กรุงเทพมหานคร กำลังจะได้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ในวันที่ 29 สิงหาคม 2547 เพื่อสานต่อโครงการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศไทยให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับชาวกทม. และชาวไทยทั่วไป รวมทั้งสร้างชื่อเสียงกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองที่มีระเบียบ สะอาด และปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย นับเป็นภารกิจหนักหน่วงของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 14 ในการบริหารเมืองหลวงให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ด้วยสาธารณูปโภคทันสมัย ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ละเลยสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ความร่มรื่นของต้นไม้ตามสถานที่สาธารณะทั่วไป ลดมลพิษในอากาศและน้ำเสีย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวเมืองหลวงแห่งนี้ให้ทัดเทียมกับเมืองชั้นนำอื่นๆ ในเอเชียและของโลก
กรุงเทพมหานคร … ติดอันดับ 104 ของเมืองน่าอยู่ในโลก
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่เติบโตรวดเร็วอย่างไร้ทิศทาง เนื่องจากกรุงเทพฯ เปรียบเสมือนเป็นจุดศูนย์กลางของความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ-การเงินและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศ ขณะที่การกระจายความเจริญไปยังส่วนภูมิภาคค่อนข้างล่าช้า ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพฯ’ ผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ต้องการเข้ามาแสวงหาโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีกว่าในเมืองหลวง ประมาณว่าประชากรที่กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนในปัจจุบัน
ความเจริญของกรุงเทพมหานครที่ก้าวหน้าทันสมัยขึ้นเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับความแออัดของผู้คนในเมืองหลวง จึงเป็นการบ้านข้อใหญ่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะเข้ารับตำแหน่งใหม่ ต้องปรับปรุงแก้ไขปัญหาของกรุงเทพอย่างเร่งด่วนและเด็ดขาด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 6 (2545-2549) ซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญาไว้กับคนกรุงเทพฯ ได้แก่ การพัฒนากรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน การยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพมหานคร การปรับโครงสร้างระบบจราจรและขนส่งรูปแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศและสภาพแวดล้อม การฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร การปรับปรุงบริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เพื่อทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองสะอาด
พัฒนาเมือง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
แม้ว่ากรุงเทพมหานครมีแผนพัฒนาฯกำหนดกรอบชัดเจนในการพัฒนาเมืองหลวงให้เป็นเมืองน่าอยู่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการต่างๆ ค่อนข้างเชื่องช้า ไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทัน ทำให้กรุงเทพฯ ตกอยู่ในสภาพเมืองหลวงแออัด ขาดระเบียบวินัยในการใช้สาธารณประโยชน์ร่วมกันของคนกรุง พอกพูนด้วยปัญหาจราจร ขยะมูลฝอย และสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ
ปัจจุบัน กรุงเทพฯได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับ 104 ของโลก จากตารางการจัดอันดับเมืองน่าอยู่จำนวน 215 แห่งทั่วโลก ซึ่งจัดโดยบริษัทที่ปรึกษาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา Mercer Human Resource Consulting เพื่อเป็นประโยชน์แก่บรรดาบริษัทข้ามชาติที่จัดส่งพนักงานไปทำงานในประเทศต่างๆ สามารถเปรียบเทียบสภาพความเป็นอยู่ของแต่ละเมืองได้อย่างถูกต้อง โดยศึกษาจากปัจจัยสำคัญ อาทิ สภาพสิ่งแวดล้อม สถานที่พำนักอาศัย บริการสาธารณะ สถานพยาบาล ความปลอดภัย สภาพความเป็นเมืองธุรกิจ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหลวงของประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน กรุงเทพมหานครเป็นรองสิงคโปร์อย่างมาก โดยสิงคโปร์จัดเป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับ 36 ของโลก ขณะเดียวกันเมืองหลวงของประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย ก็ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่อันดับ 73 ของโลก
สำหรับเมืองใหญ่ในเอเชียที่มีบรรยากาศและภาพแวดล้อมน่าอยู่อาศัยติดอันดับ 1 ใน 50 ของโลก นอกจากสิงคโปร์แล้ว ปรากฏว่าประเทศญี่ปุ่นคว้าไปหลายเมือง ได้แก่ โตเกียว (อันดับ 26) โยโกฮาม่า (อันดับ 31) โกเบ (อันดับเดียวกับสิงคโปร์ที่ 36) และโอซากา (อันดับ 47)
ดังนั้น ผู้ที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ มีภารกิจที่จะต้องพัฒนาเมืองหลวงให้เป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร และผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ การสร้างสรรกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครต้องมีจุดยืนชัดเจนในการยกระดับเมืองหลวงอันเก่าแก่แห่งนี้ให้เป็นเมืองน่าอยู่ตามมาตรฐานสากล โดยจะต้องไม่ละทิ้งเอกลักษณ์ของตนเอง กรุงเทพมหานครอาจพิจารณาเมืองต้นแบบความสำเร็จของต่างประเทศในฐานะเมืองที่น่าอยู่ที่สุดของโลก และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการพัฒนากรุงเทพฯ ซึ่งเมืองน่าอยู่ชั้นนำระดับโลก ส่วนใหญ่เป็นเมืองที่สามารถสร้างความสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางถาวรวัตถุกับการรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดปลอดภัย
เมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ส่วนใหญ่เป็นเมืองในประเทศตะวันตก โดยเมืองที่ได้ครองแชมป์น่าอยู่อันดับ 1 ของโลกประจำปี 2547 มีสองเมืองได้รับคะแนนเท่ากัน ได้แก่ ซูริคและเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตามมาด้วยเมืองแวนคูเวอร์ (แคนาดา) กรุงเวียนนา (ออสเตรีย) โอ๊คแลนด์ (นิวซีแลนด์) กรุงเบิร์น (สวิตเซอร์แลนด์) โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) แฟรงก์เฟิร์ต (เยอรมนี) ซิดนีย์ (ออสเตรเลีย) อัมเตอร์ดัม (เนเธอร์แลนด์) และมิวนิค (เยอรมนี)
คุณสมบัติ 10 ประการของเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ได้แก่
1. สภาพเศรษฐกิจและฐานะการเงินมั่นคง
2. สินค้าอุปโภค-บริโภคมีความสะอาดและปลอดภัย
3. สถานที่พักอาศัยเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
4. บริการด้านสาธารณสุขทั่วถึง รวมทั้งระบบกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ ทำให้สภาพแวดล้อมปลอดมลพิษต่างๆ
5. สภาพภูมิอากาศไม่ร้อนจัดหรือหนาวเย็นจนเกินไป ปราศจากภัยธรรมชาติคุกคาม เช่น แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด น้ำท่วม ฯลฯ
6. ความสงบเรียบร้อยทางการเมืองและสังคม ปลอดอาชญากรรม การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดจริงจัง ไม่มีการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติ ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์
7. ระบบคมนาคมขนส่งมวลชนสะดวกและรวดเร็ว รวมทั้งบริการสาธารณะประเภทต่างๆทั่วถึง เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ฯลฯ
8. สถานที่พักผ่อนหย่อนใจอย่างเพียงพอ เช่น โรงภาพยนตร์ สนามกีฬา สวนสาธารณะ ภัตตาคาร สถานบันเทิง เป็นต้น
9. ระบบการศึกษามีมาตรฐานสูงและกระจายทั่วถึง ทั้งโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน รวมทั้งสถานศึกษาประเภทอื่นๆ และมหาวิทยาลัยชั้นนำ
10. ประชาชนเป็นพลเมืองดี มีระเบียบวินัยสูง คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
จากคุณสมบัติข้างต้น กรุงเทพฯ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองน่าอยู่ลำดับที่ 104 จากจำนวนเมือง 215 แห่งทั่วโลก ซึ่งนับว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ระดับปานกลางตามมาตรฐานโลก ดังนั้น การที่จะยกระดับให้กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองน่าอยู่ชั้นแนวหน้าของโลก ไม่ด้อยไปกว่าประเทศเพื่อนบ้านเอเชียที่อยู่ในตำแหน่ง 50 อันดับแรกของโลกแล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ต้องเร่งรัดพัฒนาเมืองหลวงแห่งนี้อย่างจริงจัง อย่างน้อยต้องมีคุณสมบัติทั้ง 10 ประการข้างต้นอย่างครบถ้วน เพราะเงื่อนไขดังกล่าวไม่เพียงแต่จะช่วยให้ชาวกรุงเทพฯมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเสน่ห์ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองธุรกิจ ที่มีความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาพำนักอาศัยในกรุงเทพฯมากขึ้น
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าการปรับโฉมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสวยงามน่าอยู่ จะต้องเสริมจุดแข็งของกรุงเทพฯ ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ไขจุดอ่อนของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโจทย์ข้อใหญ่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ที่จะต้องพิสูจน์ความสามารถแก้ไขอย่างเต็มที่ให้แก่คนเมืองหลวงตลอดระยะที่ดำรงตำแหน่งในอีก 4 ปีข้างหน้า
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ตั้งข้อสังเกตและเปรียบเทียบกรุงเทพฯ กับคุณสมบัติ 10 ประการของเมืองน่าอยู่ที่สุดในโลก ดังนี้
– สภาพเศรษฐกิจและฐานะการเงินมั่นคง เป็นดัชนีพื้นฐานที่บ่งชี้ฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตเมืองหลวง เมื่อพิจารณาสภาพเศรษฐกิจทั่วไปของกรุงเทพมหานคร กล่าวได้ว่ากรุงเทพฯ มีระดับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ หลังจากที่ฟื้นตัวจากมรสุมเศรษฐกิจ-การเงินเมื่อ 7 ปีก่อน ชาวกรุงเทพฯ มีโอกาสประกอบอาชีพการงานมากขึ้น ส่งผลให้มีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ-ธุรกิจ และการเงินของประเทศ นับว่าเป็นจุดแข็งของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์รวมเศรษฐกิจ
แต่ประเด็นที่ควรคำนึงถึง ก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้เฉลี่ยของคนเมืองหลวง กับประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้น สภาพปัญหาช่องว่างระหว่างความเจริญกับความล้าหลัง จึงยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวชนบทยังคงเดินทางมาหางานทำในกรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า จนกลายเป็นความแออัดของกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆตามมา
– สินค้าอุปโภคและบริโภคสะอาดและปลอดภัย การที่ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้คนกรุงเทพฯ มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์และสามารถซื้อหาได้ในราคาย่อมเยา เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหลวงของบางประเทศที่สินค้าบริโภคมีราคาค่อนข้างแพง นอกจากนี้ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันก็มีให้เลือกหลากหลายประเภท และสามารถเลือกซื้อได้อย่างสะดวกทั่วทุกแห่งในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้เป็นข้อได้เปรียบของกรุงเทพฯ ที่สนองความต้องการบริโภคสินค้าของคนกรุงเทพฯ ได้เต็มที่
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพฯ มีจุดอ่อนในเรื่องความสะอาดปลอดภัยของอาหารและสินค้าบริโภคอุปโภคต่างๆ โดยเฉพาะร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่มักจะประกอบอาหารริมฟุตพาธ ซึ่งมีการรักษาเรื่องความสะอาดไม่เพียงพอ ทำให้คนกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงในการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยเท่าที่ควร ดังนั้น กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องให้ความรู้และรณรงค์ส่งเสริม “มาตรการอาหารปลอดภัย” อย่างเข้มงวด เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นผลดีแก่สุขภาพของคนกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ มาตรการเกี่ยวกับอาหารปลอดภัย ควรดำเนินการอย่างครบวงจร นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของกระบวนการผลิตในฟาร์มเลี้ยงสัตว์และแหล่งเพาะปลูกพืชผักผลไม้ การเก็บเกี่ยวพืชผลและการแปรรูปอาหาร จนถึงการผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูปสำหรับบริโภค รวมทั้งการจัดจำหน่ายสินค้าไปสู่มือผู้บริโภค เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการคุมเข้มอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานสากล
– อาคารบ้านเรือนที่อยู่อาศัยเป็นระเบียบเรียบร้อย ถึงแม้กรุงเทพมหานครมีสถานที่อยู่อาศัยแบบทันสมัยและหลายหลายรูปแบบ ซึ่งอำนวยความสะดวกสบายด้านความเป็นอยู่ให้แก่ชาวกรุงเทพฯ ในระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองหลวงของประเทศอื่นๆ ที่มีพื้นที่อยู่อาศัยจำกัด
ปัญหาสำหรับกรุงเทพฯในประเด็นนี้ ก็คือ การเติบโตของกรุงเทพฯ อย่างรวดเร็วและไร้ทิศทาง ทำให้การวางผังเมืองของกรุงเทพฯ ไม่สามารถปรับตัวได้ทันและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การจัดระเบียบพื้นที่ย่านใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ จึงไม่เป็นระบบ ทำให้เขตที่อยู่อาศัย เขตพาณิชย์ และเขตอุตสาหกรรม ยังคงปะปนกันไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น การที่กรุงเทพฯ มีแนวโน้มขยายอาณาเขตครอบคลุมปริมณฑลเป็นวงกว้างขึ้น เป็นภารกิจของกรุงเทพมหานครที่ต้องเร่งควบคุมการวางผังเมืองบริเวณรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
– บริการด้านสาธารณสุขทั่วถึงและมีคุณภาพ การให้บริการด้านสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครแก่ชาวกรุงเทพฯ ควรกระจายอย่างทั่วถึง เพื่อให้ชาวกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลได้สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายไม่แพงนัก แต่ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงคุณภาพของการให้บริการควบคู่ไปด้วย เพื่อให้คนกรุงเทพฯมีหลักประกันสุขภาพเป็นมาตรฐานเดียวกันหมด
ส่วนระบบการจัดเก็บขยะมูลฝอยและการกำจัดสิ่งปฏิกูล รวมทั้งการบำบัดน้ำเน่าเสีย ถือว่าเป็นปัญหาของกรุงเทพฯค่อนข้างสาหัส เพราะทุกวันนี้ กรุงเทพฯไม่สามารถกำจัดขยะได้ทัน ทำให้มีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างมากมาย โดยมีการนำไปทิ้งกองไว้ในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน น้ำเน่าเสียที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงเป็นปัญหาที่รอการแก้ไขและการใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาด การสร้างภาพลักษณ์ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องสะสางปัญหาเหล่านี้อย่างเร่งด่วน เพราะสะท้อนให้เห็นถึงความสะอาดของเมืองหลวงเป็นอย่างดี
– สภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ กรุงเทพฯ เป็นเมืองในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น ไม่ถึงขั้นร้อนจัดจนเกินไป แต่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพมหานครจึงควรปลูกต้นไม้และรักษาสภาพแวดล้อมให้ร่มรื่น เพื่อช่วยบรรเทาสภาพอากาศร้อนในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนลงได้บ้าง
ถึงแม้กรุงเทพมหานครมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ปราศจากภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว พายุไต้ฝุ่น ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ แต่กรุงเทพฯกลับเผชิญปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ เมื่อฝนตกหนักติดต่อกัน ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงต้องมีแผนฉุกเฉินไว้ตลอดเวลา เพื่อกู้วิกฤตได้ทัน ขณะเดียวกัน ก็จำเป็นต้องจัดระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งหามาตรการคลี่คลายวิกฤตน้ำท่วมที่ต้นเหตุ ทั้งกรณีน้ำเหนือหลาก น้ำทะเลหนุน และน้ำท่วมจากฝนตกหนัก
– ความสงบเรียบร้อยทางการเมืองและสังคม กรุงเทพฯ มีจุดเด่นด้านการอยู่ร่วมกันอย่างสงบของคนต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และต่างเผ่าพันธุ์ นับเป็นสังคมเมืองหลวงที่ผสมกลมกลืนระหว่างคนต่างท้องถิ่น ซึ่งสามารถอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างร่มเย็น ปราศจากความขัดแย้งรุนแรง ขณะเดียวกันความมีเสถียรภาพทางการเมือง ก็ช่วยให้ประชาชนดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข
แต่ปัญหาที่กรุงเทพมหานครต้องเร่งแก้ไข ก็คือ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อาทิ ปัญหาโจรผู้ร้าย ปัญหานักเรียนตีกัน และปัญหาเพลิงไหม้ จะต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง หรือแม้แต่ปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อยแต่สร้างความรำคาญให้แก่ชุมชนและสังคมส่วนรวม เช่น การวางหาบเร่แผงลอยบนทางเท้า การจอดรถยนต์ในพื้นที่ห้ามจอด ฯลฯ ก็ควรมีการจัดระเบียบให้ถูกต้อง
– ระบบขนส่งมวลชนสะดวกรวดเร็ว กรุงเทพฯยังมีระบบขนส่งมวลชนที่อ่อนแอ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้บริการได้อย่างสะดวก แม้ว่ากรุงเทพมหานครเร่งรัดพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ ระบบรถไฟฟ้า BTS และระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งช่วยให้การเดินทางในเขตเมืองหลวงสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ระบบรถไฟฟ้าดังกล่าว ก็มีระยะทางสั้นเกินไป และไม่มีสถานที่จอดรถยนต์ส่วนตัวเพียงพอใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า เพื่อจูงใจให้ผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัว หันมาให้บริการรถไฟฟ้ามากขึ้น จึงทำให้ระบบรถไฟฟ้าทั้งสองช่วยบรรเทาการจราจรคับคั่งย่านใจกลางกรุงเทพฯ ได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ว่ากรุงเทพมหานครคนใหม่ จะต้องจัดระบบขนส่งมวลชนที่มีอยู่ให้รองรับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขณะนี้ที่ต้องการให้คนกรุงเทพฯประหยัดน้ำมัน ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ในขณะเดียวกัน ต้องเร่งรัดแผนพัฒนาระบบเครือข่ายรถไฟฟ้าและการขนส่งบนรางอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการขยายตัวของกรุงเทพฯ
สำหรับการให้บริการสาธารณะอื่นๆ เช่น ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ ฯลฯ กรุงเทพมหานครต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ให้มีการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่มีสาธารณูปโภคเพียงพอและทันสมัย
– สถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพียงพอ กรุงเทพมหานครเป็นศูนย์รวมแหล่งช็อปปิ้งและสถานบันเทิงชั้นนำแห่งหนึ่งในเอเชีย อาทิ โรงภาพยนตร์ ภัตตาคาร ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ แต่สถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่กรุงเทพมหานครขาดแคลนอย่างมาก ก็คือ แหล่งพักผ่อนตามธรรมชาติ ได้แก่ สวนสาธารณะ ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครสามารถจัดสร้างสวนหย่อมหรือสวนสาธารณะขนาดเล็ก โดยปรับปรุงสถานที่รกร้างว่างเปล่า ให้เป็นสวนสาธารณะ นับเป็นการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ของกรุงเทพฯ อย่างเต็มที่ ทำให้ชาวกรุงเทพฯ มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การสร้างสวนสาธารณะ รวมทั้งการปลูกต้นไม้ดอกไม้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่กรุงเทพมหานคร และบรรเทามลพิษในอากาศ ยิ่งไปกว่านั้น ผลพลอยได้ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ก็คือ การพัฒนาพื้นที่รกร้างให้สะอาดและเป็นระเบียบ จะช่วยป้องกันอันตรายจากเหล่ามิจฉาชีพที่มักอาศัยสถานที่ดังกล่าวก่อเหตุร้าย
– ระบบการศึกษามีมาตรฐานและกระจายทั่วถึง นับเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพประชาชน การกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน จะช่วยให้คนกรุงเทพฯจัดหาสถานศึกษาให้แก่บุตรหลานได้ง่ายและสะดวก โดยอาจเลือกสถานศึกษาใกล้ที่พักอาศัยหรือใกล้ที่ทำงาน ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปเรียนในสถานที่ไกลๆจากเส้นทางประจำ ช่วยลดปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่ง ก็คือ สถาบันการศึกษาระดับสูงในกรุงเทพฯ ทั้งระดับอุดมศึกษาและสายอาชีพทุกแขนง ควรรักษาคุณภาพให้ดี เพราะเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่วัดว่าเยาวชนของเมืองนั้นจะเป็นประชาชนที่มีคุณภาพต่อไป นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับคะแนนเมืองน่าอยู่ อันดับ 1 ของโลก ส่วนหนึ่งก็เพราะเป็นเมืองที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยม
– ประชาชนเป็นพลเมืองดี จุดมุ่งหมายของการพัฒนาเมืองหลวงไปสู่ความก้าวหน้าทันสมัยและความสะดวกสบาย มิใช่มุ่งเน้นการส่งเสริมความเจริญทางวัตถุเพียงประการเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันด้วย เพื่อสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่อย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีการดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ ต้องรู้จักหน้าที่ของการเป็นพลเมืองที่ดี มีระเบียบวินัยทางสังคม รู้จักรักษาสิทธิและเสรีภาพของตนเอง แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเช่นกัน เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น
แผนพัฒนากรุงเทพมหานครฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2545 – 2549) ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับ “คน” ในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเมืองหลวงของประเทศ ดังนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่จึงควรเร่งรัดแผนพัฒนากทม. อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ได้แก่ การกระจายการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างทั่วถึงในเขตกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมด้านสาธารณสุข การส่งเสริมลานกีฬาและอำนวยความสะดวกด้านอุปกรณ์กีฬาตามชุมชนทั่วเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อชักจูงให้เยาวชนสนใจเล่นกีฬา เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห่างไกลยาเสพติดและอบายมุขต่างๆ เป็นต้น
ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติได้จัดทำดัชนีวัดระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development Index: HDI) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 177 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 76 โดยตามหลังสิงคโปร์ (อันดับที่ 25) บรูไน (อันดับ 33) และมาเลเซีย (อันดับ 59)
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ต้องให้ความสำคัญในการสร้างความเจริญของบ้านเมือง พร้อมๆกับการส่งเสริมคุณภาพของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการปลุกจิตสำนึกให้คนกรุงเทพฯ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว ปราศจากความเห็นแก่ตัว ไม่ก้าวก่ายสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น นับเป็นจิตสำนึกหลักที่จะทำให้คนกรุงเทพฯ ทุกคนช่วยกันดูแลรักษาบ้านเมืองและสถานที่สาธารณะให้สะอาด สวยงาม เป็นระเบียบ เพื่อเกื้อหนุนให้ “กรุงเทพมหานคร” เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับชาวกรุงเทพฯ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของประชาคมโลก