ไวน์ไทย : เร่งปรับตัว…รับFTAไทย-ออสเตรเลีย

ผลจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่จะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2548 ส่งผลให้อุตสาหกรรมไวน์ของไทยจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับไวน์จากออสเตรเลียที่จะเข้ามาแย่งตลาดไวน์ที่ผลิตในประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากประเทศออสเตรเลียมีการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตไวน์เพื่อการค้ามากว่า 200 ปี ทำให้เป็นที่นิยมและถือเป็นประเทศผู้ส่งออกไวน์อันดับ 4 ของโลก และถือเป็นประเทศที่ส่งออกไวน์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นลำดับ 2 รองจากฝรั่งเศส

ดังนั้นจากปัจจัยทางด้านต้นทุนการนำเข้าไวน์ที่ปรับตัวลดลงตามอัตราภาษีนำเข้าจะทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไวน์จากออสเตรเลียมีเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในระยะต่อไปไทยจะมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับอีกหลายๆประเทศ ซึ่งบางประเทศมีการผลิตและจำหน่ายไวน์ออกไปจำหน่ายจนเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกาและนิวซีแลนด์ ที่เป็นประเทศผู้ส่งออกไวน์อันดับ 7 และอันดับ 12 ของโลกตามลำดับ จึงส่งผลให้ไวน์ของไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ดังนั้นผู้ประกอบการไวน์ของไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ของตนเองทั้งด้านรสชาติและคุณภาพให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั้งนี้เพื่อรองรับการแข่งขันกับไวน์จากต่างประเทศที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นภายหลังจากไทยมีการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ในขณะเดียวกันก็เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการผลักดันไวน์ไทยเข้าช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไวน์โลกที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึงประมาณปีละกว่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลียที่จะเริ่มมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2548 ประเทศไทยจะลดภาษีไวน์ที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลียจากร้อยละ 54.6-60 ลงมาเหลือร้อยละ 40 ก่อนที่จะค่อยๆทยอยปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 0 ภายใน 10 ปีหรือปี 2558 ในขณะที่ออสเตรเลียจะลดภาษีนำเข้าไวน์ที่นำเข้าจากประเทศไทยลงมาจากร้อยละ 4-5 ลงมาเหลือร้อยละ 0 ทันทีในปี 2548 ซึ่งจากข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดไวน์ในประเทศพอสมควรโดยเฉพาะไวน์ที่ผลิตจากผู้ประกอบการในประเทศรวมทั้งไวน์นำเข้าจากประเทศอื่นๆ โดยมีรายละเอียดดังนี้

ผลกระทบต่อไวน์ที่ผลิตในประเทศ

การที่ออสเตรเลียมีการลดภาษีนำเข้าไวน์จากประเทศไทยลงมาจากร้อยละ 4-5 เหลือร้อยละ 0 นั้นคาดว่าในระยะแรกจะยังไม่ส่งผลดีต่อไวน์ไทยในด้านการส่งออกไปยังออสเตรเลียมากนัก ทั้งนี้แม้ว่าออสเตรเลียจะมีการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศปีละ 99.4ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ส่วนใหญ่ออสเตรเลียจะนำเข้าไวน์ที่มีคุณภาพและชื่อเสียงดีเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะไวน์จากประเทศ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ อิตาลี และสเปน เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกไวน์ของไทยไปยังออสเตรเลียในปี 2546 จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศมีเพียงเล็กน้อยเพียง 15,126 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้นทำให้ไวน์ไทยจึงยังไม่เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคในออสเตรเลียเท่าที่ควร ดังนั้นผู้ประกอบการไวน์ของไทยจำเป็นต้องใช้เวลาในการสร้างความยอมรับทางด้านคุณภาพและรสชาติของไวน์ไทยให้ผู้บริโภคชาวออสเตรเลียได้รู้จักอีกระยะหนึ่งจึงจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าดังกล่าว

เมื่อพิจารณาทางด้านผลเสียจากการเปิดเสรีทางการการค้าที่ไทยทำข้อตกลงกับออสเตรเลียพบว่าจะทำให้ไวน์ที่ผลิตในประเทศต้องแข่งขันกับไวน์จากประเทศออสเตรเลียด้วยความยากลำบากขึ้นทั้งนี้เนื่องจากปัจจัย 2 ประการคือ

1.ปัจจัยทางด้านต้นทุน ผลจากการที่ไทยมีการปรับลดภาษีนำเข้าไวน์ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีจากเดิมร้อยละ 54.6-60 เหลือร้อยละ 40 จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าของไวน์จากออสเตรเลียปรับตัวลดลงมาก ส่งผลทำให้ไวน์จากประเทศออสเตรเลียสามารถใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาเพื่อขยายตลาดได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นไวน์นำเข้าจากออสเตรเลียราคา CIF อยู่ที่ระดับ 100 บาทอัตราภาษีนำเข้าร้อยละ 60 จะมีภาระภาษีเก่าและใหม่ดังนี้

ภาระภาษีที่เสีย = ภาษีนำเข้า+ภาษีสรรพสามิต+ภาษีเทศบาล+ภาษีเพื่อสุขภาพ
ภาษีสรรพสามิต = (ราคา C.I.F +อากรขาเข้า+ค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียมพิเศษอื่นๆ)xอัตราภาษี
1-(1.1xภาษีสรรพสามิต)

ภาษีเทศบาล = ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต
ภาษีเพื่อสุขภาพ = ร้อยละ 2 ของภาษีสรรพสามิต
ดังนั้นภาระภาษีเดิม = 60+282.35+28.24+5.65
= 376.24 บาท
ภาระภาษีใหม่ = 40+247.06+24.71+4.94
= 316.71 บาท
ฉะนั้นภาระภาษีที่ลดลง = 59.53 บาท

และเป็นที่น่าสังเกตว่า หากภาษีนำเข้าไวน์ของไทยลดลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 ภาระภาษีของไวน์จากออสเตรเลียที่มีราคานำเข้า(CIF) 100 บาทจะอยู่ที่ระดับเพียง 197.65 บาทเท่านั้นซึ่งจะยิ่งทำให้ศักยภาพการแข่งขันของไวน์จากออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้นและเป็นภาระหนักของผู้ประกอบการไวน์ของไทยที่จะแข่งขันได้ยากลำบากขึ้น

2.ปัจจัยทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมไวน์ ออสเตรเลียมีการพัฒนาด้านการผลิตไวน์เพื่อการค้ามากว่า 200 ปี ทั้งในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย นิวเซาท์เวลส์ และวิคตอเรีย เป็นต้น ทั้งนี้ไวน์ที่ออสเตรเลียผลิตจนมีชื่อเสียงจะมีทั้งไวน์แดง ไวน์ขาว รวมทั้ง สปาร์กลิงไวน์หรือไวน์ชนิดที่มีฟองซึ่งมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผสมอยู่ โดยการผลิตไวน์นั้นมีเป็นจำนวนมากที่ใช้พันธุ์องุ่นจากฝรั่งเศสมาผลิตเพื่อให้มีรสชาติเป็นที่นิยมเช่นเดียวกับไวน์จากฝรั่งเศสแต่มีราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าจึงได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนปัจจุบันออสเตรเลียสามารถยกระดับขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไวน์ไปจำหน่ายยังตลาดโลกเป็นอันดับสี่รองจากประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน โดยออสเตรเลียมีการส่งออกไวน์ไปทั่วโลกในปี 2546 ทั้งสิ้น 536.6 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่าถึง 1,544.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มีการส่งออกไวน์มายังประเทศไทยประมาณ 0.97 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่า 2.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับในส่วนของไทยนั้นมีการผลิตไวน์เพื่อบริโภคมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการบริโภคในประเทศในขณะที่การส่งออกยังมีไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากภาครัฐเริ่มจะเปิดเสรีการผลิตไวน์ผลไม้และไวน์พื้นเมืองเมื่อปี 2543 ที่ผ่านมา โดยในปี 2546 ที่ผ่านมาไทยมีการส่งออกไวน์เพียงประมาณ 1 ล้านลิตรคิดเป็นมูลค่า 105 ล้านบาทหรือประมาณ 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นการส่งออกไวน์ไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนได้แก่ กัมพูชา พม่า ลาวและเวียดนามคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 65.6 ส่วนการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศที่ถือเป็นตลาดบริโภคไวน์รายใหญ่อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และญี่ปุ่นมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17.9

ผลกระทบต่อไวน์ประเทศอื่นๆ ปัจจุบันตลาดไวน์นำเข้าของไทยส่วนใหญ่จะเป็นไวน์จากประเทศฝรั่งเศสคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.9 รองลงมาจะนำเข้าไวน์จากออสเตรเลียคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.2 ทั้งนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไวน์จากประเทศออสเตรเลียได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดไวน์นำเข้าของไทยทั้งนี้ด้วยคุณภาพและรสชาติที่มีหลากหลายระดับแต่มีราคาจำหน่ายต่ำกว่าไวน์จากประเทศคู่แข่งคือฝรั่งเศสพอสมควร ทั้งนี้การที่ไทยมีการลดภาษีนำเข้าไวน์จากประเทศออสเตรเลียจะช่วยให้ต้นทุนการนำเข้าไวน์จากออสเตรเลียปรับตัวลดลง ส่งผลทำให้ไวน์จากประเทศอื่นๆอาทิ ฝรั่งเศส อิตาลี ชิลี แข่งขันได้ยากลำบากขึ้นโดยเฉพาะไวน์ระดับราคาปานกลางขวดละไม่เกิน 1,000 บาท ในขณะที่ไวน์ซึ่งมีคุณภาพสูงได้รับผลกระทบไม่มากนัก ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อค่อนข้างสูงส่วนใหญ่จะคำนึงถึงคุณภาพและชื่อเสียงของแหล่งผลิตไวน์มากกว่าคำนึงถึงเรื่องราคา

กล่าวโดยสรุปแล้ว การปรับลดอัตราภาษีนำเข้าไวน์ไทยและไวน์ออสเตรเลียภายใต้ข้อตกลงเปิดเสรีทางการค้านั้น ในด้านหนึ่งจะเป็นโอกาสให้ไทยมีลู่ทางในการขยายตลาดไวน์ไทยสู่ประเทศออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการปรับลดภาษีดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกระตุ้นทำให้ผู้ประกอบการไวน์ของไทยต้องแข่งขันกับไวน์จากประเทศออสเตรเลียซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านคุณภาพและรสชาติของไวน์ซึ่งเป็นที่นิยมและรู้จักของนักดื่มไวน์ทั่วโลกรวมทั้งคนไทย

นอกจากนี้ในระยะต่อไปประเทศไทยจะมีการเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้ากับอีกหลายๆประเทศอาทิสหรัฐอมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย เปรู บาร์เรน และนิวซีแลนด์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไวน์ไทยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากหลายๆประเทศที่ไทยจะมีการจัดทำข้อตกลงนั้นมีการพัฒนาทางด้านการผลิตและการจำหน่ายไวน์มาอย่างยาวนานจนเป็นที่ยอมรับของตลาดโลกเช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย อาทิ สหรัฐอเมริกา และ นิวซีแลนด์ ซึ่งปัจจุบันถือเป็นประเทศผู้ส่งออกไวน์อันดับ 7 (มูลค่าการส่งออก 605.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)และอันดับ 12 ของโลก(มูลค่าการส่งออกไวน์ 158.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ตามลำดับ ดังนั้นผู้ประกอบการไวน์ของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวด้วยการพัฒนาทางด้านคุณภาพและชื่อเสียงให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลทั้งนี้เพื่อปกป้องส่วนแบ่งตลาดไวน์ในประเทศ รวมทั้งขยายตลาดไวน์ของไทยไปยังประเทศที่มีข้อตกลงทางการค้ามากขึ้นด้วย