่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเกิดเหตุการณ์ร้ายที่ทำให้การแข่งขันได้รับความเสียหายหรือต้องยุติลง

ถึงแม้โอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ครั้งนี้มีร่องรอยของความไม่ไว้วางใจกันของชนชาติต่างๆ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งไม่อาจลดความสำคัญของเกมกีฬาชั้นนำของโลก ทำให้นานาประเทศยังคงพร้อมใจกันจัดส่งนักกีฬาของตนมาร่วมการแข่งขันอย่างพร้อมเพรียง ขณะเดียวกันเจ้าภาพกรีซก็ได้ทุ่มเททุกอย่างจน Athens Olympics พร้อมต้อนรับทัพนักกีฬาได้ทันเวลาราวปาฏิหาริย์

เอเธนส์เกมส์ 2004 & ปักกิ่งเกมส์ 2008

ในช่วงวันที่ 13-29 สิงหาคม 2547 ประชาชนจากทั่วทุกมุมโลกจะได้ชมการถ่ายทอดสดเกมการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆจากเอเธนส์เกมส์ 2004 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้สนใจประมาณ 1,000 ล้านคน ขณะที่แฟนพันธุ์แท้กีฬาโอลิมปิกที่เดินทางมาชมด้วยตนเอง ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซคาดว่ามีจำนวนราว 1 ล้านกว่าคน ซึ่งต่ำกว่าที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลประมาณการไว้ เนื่องจากคนอเมริกันลดการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศประมาณ 20-30% เพราะพิษก่อการร้ายและค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว ส่วนนักท่องเที่ยวยุโรปก็ชะลอการเดินทางไกล ด้วยปัญหาราคาน้ำมันที่แพงลิ่ว กำลังผลักดันให้ค่าใช้จ่ายในยุโรปปรับตัวสูงขึ้น

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันโอลิมปิกของกรีซจึงรณรงค์ให้ชาวกรีซพร้อมใจกันมาเชียร์มหกรรมกีฬาโลกที่สนามแข่งขัน โดยเฉพาะชาวกรุงเอเธนส์ จำนวน 4.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 11 ล้านคน มีแนวโน้มที่จะมาร่วมเป็นกำลังใจให้นักกีฬากันอย่างเต็มที่ เนื่องจากประชาชนยังคงตื่นตัวกับตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลยูโร 2004 ที่ทีมกรีซคว้าชัยชนะมาครองอย่างทรหดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ถึงแม้กีฬาโอลิมปิกครั้งนี้จะใช้เวลาเพียง 16 วันสำหรับนักกีฬามาแข่งขันช่วงชิงความเป็นหนึ่งในแต่ละเกมกีฬาก็ตาม แต่โอลิมปิก 2004 กลับมีประเด็นต่างๆมากมายที่น่าสนใจพอสรุปได้ 4 ประการ ดังนี้

– โอลิมปิก 2004 & เจ้าภาพ : หากกรีซไม่ได้เป็นต้นตำรับกีฬาโอลิมปิกเมื่อ 108 ปีก่อน ซึ่งได้จัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 1896 โอกาสที่มหกรรมกีฬาโอลิมปิกจะมาจัดในประเทศกำลังพัฒนาที่มีประชากรเพียง 11 ล้านคน คงเป็นเพียงความฝันเท่านั้น แต่วันนี้ กรีซได้เป็นเสมือนตัวแทนของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆที่แสดงให้เห็นว่าชาติขนาดเล็กก็มีสมรรถนะสามารถจัดงานกีฬาระดับโลกได้ไม่เป็นรองประเทศที่พัฒนาแล้ว

กว่าที่กรีซจะได้ผงาดทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2004 อย่างสมบูรณ์ในวันนี้ กรีซต้องประสบทั้งความผิดหวังและต้องรับคำตำหนิอย่างเจ็บปวดมาแล้ว นับตั้งแต่การเสนอประเทศเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของปี 1996 เพื่อฉลองครบรอบ 100 ปีของมหกรรมกีฬาเก่าแก่ที่ประเทศกรีซ แต่ก็ต้องพ่ายแพ้แก่เมือง Atlanta ประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม กรีซมิได้ย่อท้อและเสนอตัวอีกหลายครั้ง จนประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ Athens Games 2004 แต่ปัญหาและอุปสรรคยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาจากความวุ่นวายทางการเมืองในกรีซ ทำให้การก่อสร้างและการจัดเตรียมงานซึ่งคณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ให้เวลาไว้ 7 ปี แทบไม่มีความคืบหน้าในช่วง 3 ปีแรก

แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและประชาชนกรีซก็สามารถพิสูจน์ให้ชาวโลกให้เห็นว่ากรีซฟันฝ่าอุปสรรคไปได้ไม่น้อยหน้าประเทศเจ้าภาพรุ่นก่อน (โอลิมปิกที่ Montreal 1976 ที่ประเทศแคนาดา หลังคาอัฒจันทร์เสร็จไม่ทัน ส่วนที่ Atlanta 1996 ที่สหรัฐอเมริกา ก็เจอวิกฤตจราจรและเทคโนโลยีขัดข้อง) ทั้งนี้ กรีซได้จัดการสิ่งก่อสร้างต่างๆที่จำเป็นแล้วเสร็จทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขัน ถนนหนทาง รถไฟฟ้า รถรางชานเมืองและในเขตเมือง รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมากมาย เจ้าภาพเนรมิตได้ทันเวลา เพื่อให้เกียรติต้อนรับแขกต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี

เอเธนส์เกมส์ ให้ทั้งผลดีและผลเสียแก่ประเทศเจ้าภาพ

ด้านผลดี ได้แก่ การได้สร้างชื่อเสียงและจารึกเป็นประวัติศาสตร์ให้แก่ประเทศกรีซอีกครั้งในวงการกีฬาระดับโลก ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ธุรกิจท่องเที่ยวกรีซที่ได้รับความนิยมอยู่แล้ว ยิ่งเฟื่องฟูยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาเยือนแผ่นดินโบราณประมาณ 10-12 ล้านคน/ปี นอกจากนี้ การจัดเตรียมมหกรรมกีฬาโอลิมปิกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ช่วยให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกรีซคล่องตัว เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยราว 3.5% ต่อปี งานก่อสร้างต่างๆช่วยให้บริษัทกรีซและประชาชนมีงานทำ ที่สำคัญก็คือ ชาวเอเธนส์สามารถใช้สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นเพื่อเป็นประโยชน์ในภายหลัง เช่น หมู่บ้านนักกีฬา ใช้เป็นสถานสงเคราะห์แก่ผู้มีรายได้น้อย ส่วนอาคารศูนย์ข่าวและการประชาสัมพันธ์ เปิดให้เอกชนและสโมรสกีฬาต่างๆประมูลนำไปใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันชาวกรีกได้มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมถึงโรงพยาบาลที่มีคุณภาพและมาตรฐานดีขึ้น หากไม่มีกีฬาโอลิมปิกเป็นเงื่อนไขกำหนดเวลาแล้ว โอกาสที่กรีซจะได้ปรับปรุงบ้านเมืองให้สวยงามมากขึ้น และชาวกรีซสะดวกสบายยิ่งขึ้น อาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านี้

ส่วนผลเสีย ก็คือ รัฐบาลกรีซต้องใช้จ่ายเงินเพื่อเอเธนส์เกมส์เป็นจำนวนเงินมหาศาล เพื่อเร่งรัดงานให้เสร็จทันเวลาและต้องรักษาความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์ เดิมคาดการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ประมาณ 5,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะนี้วงเงินค่าใช้จ่ายอยู่ที่ระดับราว 7,200 ล้านดอลลาร์ และมีการพยากรณ์กันว่าเมื่อสิ้นสุดเกมการแข่งขันจริง ค่าใช้จ่ายอาจแตะที่ระดับ 12,500 ล้านดอลลาร์ สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลกรีซกำลังประสบปัญหาขาดดุลงบประมาณราว 3.2% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) กำหนดแก่สมาชิกไว้ไม่เกิน 3% ของ GDP ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ Standard & Poor’s ได้ออกรายงานเกี่ยวกับสถานะประเทศกรีซ ก่อนพิธีเปิดมหกรรมโอลิมปิกที่กรุงเอเธนส์ โดยเตือนให้รัฐบาลกรีซพยายามควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐอย่างเข้มงวด และปรับปรุงการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อลดปัญหาการขาดดุลงบประมาณและปัญหาหนี้สาธารณะอย่างเร่งด่วน ปัจจุบันอัตราหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับ 102% ของ GDP เป็นที่น่าสังเกตว่า ทางการกรีซทำงานแข่งขันกับเวลาได้สำเร็จมาแล้ว ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอาจไม่ต้องใช้เวลามาราธอนจนเกินไป

– โอลิมปิก 2004 & เหรียญรางวัล : บรรดาเซียนกีฬาระดับแนวหน้าของโลก ได้มีการประเมินสถานการณ์การแข่งขันในเอเธนส์เกมส์ โดยระบุว่า ประเทศเจ้าภาพกรีซจะสร้างความมหัศจรรย์อีกครั้งด้วยการได้ครองเหรียญรางวัลเพิ่มขึ้น 16 เหรียญ รวมเป็น 29 เหรียญ จากที่ได้รับ 13 เหรียญในซิดนีย์เกมส์ 2000 ที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากเสียงเชียร์และความคุ้นเคยในบ้านตัวเอง และด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงส่งผลให้ประเทศออสเตรเลีย (เจ้าภาพครั้งก่อน) กลับต้องได้รับเหรียญรางวัลในเอเธนส์เกมส์ลดลง 17 เหรียญ เหลือจำนวน 41 เหรียญ จากที่ได้รับถึง 58 เหรียญในซิดนีย์เกมส์

ส่วนประเทศที่ได้ครองแชมป์อันดับ 1 ในเอเธนส์เกมส์ 2004 คงเป็นประเทศหน้าเดิม ได้แก่ สหรัฐอเมริกา คาดว่าจะโกยเหรียญไปได้ประมาณ 70 เหรียญ รองลงมาอีก 9 อันดับ ได้แก่ รัสเซีย (64 เหรียญ) จีน (50 เหรียญ) เยอรมนี (45 เหรียญ) ออสเตรเลีย (41 เหรียญ) ฝรั่งเศส (31 เหรียญ) กรีซ (29 เหรียญ) อิตาลี (28 เหรียญ) อังกฤษ (25 เหรียญ) และ เกาหลีใต้ (24 เหรียญ)
ประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ การที่ประเทศชั้นนำสามารถโกยเหรียญรางวัลได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ เนื่องจากวงการกีฬาสหรัฐฯ ได้นำระบบบริหารจัดการธุรกิจเข้ามาประยุกต์ใช้ในวงการกีฬา ทำให้นักกีฬาและทีมงานสามารถทำงานได้อย่างคล่องตัวและมีเงินงบประมาณไว้ใช้จ่าย เพื่อการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ บริษัทเอกชนจะมีส่วนร่วมในการให้เงินสนับสนุนและเป็นสปอนเซอร์ในกีฬาประเภทต่างๆ เพื่อแลกกับการที่นักกีฬามาช่วยโฆษณายี่ห้อสินค้าให้แก่บริษัทในภายหลัง หากนักกีฬารายใดมีชื่อเสียงได้รับเหรียญทองเป็นจำนวนมาก ก็จะพลอยสร้างภาพลักษณ์ให้แก่สินค้าของบริษัทนั้นๆ เป็นทวีคูณ ทั้งนี้ นักกีฬาและครูฝึกสอนจะได้รับเงินเดือนและโบนัสตามสัญญาที่ตกลงกันกับบริษัทเอกชนเหล่านั้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เคยใช้ระบบวางแผนจากส่วนกลาง เช่น รัสเซีย หรือประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ยังมีนักกีฬาที่มีฝีมือและมีวินัยสืบทอดความเข้มงวดของระบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนนักกีฬาและเงินอุดหนุน จึงมีแนวโน้มที่จะนำระบบธุรกิจแบบตะวันตกมาประยุกต์ใช้ในวงการกีฬามากขึ้นด้วย

– โอลิมปิก 2004 & เอเชีย : ภูมิภาคเอเชียมีประเทศที่ได้เข้าร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกหลายประเทศ เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ แต่ปรากฏว่ามีเพียง 7 ชาติเท่านั้นที่สามารถคว้าชัยชนะติดอันดับ 50 ประเทศแรกที่ได้รับเหรียญรางวัลมากที่สุดในโอลิมปิกครั้งที่แล้ว ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน อิหร่าน และเกาหลีเหนือ สำหรับประเทศไทยได้ 1 เหรียญทอง และ 2 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ซิดนีย์ อยู่ในอันดับที่ 53 แต่อย่างไรก็ตาม ในเอเธนส์เกมส์ 2004 ภูมิภาคเอเชียยังคงได้รับความสนใจจากชาวโลก เนื่องจากมีความหลากหลายของประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน ตั้งแต่ประเทศเกิดใหม่ไปถึงประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย อาทิ

• อัฟกานิสถาน ส่งนักกีฬากลับมาร่วมโอลิมปิกอีกครั้ง หลังจากที่ต้องหยุดชะงักลงในปี 1999 เป็นผลจากกลุ่มทาลิบันเข้าปกครองประเทศ โดยเฉพาะผู้หญิงอัฟกานิสถานไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมในกีฬาใดๆได้เลย แต่เอเธนส์เกมส์ อัฟกานิสถานจะคืนสู่สนามแข่งขันอีกครั้ง และมีนักกีฬาหญิงวิ่ง 100 เมตร เป็นผู้ถือธงชาติในพิธีเปิดการแข่งขัน

• อีส ติมอร์ ซึ่งเพิ่งได้รับเอกชาติเมื่อ 2 ปีก่อน ก็ได้เข้าร่วมมหกรรมกีฬาโลกอย่างเอเธนส์เกมส์เป็นครั้งแรก โดยคาดหวังว่านักกีฬาของติมอร์จะช่วยดึงดูดให้ชาวโลกได้รู้จักประเทศ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยยกฐานะทางเศรษฐกิจในระยะต่อไป

• อิรัก ประเทศที่ยังคงวุ่นวายสับสน แต่ก็ได้แสดงสปิริตด้วยการส่งนักกีฬามาร่วมแข่งขันประมาณ 48 คน ประเภทกีฬาที่ชาวอิรักให้ความสนใจที่สุด ได้แก่ ฟุตบอล

• จีน จัดอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นแนวหน้าในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจหรือด้านกีฬา โดยสามารถรั้งตำแหน่งอันดับ 3 ในซิดนีย์เกมส์ ด้วย 28 เหรียญทอง รองจากสหรัฐฯ และรัสเซีย ความเข้มแข็งทั้งด้านเศรษฐกิจและกีฬาส่งผลให้จีนได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2008

• อินเดีย มีประชากรอยู่ในระดับ 1,000 ล้านคนเช่นเดียวกับจีน แต่บทบาทในโอลิมปิกของอินเดียกลับแตกต่างจากจีนอย่างลิบลับ โดยได้รับเหรียญทองแดงเพียง 1 เหรียญในซิดนีย์เกมส์ เนื่องจากประชาชนหลงใหลในกีฬา cricket อย่างมาก ซึ่งไม่ได้บรรจุอยู่ในกีฬาโอลิมปิก ทำให้ชาวอินเดียไม่ได้ติดตามและให้ความสำคัญโอลิมปิกเท่าที่ควร

• เกาหลีใต้ & ญี่ปุ่น ล้วนเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำแห่งเอเชีย และสามารถสร้างชื่อในโอลิมปิกได้ไม่น้อยหน้าจีนเท่าใดนัก ทั้งนี้ เกาหลีใต้สร้างสถิติ 28 เหรียญรางวัล อยู่ในอันดับ 10 ในซิดนีย์เกมส์ ขณะที่ญี่ปุ่นทำได้ 18 เหรียญ ตามมาที่อันดับ 14 คาดว่าในเอเธนส์เกมส์ ทั้งคู่น่าจะรั้ง 1 ใน 15 อันดับแรกไว้ได้เหมือนเดิม

• ไทย ได้ส่งนักกีฬาไปร่วมเอเธนส์เกมส์ด้วย 42 คน ในกีฬา 13 ประเภท ได้แก่ มวยสากล ยกน้ำหนัก เทนนิส แบดมินตัน เทควันโด กรีฑา ขี่ม้า เทเบิลเทนนิส ฟันดาบ ยิงปืน ว่ายน้ำ เรือพาย และวินด์เซิร์ฟ ซึ่งฝ่ายไทยคาดกันว่ากีฬาที่มีแนวโน้มจะคว้าเหรียญทอง ได้แก่ มวยสากล ยกน้ำหนักหญิง และเทควันโด

– โอลิมปิก 2008 & เจ้าภาพจีน : หลังจากที่จีนประสบความผิดหวังจากการเสนอประเทศเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 2000 โดยแพ้ประเทศออสเตรเลียเพียง 2 คะแนน ไม่ได้ทำให้จีนหมดกำลังใจ แต่กลับกดดันให้จีนเพิ่มความพยายามยิ่งขึ้น ด้วยการว่าจ้างบริษัทต่างประเทศช่วยปรับภาพลักษณ์จีน และวางกลยุทธ์ที่จะเสนอตัวอีกครั้ง ในที่สุดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2544 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็ตัดสินใจเลือกกรุงปักกิ่งเป็นสถานที่จัดมหกรรมกีฬาโลกในปี 2008

จุดเด่นที่ทำให้จีนได้รับการคัดเลือก ได้แก่ จีนเสนอที่จะปรับปรุงกรุงปักกิ่งให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “Olympic Green” ในขณะเดียวกัน การที่จีนมีภาวะเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น ส่งผลให้ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนของต่างประเทศอย่างคับคั่ง โดยมองว่าการส่งเสริมให้จีนมีส่วนร่วมในกิจกรรมชั้นนำของโลก เป็นการสนับสนุนประชาธิปไตยในจีนและยังช่วยให้จีนเปิดประเทศสู่สากลอย่างเต็มตัว ยิ่งไปกว่านั้น การที่จีนต้องเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพปักกิ่งเกมส์ 2008 จะทำให้จีนลดบทบาทแข็งกร้าวในเวทีโลกในช่วงก่อนเป็นเจ้าภาพ เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไว้อย่างดี นอกจากนี้ ยังประเมินกันว่า ในช่วงตั้งแต่ปี 2002-2008 การใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างสนามกีฬาและอาคารต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงสาธารณูปโภคสาธารณูปการทั้งหมดในกรุงปักกิ่ง และการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม จะกระตุ้นให้อัตราการเติบโต GDP ของจีนเพิ่มอีกราว 0.3% ต่อปี

ข้อพึงระวัง ก็คือ เงินค่าใช้จ่ายเพื่อสร้างสรรค์ปักกิ่งเกมส์ให้เป็นกีฬาพิทักษ์สิ่งแวดล้อม คาดการณ์เบื้องต้นว่าจะมีมูลค่าประมาณ 23,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 920,000 ล้านบาท) ทั้งนี้ ประเด็นที่ทางการจีนต้องจับตาไม่ได้อยู่ที่ยอดงบประมาณ แต่เป็นความเหลื่อมล้ำของรายได้และความเจริญระหว่างเขตเมืองใหญ่และเขตเมืองห่างใกล้ตอนในของประเทศ รวมถึงวิธีการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมในกรุงปักกิ่งที่จำเป็นต้องโยกย้ายโรงงานมากมายออกไปจากเขตเมืองชั้นในไปอยู่นอกเขตเมือง หรือการกำหนดให้รถทุกคันใช้ก๊าซสะอาดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายทางการจีนที่มีเวลาเหลืออีกเพียง 4 ปีเท่านั้น

ส่วนด้านความเป็นเลิศของเจ้าภาพในปักกิ่งเกมส์ 2008 คาดว่าจีนคงมีการวางแผนไว้แล้วอย่างรอบคอบ เนื่องจากขณะนี้ทัพนักกีฬาจีนในเอเธนส์ล้วนเป็นเยาวชนหน้าใหม่ ซึ่งทางการจีนส่งออกมาหาประสบการณ์ไว้ก่อน จึงทำให้จีนไม่ได้คาดหวังว่าที่เอเธนส์เกมส์ 2004 จีนจะคว้าเหรียญทองได้มากมายเหมือนที่ซิดนีย์ แต่อีก 4 ปีข้างหน้าในปักกิ่งเกมส์ 2008 ประเทศเจ้าภาพจะโกยเหรียญทองให้มากที่สุดอย่างใสสะอาด ปราศจากเรื่องอื้อฉาวสารกระตุ้นนานาชนิดที่เคยเปื้อนวงการกีฬาของจีนในช่วงทศวรรษ 1990 รวมถึงการจัดระเบียบแฟนกีฬาชาวจีนให้เชียร์การแข่งขันด้วยน้ำใจนักกีฬาอีกด้วย

คบเพลิงแห่งโอลิมปิก 2004 ได้ลุกโชติช่วง ณ กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ เป็นเวลา 16 วัน เสมือนกับขุมพลังของนักกีฬาจากนานาประเทศที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโลกครั้งที่ 28 นี้อย่างพร้อมเพรียง เพื่อพิสูจน์ความสามัคคีของมวลมนุษยชาติที่ยังคงหลงเหลืออยู่ กรีซในฐานะประเทศเจ้าภาพก็ได้แสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงศักยภาพในการจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ได้สำเร็จ เป็นความภาคภูมิของประชาชนกรีซทั้งประเทศ และนับจากนี้ไปอีก 4 ปี เปลวเพลิงแห่งโอลิมปิกจะได้สว่างไสวในกรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในปี 2008

แต่ประเด็นที่ชาวโลกเริ่มให้ความสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือ ประเทศใดจะเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2012 ซึ่งเมืองที่เข้าชิงชัยล้วนเป็นชาติมหาอำนาจ ได้แก่ นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส เมดริด และมอสโก ถึงแม้จะไม่มีรายชื่อเมืองของประเทศกำลังพัฒนา แต่หากประเทศเหล่านั้น รวมถึงประเทศไทย มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาวงการกีฬาของตนอย่างจริงจัง รวมถึงมีการบริหารจัดการเขตเมืองอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว โอกาสที่กรุงเทพมหานครหรือเมืองต่างๆ ในประเทศกำลังพัฒนาจะเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็ไม่ไกลเกินเอื้อม ซึ่งกรีซได้เป็นชาติหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นในเอเธนส์เกมส์